วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

รัฐบาลดัน “น้ำบูดูสายบุรี” สู่ตลาดโลก

People Unity News : 18 ธันวาคม 2565 รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ หนุน ศอ.บต.จับมือเชฟชุมพล ดัน “น้ำบูดูสายบุรี” สู่ตลาดโลก รังสรรค์เมนูขยายตลาดกลุ่มใหม่

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่นชมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการผลักดัน soft power อัตลักษณ์ท้องถิ่นจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่มรายได้แก่ประชาชน โดยล่าสุด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีโครงการเรือธง “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ซึ่งจะร่วมมือกับเชฟชุมพล แจ้งไพร ในการพัฒนารสชาติน้ำบูดูให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคต่างชาติมากขึ้น รวมถึงพัฒนาเมนูอาหารที่มีน้ำบูดูเป็นส่วนประกอบให้หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการบริโภค สร้างความสนใจจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่

นางสาวรัชดา กล่าวว่า น้ำบูดูเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และมาเลเซีย และเป็นสินค้าเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ ผลิตเป็นอุตสาหกรรมส่งในประเทศและส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ตลาดส่งออกสินค้าน้ำบูดูของไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทาง ศอ.บต.จึงกำหนดโครงการเรือธงขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมการบริโภคในประเทศและขยายตลาดสู่ตลาดฮาลาลทั่วโลกให้มากยิ่งขึ้น โดยเลือกน้ำบูดู อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ เป็นต้นน้ำในการพัฒนาน้ำบูดูให้เป็นที่รู้จัก ที่ผ่านมามีการแปรรูปให้ทานง่ายขึ้น เช่น ทำเป็นผงบรรจุซอง อัดแท่งใส่กล่อง เพื่อยืดอายุการรับประทาน มีหลายระดับความเค็มให้เลือก และพัฒนาให้เป็นส่วนผสมของอาหารอื่นๆ

ภายใต้โครงการ “สายบุรี บูดู สู่ตลาดโลก” ทาง ศอ.บต จะเป็นหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับส่วนราชการต่างๆ ภาคเอกชน และประชาชน มีเชฟชุมพลฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องคุณภาพ รสชาติ และรังสรรค์เมนูน้ำบูดูเพื่อส่งเสริมการบริโภค เพิ่มเติมจาก ข้าวยำ บูดูทรงเครื่อง ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเป็นอย่างดี ขณะที่ภาคเอกชนที่จะเข้าร่วม จะต้องมีโรงงานที่กระบวนการผลิตได้มาตรฐานสากลและฮาลาล ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตด้วย นั่นหมายความว่า โครงการนี้จะสามารถสร้างอาชีพและรายได้แก่ประชาชนในละแวกได้เป็นจำนวนมาก ครอบคลุมกลุ่มชาวประมง เกษตรกร และกลุ่มแม่บ้าน ส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

“เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ในงานแถลงผลงานการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ได้สั่งซื้อน้ำบูดูจากบูธที่มาร่วมแสดงผลงาน ท่านบอกว่าชอบทาน และยังกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า น้ำบูดู จะเป็นอีกหนึ่งสินค้า soft power ที่จะสร้างชื่อเสียง สร้างรายได้แก่คนในพื้นที่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดฮาลาล เพราะสินค้าจากประเทศไทยมีชื่อเสียงดีอยู่แล้ว รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีและสันติสุขอันยั่งยืนของปลายด้ามขวานไทย” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

นายกฯสั่งเร่งติดตามผลกระทบ หลังอียูผ่าน กม.ห้ามสินค้าทำลายป่า

People Unity News : 14 ธันวาคม 2565 รองโฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ สั่งตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากกรณีอียูผ่าน กม.ห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับการทำลายป่า เร่งทำความเข้าใจ ให้ความรู้ผู้ประกอบการ เกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามรายละเอียดกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงในการมีกฎหมายห้ามการนำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ น้ำมันปาล์ม ปศุสัตว์ ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ไม้และยางพารา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะกระทบต่อสินค้าจากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรปด้วย เนื่องจากผลของกฎหมายจะบังคับให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกไปขายในยุโรปจะต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาขายว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งข้อตกลงของอียูเรื่องนี้ยังเหลือขั้นตอนการอนุมัติเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ และจะให้เวลาผู้ประกอบการทั่วยุโรปที่นำเข้าสินค้าหรือมีห่วงโซ่การผลิตอยู่ทั่วโลกเตรียมตัวเพื่อทำรายงานรับรองกระบวนการผลิตประมาณ 18-24 เดือนแล้วแต่ขนาดของธุรกิจ

“นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามรายละเอียดของกฎหมายเรื่องนี้ว่าครอบคลุมสินค้าใดบ้าง ประเมินผลกระทบต่อประเทศไทย พร้อมกับให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการและเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจทั้งห่วงโซ่การผลิต และปรับตัวให้ทันกับกฎกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับประเด็นการผลิตที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอน ซึ่งทิศทางดังกล่าวส่งผลถึงการออกมาตรการและกฎหมายในหลายประเทศ ซึ่งสามารถเป็นเครื่องกีดกันทางการค้าในระยะต่อไป” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จึงกำหนดให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลงทุนบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วน และได้นำเสนอเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมาชิกเอเปคให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นพ้องต่อความเร่งด่วนที่ทั่วโลกต้องมีกระบวนการสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

Advertisement

นายกฯ เดินหน้าโครงการต้นแบบ 95 โรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ

People Unity News : 11 ธันวาคม 2565 “ทิพานัน” โชว์ “พล.อ.ประยุทธ์” เดินหน้าโครงการต้นแบบ 95 โรงเรือนเกษตรอัจฉริยะทั่วประเทศ มุ่งเป้าแรงงานเกษตร 3.2 หมื่นคนในปี 66 เพิ่มรายได้ผลผลิต-เพิ่มค่าจ้างแรงงาน พลิกโฉมเกษตรกรไทย

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากการลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ในทุกภูมิภาค พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีนโยบายพัฒนาศักยภาพแรงงานทุกกลุ่ม และมีความห่วงใยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภัยพิบัติต่างๆ รวมทั้งผลกระทบด้านพลังงาน ผลกระทบด้านการผลิต จึงต้องการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงมีนโยบายและมุ่งมั่นยกระดับเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพด้านเกษตร เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนในทุกมิติ

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า แต่การเปลี่ยนแปลงจะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการและแรงงานในภาคเกษตรด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมอบนโยบายไปยัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ดำเนินการพัฒนาฝีมือเพื่อเข้าตลาดแรงงานนี้โดยเร่งด่วน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงได้ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพแรงงานภาคการเกษตรสู่เกษตรอัจฉริยะ มีเป้าหมาย 95 โรงเรือนทั่วประเทศ และให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะในปี 2566 จำนวน 32,300 คน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกแบบมีโรงเรือน เช่น ระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืช การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ระบบพ่นหมอก ระบบกักเก็บหรือจัดน้ำ ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปใช้เพิ่มคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร ตามเป้าหมาย โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ สามารถสมัครได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสอบถามที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

“พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ต้องการให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เพียงพอในอนาคต ที่สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับกับความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ผ่านกลไกของหน่วยงานต่างๆ ที่บูรณาการอย่างครบวงจร และเป็นรูปธรรม สะท้อนความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผู้ประกอบการภาคเกษตร มีความเข้มแข็ง มีรายได้ดีขึ้น เกิดการกระจายรายได้ไปสู่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมกับมีตัวชี้วัดหรือมีสถาบันรองรับฝีมือแรงงานนั้นๆ ที่จะสามารถนำไปสู่ทักษะวิชาชีพที่มีอัตราค่าแรงที่สูงขึ้นในอนาคตได้ด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

ฉลองความสำเร็จ! นายกฯ ต้อนรับนักท่องเที่ยวครบ 10 ล้านคน

People Unity News : 10 ธันวาคม 2565 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ – นายกฯ ต้อนรับนักท่องเที่ยว ฉลองครบ 10 ล้านคน หลังเปิดประเทศ พร้อมผลักดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่ 20 ล้านคนในปี 2566 เชิญชวนคนไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวดุจญาติมิตร

พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้ที่โชคดีที่สุด (The Luckiest Tourist ) ในกิจกรรม “Amazing Thailand 10 Million Celebrations” ฉลองต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติครบ 10 ล้านคน ตามเป้าหมายสูงสุดปี 2565 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งไว้ ประกาศความสำเร็จแบรนด์ Amazing Thailand เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในใจนักท่องเที่ยว เตรียมเดินหน้าดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่ 20 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดกิจกรรมในโอกาสที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2565 ครบ 10 ล้านคน เพื่อเฉลิมฉลองและต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ทั้งทางบกและทางอากาศทั่วประเทศ ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติกระบี่ และสนามบินสมุย ด่านพรมแดนหนองคาย และด่านพรมแดนสะเดา

พลเอก ประยุทธ์  กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ของคนทั่วโลกต้องสะดุดลง เพราะถูกจำกัดด้วยมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดของแต่ละประเทศ คนไทยเรามีความเชื่อว่าฟ้าหลังฝน ย่อมสดใสเสมอ วันนี้ท้องฟ้าเปิดแล้วเป็นผลมาจากคนไทยเราร่วมแรงร่วมใจกัน ฟันฝ่าอุปสรรค พร้อมๆ กับชาวโลกจนสามารถเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและยั่งยืน โดยมีมาตรการและแผนการปฏิบัติที่รัดกุม เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ เพื่อรองรับการมาเยือนของทุกๆ คน วันนี้เราได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 10 ล้านคนแล้ว ซึ่งเราจะไม่หยุดอยู่กับความสำเร็จนี้ แต่เราจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายการเดินทางของคนทั่วโลกนั้น มีความพร้อมในทุกๆ ด้านเพื่อรองรับการมาเยือนของชาวต่างชาติ นอกจากความสวยงามของธรรมชาติที่ผ่านการพักฟื้นสู่ความอุดมสมบูรณ์ อาหาร และศิลปวัฒนธรรมไทยอันเป็นเอกลักษณ์น่าประทับใจแล้ว การอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยในการเดินทาง เช่น บนเรือต้องมีชูชีพที่ครบ และสมบูรณ์ ความคับคั่งของคนในสถานที่ท่องเที่ยว ต้องไม่เกินขีดจำกัดและอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด เพราะสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความเอาใจใส่ ความจริงใจในการดูแลผู้มาเยือนเหมือนคนในครอบครัวของเรา ที่สำคัญคือรอยยิ้ม ด้วยความรัก ความโอบอ้อมอารีและมารยาทที่งดงาม ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีดูแลนักท่องเที่ยวทุกคน ที่ถือเป็นแขกของคนไทยทั้งประเทศ

สำหรับการจัดกิจกรรม “Amazing Thailand 10 Million Celebrations” นอกจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีแล้ว ยังมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ศาสตราจารย์พิเศษทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ททท. นายอับดุลอาซิส อับดุลเลาะห์ อัลคุเดย์ รักษาการเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ร่วมให้การต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยการจัดแสดงขบวนกลองยาว พร้อมมอบพวงมาลัยต้อนรับ และของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวใน 2 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบิน TG923 การบินไทย ซึ่งมีผู้โดยสาร จำนวน 348 ราย เดินทางจากท่าอากาศนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเที่ยวบิน SV 846 สายการบินซาอุดีอาระเบียน แอร์ไลน์ : ซาอุเดีย (Saudi Arabian Airlines : Saudia) จำนวน 357 ราย  เดินทางจากกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย

Advertisement

“ประยุทธ์” ปลื้มไทยเป็นเจ้าภาพกรีฑาระดับโลก 3 งาน

People Unity News : 3 ธันวาคม 2565 นายกฯ เปิดการประชุมสัมมนากรีฑาโลก ขอบคุณไว้วางใจไทยให้เป็นเจ้าภาพกรีฑาระดับโลก 3 งาน ย้ำรัฐบาลส่งเสริมกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา หวังสร้างความประทับใจ พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนากรีฑาโลก WORLD ATHLETICS GLOBAL RUNNING CONFERENCE 2022 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน เข้าร่วม

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนาของวงการกรีฑาโลกและการจัดการแข่งขันมาราธอนระดับโลก ที่รัฐบาลไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ รายการ Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้หารือกับภาคธุรกิจกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะร่วมกันหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาแข็งแกร่งและขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจึงถือเป็นนโยบายสำคัญ การส่งเสริมกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬาก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ดำเนินการ

นายกรัฐมนตรีขอบคุณสมาคมกรีฑาโลกที่เชื่อมั่นและให้ความไว้วางใจให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการจัดงานกรีฑาระดับโลก จำนวน 3 งาน ในปีนี้ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาวิ่งเทรลภูเขาชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 1 ณ ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 3-6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งหลายภาคส่วนชื่นชมถึงความสำเร็จและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 450 ล้านบาท, การประชุมสัมมนากรีฑาโลก ประจำปี 2565 และการแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกรีฑาโลกด้วยดีมาโดยตลอด จนปัจจุบันถือว่าเป็น 1 ใน 5 ของมาราธอนในเมืองหลวง ที่จัดได้ดีที่สุดในทวีปเอเชีย มีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมมากกว่า 25,000 คน แต่ในครั้งหน้าอยากให้มากถึง 50,000 คน

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ได้มาตรฐานสากลของคณะผู้จัดงาน ประกอบกับความพร้อมทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงามของประเทศไทย ตนหวังว่าจะสร้างความสุขและความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนด้วยรอยยิ้ม อีกทั้งจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นจำนวนมาก

“ขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่านที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดกิจกรรมดีๆ เหล่านี้ขึ้น และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนให้รายการนี้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าอะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน จะเป็นมาราธอนหลัก 1 ใน 5 ของทวีปเอเชียได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและจะผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่โลกแห่งความยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่ง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนพูดเป็นภาษาไทย ไม่แน่ใจว่าจะมีผู้แปลให้ผู้เข้าร่วมงานต่างชาติหรือไม่ ถ้าแปลไม่ออก ขอให้มองหน้าตน จะได้รู้ว่าตนจริงจังจริงใจกับทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มงาน เมื่อนายกฯ มาถึง ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวได้ตะโกนว่า “ลุงตู่ 8 ปีรีบออกไปได้แล้วนะคะ ออกได้แล้วค่ะ” แต่นายกฯ ไม่ได้ยิน และคาดว่าคงจำไม่ได้ จึงโบกมือทักทาย

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้จัดชุดเจ้าหน้าที่หญิงจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กองร้อยน้ำหวาน) เข้ามาคอยดูสถานการณ์บริเวณด้านหน้าทางเข้างาน เพื่อกันไม่ให้กลุ่มนักเรียนเลวดังกล่าวเข้าถึงตัวนายกฯ  โดยไม่มีสถานการณ์รุนแรงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ภายหลังเดินชมนิทรรศการเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนเส้นทางเดินทางกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

Advertisement

ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ต.ค. 170,717 คัน เพิ่มขึ้น 10.83% ส่งออกเพิ่ม 15.51%

People Unity News : 24 พฤศจิกายน 2565 เดือนตุลาคม 2565 ผลิตรถยนต์ 170,717 คัน เพิ่มขึ้น 10.83% ส่งออกเพิ่ม 15.51% ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV ยังพุ่งต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 288.89%

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงข่าวจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ของเดือนตุลาคม 2565 จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ มีทั้งสิ้น 170,717 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 10.83 จากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.75 เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งบางรุ่น ทำให้ผลิตเพื่อส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 57.13 ของยอดผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 12.31 แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 4.75

โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 12.36

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก ผลิตได้ 97,832 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 57.31 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 9.75 ส่วนเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 844,206 คัน เท่ากับร้อยละ 55.01 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 7.02

การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 72,885 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 42.69 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 12.31 และเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ผลิตได้ 690,548 คัน เท่ากับร้อยละ 44.99 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 19.65

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 64,618 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 0.24 เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ จากการผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศสะดวกขึ้น ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การส่งออกยังคงเติบโต การประกันรายได้เกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการออกรถยนต์รุ่นใหม่ แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 12.86

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 94,228 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 15.51 เพิ่มขึ้นจากการส่งออกรถยนต์นั่ง รถ PPV และรถกระบะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.64 62.20 และ 10.17 ตามลำดับ จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งและรถ PPV บางรุ่น จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และตลาดแอฟริกา แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 6.14 และมีมูลค่าการส่งออก 84,917.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2565 ร้อยละ 18.91

รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนตุลาคม 2565 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 84,917.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 18.91

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนตุลาคม 2565 จดทะเบียนใหม่ 1,960 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 288.89 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 15,258 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 230.62

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือนตุลาคม 2565 จดทะเบียนใหม่ จำนวน 5,036 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 121.65

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสม จำนวน 54,847 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 78.36

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสม จำนวน 9,691 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 65.35

Advertisement

ปลื้ม คนล้นหลามแห่ร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” กรุงเทพฯ

People Unity News : 7 พฤศจิกายน 2565 ปลื้ม คนล้นหลามแห่ร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” กรุงเทพฯ ออมสินเจ้าภาพเผย จัดงาน 3 วัน ช่วยลูกค้าได้มากกว่า 15,000 ราย เตรียมยกทัพสัญจรอีก 4 ครั้ง พบกันที่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำเร็จของการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1” ตามที่กระทรวงการคลังมอบหมายธนาคารออมสินเป็นเจ้าภาพจัดงาน เมื่อวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี โดยตลอดระยะเวลา 3 วัน มีประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินของรัฐ ที่ประสงค์เจรจาขอแก้ไขหนี้จากการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเพิ่มเติมทุน และเพิ่มสภาพคล่องในการดำรงชีพหรือประกอบธุรกิจ นอกนั้นเป็นผู้มาขอปรึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน ออมเงิน และมองหาโอกาสสร้างอาชีพสร้างรายได้ รวมแล้วมีประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือตลอดช่วงงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ จำนวนไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย

ทั้งนี้ ส่วนของความช่วยเหลือจากธนาคารออมสิน มีลูกหนี้ที่เข้าร่วมเจรจาแก้ไขหนี้กับธนาคาร เป็นจำนวนมากกว่า 1 พันราย และเป็นผู้มายื่นขอสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเพื่อเติมเงินทุนหรือเพิ่มสภาพคล่อง จำนวนกว่า 800 ราย โดยตลอดงานทั้ง 3 วัน มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมที่บูธธนาคารออมสินมากกว่า 5,000 ราย

จากผลสำเร็จของการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1” สัญจร กรุงเทพฯ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) เตรียมเดินหน้าจัดงานครั้งต่อไปใน 4 ภูมิภาค ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. รับหน้าที่เจ้าภาพจัดงานครั้งที่ 2 ณ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 18–20 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ครั้งที่ 3 กำหนดจัดวันที่ 16–18 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4 

วันที่ 20–22 มกราคม 2566 ที่จังหวัดชลบุรี และครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566 จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ ตามกำหนดการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจรแต่ละภูมิภาค ได้ที่ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/

Advertisement

สถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ว่างงานไตรมาส 3/65 ลดเหลือ 4.91 แสนคน

People Unity News : 5 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ พอใจสถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ขณะการว่างงานไตรมาส 3/65 ลดลงเหลือ 4.91 แสนคน ด้านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดตลาดนัดแรงงานดึงผู้ประกอบการออกบูธเปิดรับสมัครงานกว่า 1,500 ตำแหน่ง รับอุตสาหกรรมการบิน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงภาวะการมีงานทำของคนไทยประจำไตรมาสที่ 3/65 (ก.ค.-ก.ย.65) ซึ่งในภาพรวมสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยประชาชนมีงานทำมากขึ้น ว่างงานลดลง เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งออกนโยบายเพื่อรักษาการมีงานทำของประชาชนตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

ทั้งนี้ไตรมาสที่ 3/65 ประเทศไทยมีประชากรผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 58.66 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานอยู่ 40.09 ล้านคน นอกกำลังแรงงาน เช่น ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และผู้พิการ 18.57 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.9 ล้านคนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.57 ล้านคน เพิ่มจาก 39.01 ล้านคนในไตรมาสก่อนที่ 2/65 หรือเพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน และเพิ่มขึ้น 8.2 แสนคนเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/64 ส่งผลให้การจ้างงานในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในการจ้างงานนอกภาคเกษตร ร้อยละ 4.3 เช่น ภาคบริการ การค้า และการ ขณะที่ภาคเกษตรการจ้างงานลดลงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติที่แรงงานภาคเกษตรจะลดลงเมื่อมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคบริการ การค้า และการผลิต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนผู้ว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 3/65 อยู่ที่ 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ลดลงจาก 5.46 แสนคน หรือร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 2/65 และจาก 9.11 แสนคน หรือ ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3/64 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ซึ่งสะท้อนรายได้ของแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19

“นายกรัฐมนตรี พอใจกับสถานการณ์การมีงานทำของประชาชนที่ดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับตอนก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนผลสำเร็จของนโยบายที่รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายมาตรการด้านสาธารณสุขจนผ่านพ้นวิกฤตและกำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกมิติ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทยอยเพิ่มการจ้างงานให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินที่ขณะนี้มีแนวโน้มค่อนข้างสดใสด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 นี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ก็ได้จัดโครงการ “ตลาดนัดแรงงาน ณ ทสภ.” ครั้งที่ 8 (Suvarnabhumi Airport Job Fair 2022) ซึ่งเป็นงานที่รวมบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 30 บริษัท มาออกบูธเพื่อรับสมัครพนักงานรวมกว่า 1,500 อัตรา ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ วิศวกรไฟฟ้า พนักงานบริการลูกค้าภาคพื้น พนักงานคลังสินค้า พนักงานตรวจค้นผู้โดยสาร พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างเทคนิค

สำหรับผู้สนใจสามารถไปร่วมงานได้ในเวลา 9.00-15.00 น. ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 ณ ณ ศูนย์การขนส่งสาธารณะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนชุมชนสัมพันธ์ ฝ่ายกิจการพิเศษและมวลชนสัมพันธ์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2132 – 9084 , 0 – 2132 – 9093

Advertisement

ธอส.จัดเต็มช่วยเหลือ ปชช. ในงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1”

People Unity News : 3 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ” พบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมาย นำโดย 3 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคาร ได้แก่ มาตรการ 22 [M22] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้เงินมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษระยะเวลา 2 ปี เดือนที่ 1-10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำปีแรก 2.75% ต่อปี สลากออมทรัพย์ ธอส. ลุ้นรางวัลสูงสุดถึง 2 ล้านบาท และบ้านมือสองคุณภาพดีกว่า 1,000 รายการ ราคาขายต่ำสุดเพียง 45,000 บาท พร้อมรับสิทธิ์ผ่อนดาวน์ 0% นานสูงสุดถึง 36 เดือน ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ให้สามารถไกล่เกลี่ยหนี้กับสถาบันการเงินเพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามความสามารถ รวมถึงให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจหลัง COVID-19 และเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน พร้อมให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป จึงได้นำผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารเข้าร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ” ที่จัดโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

โดยภายในงานจะได้พบกับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประชาชน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พิเศษสุดๆ ในงานนี้เท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.มาตรการช่วยเหลือลูกค้าในปัจจุบันของธนาคารผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการ 22 [M22] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 2 ปี แบ่งเป็น ในเดือนที่ 1-10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) ซึ่งถือเป็นการยกเว้นการคิดอัตราดอกเบี้ยนานที่สุดเท่าที่ธนาคารเคยออกมาตรการมา ขณะที่เดือนที่ 11-18 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 19-21 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี เดือนที่ 22-24 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกค้า(ถ้ามี) 2.มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ : คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี นาน 6 เดือน จากนั้นให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมที่เคยใช้อยู่ และ 3.มาตรการ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 1 ปี แบ่งเป็น เดือนที่ 1-3 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) เดือนที่ 4-6 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกค้า(ถ้ามี) ซึ่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีลูกค้าลงทะเบียนยื่นความประสงค์เข้ามาตรการของ ธอส. ผ่านระบบของ ธปท. จำนวน 4,466 ราย เงินต้นคงเหลือ 6,421 ล้านบาท

2.สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.40% (เท่ากับ 2.75%) ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.90% (เท่ากับ 3.25%) ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.40% (เท่ากับ 3.75%) ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 3.25% (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารปัจจุบันเท่ากับ 6.150% ต่อปี) ปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.15% (เท่ากับ 4%) ต่อปี ปีที่ 6-7 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.50% (เท่ากับ 4.65%) ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 40 ปี กรณีวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดเริ่มต้นปีแรกเพียง 3,800 บาท/เดือนเท่านั้น โดยให้กู้เพื่อรีไฟแนนซ์บ้านหรือห้องชุด(คอนโดมิเนียม)จากสถาบันการเงินอื่น หรือรีไฟแนนซ์ที่ดินเปล่าจากสถาบันการเงินอื่นพร้อมปลูกสร้าง หรือรีไฟแนนซ์บ้านจากสถาบันการเงินอื่นและปลูกสร้างหรือต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร หรือกู้เพื่อต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร ซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัย ชำระหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ พิเศษ!! ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ ณ วันยื่นกู้ลูกค้ามีสถานะบัญชีปกติ ไม่มีหนี้ค้าง ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ยื่นคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 เมษายน 2566

3.สลากออมทรัพย์ ธอส. ให้ผลตอบแทนดี โอกาสถูกรางวัลสูง นำโดย ชุดขาลเพิ่มพูน หน่วยละ 1,000 บาท ผลตอบแทนหน้าสลาก 0.30% ต่อปี และบวกผลตอบแทนผันแปรตามคุณภาพสินเชื่อโครงการ 0.70% ต่อปี รวมรับผลตอบแทนสูงสุด 1% ต่อปี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พร้อมโอกาสลุ้นรางวัลที่ 1 มูลค่ารางวัลละ 2 ล้านบาท และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ชุดเกล็ดดาว พลัส หน่วยละ 5,000 บาทผลตอบแทนหน้าสลาก 0.65% ต่อปี และโอกาสลุ้นรางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท พร้อมรางวัลเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว และรางวัลเลขสลับเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว และชุดต่อเงิน ต่อทอง หน่วยละ 10,000 บาท ผลตอบแทนหน้าสลาก 0.50% ต่อปี พร้อมโอกาสลุ้นรางวัลที่ 1 เป็นสลากชุดต่อเงิน ต่อทอง มูลค่า 1 ล้านบาท และรางวัลเลขท้าย 1 ตัว จองสิทธิ์ภายในงานและซื้อสลากระหว่างวันที่ 4-13 พฤศจิกายน 2565 ณ สาขาในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พิเศษ!! รับฟรีกระเป๋าพับอเนกประสงค์ 1 ราย ต่อ 1 ใบ สำหรับผู้ที่จองสิทธิ์ซื้อสลากทั้ง 3 ชุด ตามระยะเวลาที่กำหนด

4.บ้านมือสอง ธอส. คุณภาพดี ทำเลเด่น จากทั่วประเทศมากกว่า 1,000 รายการ จำหน่ายพร้อมส่วนลดสูงสุด 50% จากราคาประเมินปัจจุบัน  และสามารถผ่อนดาวน์  0% ระยะเวลานานถึง 36 เดือนทุกรายการทรัพย์ โดยในงานนี้มีรายการทรัพย์ราคาขายต่ำสุดเพียง 45,000 บาท ได้แก่ ทรัพย์ประเภทห้องชุด ชั้นที่ 5 จาก 5 ชั้น ขนาดเนื้อที่ 24.50 ตารางเมตร ในโครงการกำนันกำธรคอนโด อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ จองซื้อทรัพย์ภายในงาน วางเงินประกันการซื้อทรัพย์และทำสัญญามัดจำการซื้อภายในงานเพียงรายการละ 1,000 บาท (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พิเศษ!! ต่อที่ 1 รับฟรีกระเป๋าพับอเนกประสงค์ 1 รายการทรัพย์ ต่อ 1 ใบ สำหรับลูกค้าที่จองซื้อบ้านมือสอง ธอส. ภายในงาน และ ต่อที่ 2 รับบัตรเติมน้ำมันมูลค่า 1,000 บาท 1 รายการทรัพย์ ต่อ 1 ใบ สำหรับลูกค้าที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายภายในระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านระบบของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ที่ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/ เพื่อแจ้งความประสงค์มาติดต่อขอแก้ไขหนี้ พร้อมรับสิทธิพิเศษอื่น ๆ ได้ตลอดงานทั้ง 3 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL , Mobile Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th

Advertisement

 

สถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้น

People Unity News : 29 ตุลาคม 2565 โฆษกรัฐบาล เผยสถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายสำคัญรัฐบาล ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม แก้ปัญหาแบบมุ่งเป้าให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีคนยากจนจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจนก็พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน

นายอนุชา กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เน้นพุ่งเป้าให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุชัดว่า หากรัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือเยียวยา จำนวนคนจนจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 11 ล้านคน

นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเผยให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ 5.5 แสนคน ปรับตัวลดลงจาก 6.08 แสนคนในไตรมาส 1 ของปี 2565 หรือลดลงประมาณ 5.8 หมื่นคน โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัวของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในบางสาขาเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม

นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งในแบบภาพรวม และแบบเจาะจงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความยากจน 8 เรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยได้วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งในระดับปฏิบัติ หรือในระดับพื้นที่ จะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัว เช่น มิติสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มิติการศึกษา ฝึกอาชีพ มิติด้านรายได้ การจัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น

Advertisement

Verified by ExactMetrics