วันที่ 4 ธันวาคม 2024

ไทยร่วมประชุม HLPF มุ่งมั่นเร่งรัดดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 บรรลุเป้าหมาย SDGs

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 กรกฎาคม 2567 ไทยร่วมการประชุมเวที HLPF มุ่งมั่นในการเร่งรัดดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และบรรลุเป้าหมาย SDGs

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Economic and Social Council: ECOSOC) จัดการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี ค.ศ. 2024 ระหว่างวันที่ 8-18 กรกฎาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาตินครนิวยอร์ก ภายใต้หัวข้อหลัก “Reinforcing the 2030 Agenda and eradicating poverty in times of multiple crises: the effective delivery of sustainable, resilient and innovative solutions”

โดยการประชุมดังกล่าวเป็นการหารือเชิงลึกเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 No Poverty เป้าหมายที่ 2 Zero hunger เป้าหมายที่ 13 Climate Action เป้าหมายที่ 16 Peace, Justice and Strong Institutions และเป้าหมายที่ 17 Partnerships for the Goals รวมทั้งเป็นเวทีระดมสมองจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อน SDGs และมีการนำเสนอรายงานการทบทวน การดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจของประเทศต่าง ๆ จำนวน 36 ประเทศ โดยวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ที่ประชุมฯ ได้ร่วมรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรี (Ministerial Declaration) เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ และร่วมรับรองร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างปฏิญญาฯ เป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุม HLPF ค.ศ. 2024 ที่สะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองในระดับรัฐมนตรีของประเทศต่าง ๆ ที่จะร่วมกันดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และ SDGs โดยร่างปฏิญญาฯ สะท้อนประเด็นที่รัฐสมาชิกสหประชาชาติให้ความสำคัญร่วมกันในการผลักดันการบรรลุ SDGs ของโลกในภาพรวม

Advertisement

ไทยย้ำจุดยืนช่วยเหลือตัวประกันในกาซา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 มิถุนายน 2567 ทำเนียบ – “รัดเกล้า” เผย ถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันในกาซา เพิ่มชื่อประเทศที่ร่วมสนับสนุนรวมเป็นจำนวน 18 ประเทศ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันในกาซา (Joint Statement Calling for the Release of the Hostages Held in Gaza) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทุกคนที่เหลืออยู่ในกาซาซึ่งถูกควบคุมตัวมาแล้ว 200 วัน การอำนวยความสะดวกในการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นเพิ่มเติมในกาซาอย่างทั่วถึง และการสนับสนุนความพยายามในการไกล่เกลี่ยที่ดำเนินอยู่เพื่อนำพลเมืองกลับสู่มาตุภูมิ ตลอดจนนำสันติภาพและเสถียรภาพมาสู่ภูมิภาค โดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เผยแพร่ถ้อยแถลงร่วมฯ พร้อมกับประเทศอื่นๆ ที่ร่วมสนับสนุนแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567

ทั้งนี้ ได้มีการปรับถ้อยคำในส่วนชื่อของถ้อยแถลงร่วมฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าเป็นถ้อยแถลงในระดับผู้นำ และเพิ่มชื่อประเทศที่ร่วมสนับสนุนรวมจำนวน 18 ประเทศ (จากเดิมที่มี 15 ประเทศ) ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย และโปรตุเกส รวมทั้งปรับเพิ่มถ้อยคำในเนื้อหาถ้อยแถลงร่วมฯ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ได้มีการจับตัวประกันในกาซาเป็นเวลายาวนานกว่า 200 วัน และให้ครอบคลุมถึงความห่วงกังวลของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับความปลอดภัยของพลเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งการปรับเปลี่ยนถ้อยแถลงร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้

กระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แจ้งว่า การสนับสนุนถ้อยแถลงร่วมฯ ร่วมกับผู้นำอีก 17 ประเทศ เป็นการย้ำจุดยืนของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการช่วยเหลือตัวประกันในฉนวนกาซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวประกันชาวไทย โดยรัฐบาลจะดำเนินการอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง รวมทั้งการดำเนินการร่วมกับมิตรประเทศเพื่อให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กต. จะติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตัวประกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

Advertisment

นายกฯภูฏานเยือนไทย 25 – 28 มิถุนายนนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 19 มิถุนายน 2567 นายกฯ พร้อมต้อนรับนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 25 – 28 มิถุนายน 2567 นี้ พร้อมกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นในทุกมิติ

วันนี้ (19 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ดาโช เชริง โตบเกย์ (H.E. Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 25 – 28 มิถุนายน 2567 นี้ ตามคำเชิญของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งนับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ ดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานเป็นครั้งที่ 2 พร้อมทั้งในปีนี้ยังเป็นโอกาสครบรอบ 35 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ปฏิสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนมิตรภาพของประชาชนทั้งสองประเทศ

โดยในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน มีกำหนดการสำคัญที่ทำเนียบรัฐบาล ได้แก่ พิธีการต้อนรับอย่างเป็นทางการ การหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรี (Four Eyes) การประชุมเต็มคณะ การร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของไทยกับภูฏาน จำนวน 2 ฉบับ ในด้านการท่องเที่ยวและด้านสาธารณสุข การแถลงข่าวร่วม และนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏานและภริยา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยและภูฏานต่างมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและราบรื่น ทั้งรากฐานสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศ การแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างสม่ำเสมอในหลายระดับ และความเชื่อมโยงทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม รัฐบาลจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การเยือนฯ ครั้งนี้ จะสามารถสานต่อความร่วมมือได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การศึกษา พลังงานสะอาด และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะโอกาสการลงทุน ในโครงการเมืองอัจฉริยะ Gelephu Mindfulness City ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ ของราชอาณาจักรภูฏาน

Advertisement

นายกฯหารือผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง มุ่งมั่นกระชับความร่วมมือการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤษภาคม 2567 ฮ่องกง – นายกฯ หารือผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง มุ่งมั่นกระชับความร่วมมือการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างไทย-ฮ่องกงให้ใกล้ชิด

ณ ห้อง Drawing สำนักงานผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนายจอห์น ลี คา-ชิว (The Honorable John Lee Ka-chiu) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ต่างยินดีที่ได้พบกันอีกครั้ง หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้พบหารือทวิภาคีกันเมื่อครั้งนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยไทยและฮ่องกงมีความร่วมมือใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ ซึ่งมูลค้าทางการค้าระหว่างกันมีตัวเลขที่สูงขึ้น พร้อมพูดคุยเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น โดยฝ่ายฮ่องกงชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มีวิสัยทัศน์เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน และนายกรัฐมนตรีชื่นชมศักยภาพของฮ่องกงที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งดึงดูดการลงทุน รวมถึงมีความพร้อมในการจัดการประชุมด้วย

สำหรับการท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่ายพร้อมแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว โดยไทยขอบคุณที่ฝ่ายฮ่องกงยินดีให้ไทยมาจัดงานสงกรานต์ที่ฮ่องกง ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปมาหาสู่กันเพิ่มขึ้น ทั้งสองฝ่ายพร้อมทำงานร่วมกันต่อไป เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

Advertisement

เผยภารกิจนายกฯที่ญี่ปุ่น พบภาคเอกชนสำคัญ ร่วมประชุม Nikkei Forum

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 พฤษภาคม 2567 นายกฯ เดินทางถึงกรุงโตเกียว พร้อมปฏิบัติภารกิจพบภาคเอกชนสำคัญ ร่วมประชุม Nikkei Forum ยืนยันพอใจความสำเร็จจากภาพรวมการเยือนอิตาลี ผลลัพธ์เกินคาดหมาย

วันนี้ (22 พฤษภาคม 2567) เวลา 11.40 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียวซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงกรุงโตเกียว เพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum

โดยเมื่อเวลา 18.07 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ระหว่างการเดินทางจากสาธารณรัฐอิตาลีไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถึงภารกิจเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้หารือ Four eyes กับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งเป็นประธาน G7 ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้

1) การยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเก้น นายกรัฐมนตรีอิตาลีรับปาก และชื่นชมคนไทยที่มาเที่ยวที่อิตาลี ไม่มีปัญหาเรื่องการหลบหนี หรือก่อปัญหา นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกตัวอย่างการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ที่มีความสะดวกมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสูงมาก ในขณะที่การขอวีซ่าเชงเก้นต้องใช้ระยะเวลานาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีต้องการอำนวยความสะดวกให้การค้าขายระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และนายกรัฐมนตรีอิตาลีก็รับไปผลักดันให้ รวมถึงประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีเยอรมนี รวมเป็น 3 ประเทศใหญ่ ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะพยายามทำอย่างเต็มที่

2) ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – สหภาพยุโรป ซึ่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีก็เห็นความสำคัญ และรับปากที่จะช่วยดูแล เพราะถ้าภาคเอกชนอิตาลีต้องการไปลงทุนเพื่อขยายฐานการผลิตที่ไทย เพื่อทำให้สินค้าเข้าถึงตลาดทั่วโลก เรื่อง FTA ก็เป็นเรื่องสำคัญ

3) ความมั่นคง ทั้งเรื่องการซื้ออาวุธ และการพัฒนากองทัพร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ นายกรัฐมนตรีได้ให้ผู้ช่วยทูตทหารประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงของอิตาลี ซึ่งไม่เฉพาะเพียงเรื่องการซื้ออาวุธ แต่รวมถึงการพัฒนาระบบในการฝึกซ้อม และเทคโนโลยีต่าง ๆ

4) อุตสาหกรรมการออกแบบและแฟชั่น ซึ่งอิตาลีมีศักยภาพมาก โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนการจัดนิทรรศการ นักเรียน และผู้เชี่ยวชาญ โดยนายกรัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างภาคเอกชนที่ได้พบหารือ เช่น Bvlgari

5) พลังงาน อิตาลีสนใจเรื่องพลังงานสะอาด และการค้นหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ

6) แรงงาน นายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นฝ่ายหยิบยกขึ้นมา โดยทางอิตาลีมีความต้องการแรงงานเฉพาะฤดูที่เกี่ยวกับการเกษตร อยากสนับสนุนให้แรงงานเกษตรไทยเข้ามาทำงานที่ประเทศอิตาลี ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการแรงงานไทย ที่เป็นแรงงานที่มีคุณภาพทางด้านการเกษตร และรายได้สูงมาก ถือเป็นอีกทางเลือกให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไทย

และมีการพูดคุยเรื่องโครงการ Landbridge การขยายสนามบินซึ่งทางอิตาลีก็มีเทคโนโลยีที่อาจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้เสนอให้ทั้งสองประเทศมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการมานั่งคุยกัน และมีการเซ็น MOU ระหว่างภาคเอกชนกับภาคเอกชน หรือเอกชนกับรัฐบาล

นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีอิตาลีเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และเชิญชวนให้ไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทำให้อาจมีการเดินทางเยือนไทยในช่วงต้นปี 2568 โดยจะมีการนำนักธุรกิจร่วมเดินทางเพื่อจัดเป็น Business Forum

นอกจากนี้ ในวันที่ 1 กรกฎาคม จะมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ – มิลาน และช่วงฤดูหนาวจะมีการเปิดเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ – โรม ถือว่าเป็นเรื่องการมีความเชื่อมโยงที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ ซึ่งคาดว่าสายการบินแห่งชาติของอิตาลีก็น่าจะสนใจในเรื่องนี้

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า การเยือนสาธารณรัฐอิตาลีในครั้งนี้ ถือว่าสำเร็จเหนือความคาดหวัง เพราะมีการกำหนดขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน ว่าอนาคตจะมีขั้นตอนอย่างไร จะทำอะไรบ้าง ซึ่งนายกรัฐมนตรีพอใจภาพรวมตลอดเวลาหลายวันที่ผ่านมามาก

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทยทำให้ไทยมีเสน่ห์ในสายตานานาชาติ เพราะการจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเข้ามา เขาต้องมั่นใจว่าไทยจะสามารถส่งสินค้าได้โดยที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับหลาย ๆ ประเทศ การรองรับด้านพลังงานสะอาดก็เป็นเรื่องสำคัญ และชีวิตความเป็นอยู่ในประเทศไทย ทำให้ไทยมีเสน่ห์ดึงดูดให้มีนักลงทุนเดินทางมา

สำหรับเรื่องความกังวลในเรื่องประเด็นการเมืองภายในประเทศ นายกรัฐมนตรีย้ำว่าผู้นำทั้งสองประเทศไม่ได้กล่าวถึงประเด็นทางการเมืองไทยเลย แต่พูดถึงเรื่องธุรกิจ ฝ่ายอิตาลีมีความมั่นใจในประเทศไทยสูงมาก เป็นรัฐบาลที่มาตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง มีความชอบธรรม การเดินทางครั้งนี้เป็นทริปที่ 15 แล้ว ได้ไปปรากฏตัวในเวทีโลกหลายเวที และเน้นย้ำเสมอว่า ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับทำธุรกิจ และไม่มีโอกาสและช่วงเวลาไหนดีที่สุดที่จะมาลงทุนในไทยเท่าช่วงเวลาแล้ว

Advertisement

นายกฯ เผยหารือภาคเอกชนด้านแฟชั่นของอิตาลี นำเสนอผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 พฤษภาคม 2567 นายกฯ ให้สัมภาษณ์ภารกิจเยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการวันแรก หารือภาคเอกชนด้านแฟชั่นที่สำคัญของอิตาลี นำเสนอผ้าย้อมคราม จ. สกลนคร พร้อมหารือผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดียดึงดูดการลงทุนในสาขาที่มีศักยภาพร่วมกัน

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 17.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภารกิจวันแรกของการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ โดยช่วงเช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงาน Zegna บริษัทแบรนด์แฟชั่นของอิตาลีขนาดใหญ่ และมีชื่อเสียงสำคัญ เป็นบริษัทผลิตผ้าทั้ง Wool Cashmere ผ้าฝ้าย ผลิตให้บริษัทใหญ่หลายแบรนด์ดัง เช่น Dior Hermes มีร้านค้าที่พารากอน และจะเปิดสาขาอีก โดยเชื่อว่าเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในไทย มีความเข้าใจในตลาดและเข้าใจความเป็นไทย ผูกพันกับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีจึงนำผ้าย้อมครามจาก จ. สกลนคร มานำเสนอโดยในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้าบริษัทจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาไทย

การหารือกับผู้บริหารบริษัท Loro piana ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่สำคัญ ผลิตเสื้อผ้าสำหรับประเทศในอากาศหนาว เจ็ดเดือนที่ผ่านมาได้ไปเปิดสาขาพารากอนจึงเป็นอีกเหตุผลที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับ Loro Piana บริษัทมีความเข้าใจด้านแฟชั่นไทย นายกรัฐมนตรีจึงได้นำเครื่องจักสาน และผ้าย้อมครามของโครงการดอนกอยมานำเสนอ ปัจจุบันหากมีการเปิดผลิตภัณฑ์ใหม่ร้านค้ามักจะเปิด Pop-up Store เป็นร้านชั่วคราวในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว

ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีหารือกับ นายคาร์โล คาปาซา ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ เป็นการรวมตัวกันของสินค้าแบรนด์ไฮเอนของอิตาลี เป็นสมาคมที่แน่นแฟ้นมีการพูดคุยกันตลอดเวลาโดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีเอ็กซ์ซิบิชั่น โรงเรียนสอนที่มิลาน พร้อมพูดคุยให้พานักเรียนไทยมาเรียนต่อที่อิตาลี และช่วยเหลือไทยในการจัดแฟชั่นโชว์ลักษณะเดียวกับมิลานแฟชั่นโชว์ ให้นำดีไซเนอร์ที่กำลังมีชื่อเสียงและเป็นรุ่นต่อไปที่มีชื่อเสียงไปไทย

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้พบหารือผู้บริหารบริษัท Leitner ซึ่งเป็นบริษัทผลิตกระเช้าลอยฟ้า ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งมีระบบการก่อสร้างที่ใช้เวลาเพียงหกเดือน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในการทำรถกระเช้าจะมีช่วงการผ่านป่าสาธารณะจึงเป็นประโยชน์กับไทย ซึ่งบริษัททราบว่าประเทศไทยมีความสนใจที่จะทำกระเช้าลอยฟ้าภูกระดึง อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะต้องทำการศึกษาความคิดเห็นจากประชาชนก่อน นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า อาจจะต้องปรึกษาทางบริษัทว่านอกเหนือจากภูกระดึงยังมีความสนใจที่จังหวัดใดอีกบ้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเป็นตัวเลือกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ภารกิจสุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับผู้ว่าแคว้นลอมบาร์เดีย  ซึ่งเป็นแคว้นที่มี GDP สูงที่สุดในอิตาลี มีความสำคัญในด้านเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ และมีการพูดคุยกันเพื่อสนับสนุนการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้เอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลีจะทำงานร่วมกับประธาน TTR และเลขาธิการ BOI จัดทีมงานเสนอแนะการลงทุนในไทยว่าไทยมีมาตรการสนับสนุนยังไงบ้าง โครงการสำคัญ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการที่ ส.ว. ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีโดยได้กล่าวว่า เชื่อว่า ส.ว. ทำหน้าที่นิติบัญญัติเช่นเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็มีหน้าที่ที่ต้องพิสูจน์ความชอบธรรมความถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามกลไกการปกครอง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไม่เคยละเลยเสียงท้วงติงพร้อมตอบคำถามและปรับปรุง และได้กล่าวถึงโควตารัฐมนตรีในตำแหน่งที่ยังเหลือว่างอยู่ว่า เป็นโควตาในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งยังต้องพูดคุยกับหัวหน้าพรรค ในการทำงานด้วยกันต้องรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

Advertisement

นายกฯ หารือ ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ ดันแลกเปลี่ยนดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 พฤษภาคม 2567 นายกฯ หารือ ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ ดันแลกเปลี่ยนดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ และ ผู้บริหาร Leitner บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการทำกระเช้าลอยฟ้า

วันนี้ (17 พฤษภาคม 2567) นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงบ่าย เวลา 15.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ห้อง Galleria ชั้น 1 โรงแรม Park Hyatt Milan นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Carlo Capasa, ประธานหอแฟชั่นอิตาลีแห่งชาติ (Chairman of the National Chamber of Italian Fashion)  ซึ่งเป็นสมาคมไม่หวังผลกำไรที่ดำเนินการและรณรงค์เกี่ยวกับการพัฒนาแฟชั่นอิตาลี โดยเป็นผู้จัดสัปดาห์แฟชั่นเมืองมิลาน (Milan Fashion Week) ซึ่งเป็นหนึ่งในงานสัปดาห์แฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก (Big Four Fashion Weeks) ร่วมกับนครนิวยอร์ก กรุงปารีส และกรุงลอนดอน

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ให้กับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ชาวไทย เป็นลักษณะโปรแกรมฝึกอบรมที่อิตาลี ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะพิจารณาความร่วมมือร่วมกันด้านการอบรมเพิ่มความรู้ต่อไป

หลังจากนั้น เวลา 15.40 น. นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Thomas Schubert, Export Director, Leitner ซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับกระเช้าลอยฟ้า เป็นบริษัทย่อยของบริษัท High Technology Industries (HTI) ผู้นำด้านเทคโนโลยีกีฬาฤดูหนาว การเดินทางสัญจรในเขตเมือง การขนส่งวัสดุ การจัดการหิมะและผลิตผลทางการเกษตรและด้านพลังงานหมุนเวียน โดยบริษัทสนใจลงทุนโครงการเคเบิลคาร์ในประเทศไทย

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับกระเช้าขึ้นภูกระดึงซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลผลักดัน  การเดินทางมาอิตาลีในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสดีและได้พูดคุยหารือกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างอย่างปลอดภัย และทันสมัย โดยทั้งสองฝ่ายจะได้พิจารณาด้านความร่วมมือกันต่อไป

Advertisement

นายกฯ เดินทางเยือนฝรั่งเศส-อิตาลี-ญี่ปุ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 พฤษภาคม 2567 ทำเนียบ – นายกฯ เตรียมนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมงาน Thailand-France Business Forum พบ ปธน.ฝรั่งเศส -เยือนอิตาลีอย่างเป็นทางการ และร่วมปาฐกถา Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29

นางรัดเกล้า อินทวงศ์  สุวรรณคีรี  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (15 พ.ค.) เวลา 23.30 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชม.  และจะเดินทางถึงกรุงปารีส วันพรุ่งนี้ (16 พ.ค.) เวลา 07.10 น. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง

การเดินทางในครั้งนี้ เป็นการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงปารีส การเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ และกิจกรรมคู่ขนาน ระหว่างวันที่ 17 – 21 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองมิลาน และกรุงโรม และการเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในส่วนของการเดินทางเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นการเยือนเพื่อนำคณะนักธุรกิจไทยร่วมงาน Thailand – France Business Forum ซึ่งเป็นผลสำเร็จจากการเดินทางเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็นการจัดงานส่งเสริมการค้าระหว่างกันและสนับสนุนให้ภาคเอกชนฝรั่งเศสเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

ในครั้งนี้นายกรัฐมนตรีจะพบหารือกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เพื่อติดตามผลความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะในด้านการค้าการลงทุน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และ soft power ตลอดจนร่วมกันผลักดันประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะการยกระดับความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศส สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ตามที่ระบุไว้ในแผนการ (Roadmap) การดำเนินความสัมพันธ์ไทย – ฝรั่งเศส ค.ศ. 2022 – 2024

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ พบหารือกับนางจอร์จา เมโลนี (H.E. Mrs. Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิตาลี ซึ่งในปี 2567 จะครบรอบ 156 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน    พร้อมขยายความร่วมมือในสาขาที่ไทยและอิตาลีมีศักยภาพร่วมกัน ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การท่องเที่ยวเชิงกีฬา วิทยาศาสตร์การแพทย์และเภสัชกรรม และกลาโหม โดยนายกรัฐมนตรีจะผลักดันประเด็นสำคัญ เช่น การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทยในเขตเชงเกน และการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – สหภาพยุโรป ให้สามารถสรุปภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025)    รวมถึงประเด็นการรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลไปทำงานในอิตาลีในอนาคต โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบหารือกับนาย Attilio Fontana ผู้ว่าการแคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งเป็นแคว้นที่สำคัญที่สุดด้านเศรษฐกิจของอิตาลีด้วย

การเยือนในครั้งนี้จะเป็นโอกาสพบหารือภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลกของอิตาลี และ นาย Carlo Capasa ประธาน the National Chamber of Italian Fashion โดยจะเชิญชวนภาคเอกชนอิตาลีให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแฟชั่นและ Soft Power การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ พลังงาน การเงินและพันธบัตร Sustainability Linked Bonds รวมถึงโครงการแลนด์บริดจ์

จากนั้น นายกรัฐมนตรี จะเดินทางต่อเนื่องไปยังกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมและกล่าวปาฐกถาในการประชุม Nikkei Forum Future of Asia ครั้งที่ 29 ซึ่งหัวข้อหลักในปีนี้ คือ Asian Leadership in an Uncertain World พร้อมจะเสนอให้เอเชียมีความร่วมมือสำคัญ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงด้านการค้าการลงทุนเพื่อเปิดโอกาสธุรกิจ 2) เสริมสร้างความยั่งยืนโดยเน้นเศรษฐกิจและพลังงานสีเขียว 3) การร่วมมือเพื่อเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และ 4) การปรับกระบวนทัศน์ของระบบพหุพาคีใหม่ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจของเอเชีย และก้าวข้ามสถานการณ์โลกที่ผันผวน ท้าทาย

Advertisement

“สุทิน” เตรียมคุยปมเรือดำน้ำกับจีน 14-15 พฤษภาคมนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 พฤษภาคม 2567 “สุทิน” รมว.กลาโหม เผยเตรียมเคลียร์ประเด็นเรือดำน้ำกับจีน เร็วๆ นี้ ยินดีรับฟังข้อเสนอ “วิโรจน์” เสนอยกเลิกสัญญาปัจจุบัน ย้ำพรรคร่วมฯ แข็งแรงดี

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึง การเจรจาประเด็นเรื่องการซื้อเรือดำน้ำกับทางรัฐบาลจีน ว่า จะมีการนัดพูดคุยอีกครั้งในเร็วๆ นี้  โดยเบื้องต้นเคาะวันที่ในการเจรจาเป็นวันที่ 14-15 พฤษภาคมนี้

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ยกลิกสัญญาซื้อขายเรือดำน้ำฉบับปัจจุบัน และให้กองทัพเรือเสนอคำของบประมาณเข้ามาใหม่ในปี 2569 นายสุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้คณะทำงานได้ปรึกษาหารือถึงเรื่องที่นายวิโรจน์เสนออย่างถี่ถ้วนแล้ว โดยส่งเรื่องไปให้คณะทำงานพิจารณา ตนไม่ได้คิดคนเดียว ซึ่งถ้าใครมีข้อเสนออะไรเข้ามาเรารับฟังหมด พร้อมยืนยันว่าจะมีการพูดคุยกับทางรัฐบาลจีนอีกแน่นอน จบไม่จบคืออีกเรื่องหนึ่ง เมื่อถามว่าสถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นอย่างไรบ้าง นายสุทิน กล่าวว่า ยังแข็งแกร่ง แข็งแรงดี ไม่มีปัญหา สบายมาก

Advertisement

“มาริษ” ไม่หนักใจรับไม้ต่อ “ปานปรีย์” โวเป็นลูกหม้อเก่า กต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 พฤษภาคม 2567 ทำเนียบ – “มาริษ” มั่นใจทำงานได้แม้ไร้ตำแหน่งรองนายกฯ ไม่หนักใจรับไม้ต่อ “ปานปรีย์” โวลูกหม้อเก่าบัวแก้ว ปัดแจงกระแสใกล้ชิด “ทักษิณ”

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าสำหรับตนเองแล้วตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีไม่มีความจำเป็น เพราะตนเองสามารถทำงานได้ไม่มีข้อจำกัด พร้อมเปิดเผยว่าตนเองไม่หนักใจที่มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อจากนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีผลงานเป็นที่ชื่นชม และมั่นใจว่าตนเองก็เคยเป็นเอกอัครราชทูตมาหลายประเทศ และเป็นลูกหม้อของกระทรวงการต่างประเทศมาก่อนเช่นกัน จึงไม่หนักใจใดๆ

ส่วนนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายงานใดๆ ให้แล้วหรือไม่นั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มีการมอบหมายงานใดๆ เนื่องจากยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตน

ส่วนได้มีการพูดคุยกับนายปานปรีย์ ในฐานะที่เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับนายปานปรีย์มาก่อนหรือไม่นั้น นายมาริษ ยอมรับว่าได้มีการพูดกัน แต่ไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องงาน ซึ่งนายปานปรีย์ได้ฝากสานงานต่อ แต่ตนเองยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากยังไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

นายมาริษ ยังปฏิเสธที่จะชี้แจงถึงกระแสข่าวที่ตนเองนั้นมีความสนิทสนมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาก่อน

Advertisement

Verified by ExactMetrics