วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024

ศบค.ยกเลิกเคอร์ฟิว-พื้นที่สีแดงเข้ม เพิ่มพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเป็น 7 จว. เริ่ม 1 ธ.ค.64

People Unity News : ศบค. ยกเลิกเคอร์ฟิว – พื้นที่สีแดงเข้ม และเพิ่มพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเป็น 7 จว. เริ่ม 1 ธ.ค. 64

ที่ประชุม ศบค. 26 พ.ย.64 มีมติปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เหลือ 0 จว. พร้อมยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)/ พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 23 จว./ พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 23 จว./ พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 24 จว./ พื้นที่สีฟ้า (นำร่องท่องเที่ยว) เพิ่มเป็น 7 จังหวัด ได้แก่ กทม. กระบี่ กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต

สำหรับมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ได้มีการปรับการตรวจหาเชื้อหลังเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Test and Go เป็น ATK จากเดิมที่ต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR พร้อมกักตัวเป็นเวลา 1 วัน แต่ยังคงต้องมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชม. ก่อนเดินทางเช่นเดิม ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 64 เป็นต้นไป

Advertising

สธ. แนะ หากฉีดวัคซีนโควิดแล้ว แต่ข้อมูลในระบบ “ไม่ขึ้น-ไม่ถูกต้อง” ให้รีบแจ้งหน่วยบริการที่ฉีด

People Unity News : สธ. แนะ ปชช. หากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ข้อมูลในระบบ “ไม่ขึ้น – ไม่ถูกต้อง” ให้รีบแจ้งหน่วยบริการที่ฉีดวัคซีน

21 พ.ย.64 กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว แต่ไม่พบข้อมูลในระบบหมอพร้อม ทำให้ไม่มีข้อมูลการนัดหมายฉีดวัคซีนเข็มต่อไป ไม่มีข้อมูลใน Digital Health Pass ทำให้ไม่สามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีน หรือเข้าสถานที่ต่างๆได้นั้น

ขณะนี้ ได้ประสานไปยังหน่วยบริการและผู้รับผิดชอบโครงการฉีดวัคซีนให้เร่งบันทึกผลการฉีดให้เป็นปัจจุบัน

สำหรับประชาชน เมื่อฉีดวัคซีนแล้วขอให้ตรวจสอบข้อมูลการฉีดวัคซีนใน Application หรือ LINE OA “หมอพร้อม” เช่น ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน วันที่ฉีดวัคซีน ชนิดวัคซีน จำนวนเข็ม ว่าถูกต้องหรือไม่

หากพบว่าไม่ถูกต้อง หรือไม่มีข้อมูลแสดงในระบบขอให้ติดต่อหน่วยบริการ หรือโครงการที่ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเปิดศูนย์รับเรื่อง (call center) เพื่อลงข้อมูลสำหรับผู้ที่ไม่มีข้อมูลในระบบ MOPH IC หรือแก้ไขข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ที่สถานีกลางบางซื่อ/หน่วยบริการที่กรุงเทพฯ กำหนดขึ้น

Advertising

กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ประกาศเตือน กทม. น้ำทะเลหนุนระลอกใหม่ ช่วง 19-28 พ.ย.นี้

People Unity News : กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ออกประกาศฉบับที่ 22 เรื่องสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรื่อ กรุงเทพมหานคร และป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ  และพื้นที่ใกล้เคียง ในระหว่างวันที่ 19-28 พฤศจิกายนนี้ ระหว่างเวลาประมาณ  06.00 น.-15.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย รวมทั้งมีการระบายน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ

คาดว่าที่บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง  ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.80-2.0 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง และบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ และพื้นที่ใกล้เคียงระดับน้ำจะมีความสูง ประมาณ 1.7-1.9 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง

ขอให้ระมัดระวังผลกระทบจากระดับน้ำขึ้นสูงและติดตามสภาวะระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้าที่ “สภาวะน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา” ในเว็บไซต์ของ กรมอุทกศาสตร์ หรือสอบถามข้อมูลระดับน้ำที่หมายเลขโทรศัพท์ 024752117, 021736551

Advertising

เริ่มแล้ว! ลงทะเบียนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น สำหรับผู้ที่ฉีด Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม

People Unity News : เริ่มแล้ว! ลงทะเบียนรับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster dose) สำหรับผู้ที่ฉีด Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม

ใครที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็มแล้วอย่างน้อย 30 วัน และยังไม่เคยได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) สามารถลงทะเบียนผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 64 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 13 – 30 พ.ย. 64 @ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ

AIS ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.ais.th/vaccine

TRUE ลงทะเบียนได้ที่ระบบ USSD กด *707# โทรออก หรือเว็บไซต์ https://vaccine.trueid.net/

DTAC ลงทะเบียนได้ที่แอปฯ ดีแทค หรือเว็บไซต์ https://app.dtac.co.th/vaccine/index.html

NT ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ https://covid19vaccine.ntplc.co.th/CVC/home

Advertising

ก.แรงงานชวนนายจ้างลงทะเบียนโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานรับเงินอุดหนุน 3 เดือน

People Unity News : ชวนนายจ้างลงทะเบียน “โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs” รับเงินอุดหนุน 3 เดือน

กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง SMEs ที่มีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ลงทะเบียนโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs รับเงินอุดหนุนค่าจ้าง 3,000 บาท/ลูกจ้างสัญชาติไทย 1 คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (พ.ย. 64 – ม.ค. 65)

เพื่อรักษาการจ้างงาน เสริมสภาพคล่องกิจการ และสร้างความเข้มแข็งธุรกิจให้ดำเนินกิจการได้ต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ “ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th” หรือติดต่อ สนง.จัดหางานจังหวัด ภายในวันที่ 20 พ.ย. 64

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

Advertising

เตือนภัย! ยาอีโฉมใหม่ในซองกาแฟ ออกฤทธิ์รุนแรง แนะผู้ปกครองสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน

People Unity News : เตือนภัย! ยาอีโฉมใหม่ในซองกาแฟ ออกฤทธิ์รุนแรง แนะผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน

3 พ.ย.64 นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า ปัจจุบันมีการลักลอบนำยาอีบดเป็นผงบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ซองครีมเทียม ซองกาแฟ 3in1 พบแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นทาง Social Media

ซึ่งยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดตัวเดียวกัน โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะเวลาสั้นๆ หลังจากนั้นจะหลอนประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ทำงานผิดปกติ โดยจะหลั่งสารนี้ออกมามากกว่าปกติ ทำให้สดชื่น อารมณ์ดี แต่เมื่อสารดังกล่าวจะลดน้อยลง ทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ เกิดอาการซึมเศร้า และอาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ

การลักลอบนำยาอีบรรจุลงในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจทำให้ตรวจสอบได้ยากขึ้น จึงขอให้ผู้ปกครองหมั่นติดตามข่าวสาร พร้อมสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลาน หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง ควรพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกถึงผลเสียและอันตรายที่จะตามมา และรีบพาไปพบแพทย์เพื่อเข้าสู่การบำบัดรักษา โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165

Advertising

โฆษกรัฐบาลเผยหลักเกณฑ์เปิดรับผู้เดินทางเข้าไทยโดยไม่กักตัว-ไม่จำกัดพื้นที่ เริ่ม 1 พ.ย.

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย การเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบไม่กักตัว/ไม่จำกัดพื้นที่เริ่ม 1 พ.ย. นี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 3 ประเภท ยึดหลักคนไทยปลอดภัย ต่างชาติมั่นใจ

23 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงหลักเกณฑ์การเปิดรับผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นการทยอยเปิดตามห้วงเวลาที่ชัดเจน ด้วยกลยุทธ์การเปิดประเทศอย่างปลอดภัย (Smart Entry) เน้นเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทางอากาศ เบื้องต้นเพื่อสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจแก่ภาคธุรกิจ เอกชน ประชาชน ควบคู่กับการกำหนดมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยมีมาตรการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1.คนไทยและต่างชาติที่เดินทางจาก 45 ประเทศ + 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เข้ามาโดยไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว และสามารถเดินทางได้ทุกจังหวัด  เงื่อนไขคือผู้ที่จะเดินทางจะต้องพำนักในประเทศที่กำหนดนั้นๆต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ยกเว้นคนไทยหรือเดินทางออกจากประเทศไทย ซึ่งต้องมีการจองโรงแรม AQ 1 คืนระหว่างรอผลตรวจ RT-PCR

2.ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศไหนก็ได้ (กรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ในกลุ่มที่แรก) โดยใช้หลักการเดียวกับโปรแกรมแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และต้องเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด (พื้นที่สีฟ้า) คือ ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมีการตรวจหาเชื้อโควิดก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงด้วยวิธี RT-PCR และมีประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 ยูเอสดอลลาร์ จองที่พัก 7 คืน ตามมาตรฐานและต้องเป็นโรงแรมที่อยู่ใน Sandbox area  มีการตรวจหาเชื้อซ้ำในวันที่ 6 หรือ 7 สามารถเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ และเมื่อครบ 7 วันแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้

3.กรณีกลุ่มคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ประเภท เช่น คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย หรือได้รับแล้วยังไม่ครบ สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ภายใต้เงื่อนไขการกักกัน ในสถานที่ที่ทางราชการกำหนด ทั้งสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้ (SQ) สถานกักกันโรคทางเลือก (AHQ) ที่จัดการโดยเอกชน สถานกักกันโรคของหน่วยงานหรือองค์กร (OQ)  และสถานที่กักกันในส่วนของโรงพยาบาล (HQ) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละกรณีจำเป็นต้องเข้ารับการกักตัวโดยจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน บางกลุ่มจะมีการกักตัว 7 -10 วัน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า รัฐบาลและ ศบค. กำหนดโครงการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว เริ่ม 1 พ.ย. นี้ สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยและสถานการณ์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้น โดยแบ่งออก เป็น 3 ช่วงระยะเวลาที่ชัดเจน คือ ระยะที่1 ช่วงวัน 1 – 30 พฤศจิกายน 64 (พื้นที่ 17 จังหวัดนำร่อง) ระยะที่ 2 ช่วงวัน 1 – 31 ธันวาคม (เมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดและเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน) และระยะที่ 3 ตั้งแต่ 1 มกราคม 65 (พื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน) ในแต่ละช่วงเวลาจะมีการปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศและประเทศต้นทาง รวมทั้งยังมีการประเมินผลการเข้าราชอาณาจักรทุก 1-2 สัปดาห์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในของประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นการพิจารณาความเหมาะสมของประเทศต้นทางด้วย

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดในการเปิดประเทศ คือ การดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนในประเทศ โดยเน้นกำหนดประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ มีเกณฑ์การฉีดวัคซีนสูง นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนและมีผลตรวจ RT-PCR  ขณะเดียวกัน ก็ขอคนไทยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยการปฏิบัติตนเองตามมาตรการสาธารณสุข ดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) และทุกกิจการ/กิจกรรม ต้องยึดหลัก COVID-19 Free Setting เพราะขณะนี้ได้ผ่อนคลายมาตรการและไม่จำกัดการเดินทางแล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องการกลับมาใช้มาตรการควบคุมหรือล็อกดาวน์ เพราะจะทำให้พี่น้องประชาชนและภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอีก มั่นใจทุกคนร่วมมือร่วมใจร่วมกันเดินหน้าประเทศไทย เพราะความสำเร็จในการเปิดประเทศขึ้นอยู่กับคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน” นายธนกร กล่าว

Advertising

แนะนักท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางกลับบ้านช่วงหยุดยาว เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุดป้องกันโควิดระลอกใหม่

People Unity News : แนะนักท่องเที่ยว หรือผู้ที่เดินทางกลับบ้านช่วงหยุดยาวนี้ เคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุดป้องกันการเกิดคลัสเตอร์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่

21 ตุลาคม 2564 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เริ่มคลี่คลาย มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงมาจากความร่วมมือของประชาชนและการเร่งฉีดวัคซีนที่รวดเร็วแบบครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย รัฐบาลจึงได้ปรับมาตรการสำหรับกิจการ สถานประกอบการและมาตรการการเดินทาง ประกอบกับในช่วงวันที่ 21-24 ตุลาคม 2564 เป็นช่วงวันหยุดยาว ประชาชนอาจเดินทางกลับบ้าน หรือไปท่องเที่ยว ทำให้เกิดการรวมตัวกันมากขึ้น อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนระลอกใหม่ได้

กรมควบคุมโรค ขอความร่วมมือประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการเดินทางเข้าจังหวัดปลายทาง จัดเตรียมเอกสารส่วนตัว อาทิ บัตรประจำตัวประชาชน เอกสารยืนยันการฉีดวัคซีน พร้อมทั้งเคร่งครัดมาตรการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตลอดเวลาแบบครอบจักรวาล เน้นการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการตั้งวงสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรสังเกตอาการตนเองหลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยว หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ควรตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง หรือไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรอง

Advertising

สถาบันบำราศนราดูรเปิดจองคิวออนไลน์ “ฉีดวัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อเดินทางไป ตปท. เริ่ม 18 ต.ค.

People Unity News : สถาบันบำราศนราดูร เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการจองคิวและลดระยะเวลารอคอยให้แก่ประชาชนลงทะเบียนขอรับหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 “วัคซีนพาสปอร์ต” เพื่อใช้สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศของผู้ที่รับการฉีดวัคซีนครบถ้วน ผ่าน แอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” สามารถจองล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2564 นี้

17 ตุลาคม 2564 นายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่มีแผนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวและเตรียมเปิดกิจการ เมื่อเปิดประเทศแล้ว หากประชาชนต้องการเดินทางไปต่างประเทศ สามารถขอรับวัคซีนพาสปอร์ต ได้ที่หน่วยงานที่กรมควบคุมโรคกำหนด 100 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี 3 แห่ง : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรุงเทพมหานคร, สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี และกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค จ.นนทบุรี ระดับเขต : สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสระบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดสงขลา ระดับจังหวัด : 92 แห่ง นอกจากนี้ อาจขยายไปยังโรงพยาบาลภาครัฐในสังกัดมหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร สภากาชาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มเติมในอนาคต

ปัจจุบันมีประชาชนมาขอรับวัคซีนพาสปอร์ตจำนวนมาก ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน – 16 ตุลาคม 2564 มีผู้มารับบริการเฉพาะที่กรมควบคุมโรค 8,967 คน และภาพรวมในประเทศไทย 31,340 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2564) โดยระบบเดิมประชาชนต้อง Walk In และใช้เวลานานในการทำวัคซีนพาสปอร์ต สถาบันบำราศนราดูรจึงได้เตรียมเปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ ทั้งนัดคิว ส่งหลักฐาน และนัดรับเล่ม ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ซึ่งพัฒนาโดยกองโรคติดต่อทั่วไป (กรต.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และกองโรคติดต่อทั่วไปที่ให้บริการตั้งแต่วันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 9.00-15.30 น. ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถขอรับวัคซีนพาสปอร์ตได้มากขึ้น

สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการขอหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโควิด มีดังนี้ 1. หนังสือเดินทาง (Passport) 2.บัตรประชาชน 3.เอกสารรับรองการได้รับวัคซีน โดยสามารถมารับหนังสือรับรองฯ ตามที่ได้นัดหมายไว้

นายแพทย์กิตติ์พงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล สามารถขอวัคซีนพาสปอร์ตได้ที่ 4 หน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ 1.สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี โทร 0 2590 3427, 0 2590 3427 และ 0 2590 3430 (ในวันราชการ 8.30-16.00 น.) 2.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรุงเทพฯ โทร 0 2521 1668  3.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ อีเมล porthealth_bbk@ddc.mail.go.th และ 4.กองโรคติดต่อทั่วไป อาคาร 5 ชั้น 6 กรมควบคุมโรค จังหวัดนนทบุรี โทร 0 2590 3232, 0 2590 3234 ถึง 35 หรืออีเมล  travelhealth@ddc.mail.go.th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

Advertising

ครม.มีมติจ่ายเงินเยียวยาช่วยคนขับแท็กซี่/วินมอเตอร์ไซค์ ในพื้นที่ 29 จว. คนละ 5 พันบาท

People Unity News : ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบช่วยกลุ่มคนขับรถแท็กซี่/วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด อนุมัติกรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท เร่งจ่ายเยียวยาภายในเดือนพฤศิกายนนี้

วันนี้ 12 ต.ค. 64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบและไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด แบ่งเป็น ผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) 12,918 คน และผู้ขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,776 คน รวม 16,694 คน โดยจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ภายใต้กรอบวงเงิน 166.94 ล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 2 เดือน ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 16 จังหวัดเพิ่มเติม สนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าครองชีพระยะเวลา 1 เดือน

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการลงทะเบียนร่วมโครงการฯ ว่า กรมการขนส่งทางบกจะเปิดให้มีการลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และดำเนินการตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี จากฐานข้อมูลใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท็กซี่) และใบอนุญาตขับ รถจักรยานยนต์สาธารณะ สำหรับกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่เช่าที่ไม่สามารถตรวจสอบพื้นที่ให้บริการได้ จะต้องทำการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อน เช่น ให้นิติบุคคลรถเช่า/สหกรณ์แท็กซี่เป็นผู้รับรอง เป็นต้น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะจ่ายเงินด้วยวิธีการโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (Promptpay) เฉพาะการผูกบัญชีกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือตามวิธีการอื่นที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด คาดว่าจะจ่ายเงินรอบแรกระหว่างวันที่ 8 – 12 พฤศจิกายน และจ่ายเงินรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤศจิกายน

“โครงการฯดังกล่าวจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เนื่องจากระบบการขนส่งสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถสาธารณะ ที่จะส่งผลให้ประชาชนยังคงได้ใช้บริการรถสาธารณะที่มีคุณภาพ มีความครอบคลุมในพื้นที่อย่างปลอดภัยต่อไป” นายธนกร กล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics