วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

แนะคนไทยจริงจังประหยัดใช้พลังงาน ปีหน้ายังลำบากอยู่

People Unity News : 27 ตุลาคม 2565 งานเสวนาฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” ปลัดพลังงาน ย้ำสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลให้ราคาพลังงานโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นไปถึงปีหน้า แนะคนไทยตระหนักประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ เตรียมประกาศของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเร็วๆนี้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนาหาทางออก ฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยย้ำอีกครั้งว่า ประเทศไทย ผลิตน้ำมันใช้เอง ได้เพียง 8% ที่เหลือ 92% ต้องพึ่งการนำเข้า ซึ่งจากวิกฤติราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีนาคม 2563 จนถึงเดือนกันยายน 2565 ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือไปแล้วรวมกว่า 242,000 ล้านบาท และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ราคาน้ำมันดิบ น่าจะยังทะลุ 100 – 110 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งราคานี้ จะทำให้รัฐต้องอุดหนุน อาทิ ดีเซล อยู่ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร และปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังติดลบอยู่กว่า 120,000 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ในกระบวนการกู้เพื่อนำมาจ่ายคืนผู้ค้าน้ำมัน และเสริมสภาพคล่องกองทุน เบื้องต้นจะกู้เต็มวงเงิน มาใข้คืนให้แล้วเสร็จครบแต่ละงวด ภายในเดือนตุลาคม 2566 และอยู่ระหว่างการหามาตรการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งจะเน้นเข้าไปช่วยทั้งในด้านน้ำมันและไฟฟ้า คาดว่าจะประกาศชัดเจนเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ ราคาก๊าซธรรมชาติ LNG ในปีหน้าคาดว่า จะเฉลี่ยที่ 39 ดอลลาร์สหรัฐต่อ MMBtu (เอ็ม-เอ็ม-บี-ที-ยู) มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 38% ในจำนวนนี้ถึง 70% นำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ จึงมีการคาดการณ์กันว่า ราคา LNG จะขยับไปสูงถึง 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ MMBtu จึงต้องเตรียมแผนเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าไฟฟ้า สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ที่ค่า FT อยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท เพราะจากการคำณวน หากราคาสูงขึ้นไปถึงระดับดังกล่าวจริง จะมีผลให้ค่า FT ขยับขึ้นเป็นหน่วยละ 7 บาทได้ รวมทั้งยังต้องรองรับการใช้ไฟฟ้าของรถยนต์ อีวี ที่กำลังส่งเสริมเพื่อลดการใช้น้ำมัน โดยมีแผนทั้งการกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม 1 โรง ภายในปีนี้ เพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 200 เมกะวัตต์ และ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าให้นานที่สุด รวมทั้งในระยะยาว จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้ขยายไปยังสถานประกอบการ ที่จะมีผลต่อการลดใช้ไฟฟ้าได้ชัดเจน รวมทั้งการพัฒนาโครงการพื้นฐานทางพลังงานทั้งการขาย และรับซื้อจากโรงงานและครัวเรือน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบบริหารจัดการ

Advertisement

เผยแบงก์รัฐระดม 21 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 65

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ครม. รับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 7 แห่ง รวม 21 มาตรการ

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 7 แห่ง  ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ  มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกันจำนวน 1 มาตรการ  รายละเอียด ดังนี้

1.ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้/ มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ /มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ / มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ /มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ

2.ธ.ก.ส. จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ /  มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565-2566 / มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต

3.ธอส. จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบัน /มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ / มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้ / มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับผู้มีกรมธรรม์ประกันภัย

4.ธพว. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และมาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start

5.ธอท. จำนวน 1 มาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565

6.ธสน. จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว / มาตรการเพิ่มวงเงินกู้/ มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย / มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน

7.บสย. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.

ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ จะมีผลตั้งแต่วันที่ธนาคาร/สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ออกประกาศเป็นต้นไป

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับทุกส่วนราชการ ต้องสร้างการรับรู้ว่าประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอะไรบ้าง และเร่งดูแลเยียวยาโดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการที่ขัดเจน ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ขัดต่อกรอบนโยบายหรือกฎหมายด้วย

Advertisement

เผยมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ครม.รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้  (18 ตุลาคม 2565) รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง จำนวน 6 หน่วยงาน  รวม 14 มาตรการ ประกอบด้วย กรมสรรพากร จำนวน 5 มาตรการ กรมศุลกากร จำนวน 2 มาตรการ กรมสรรพสามิต จำนวน 1 มาตรการ กรมบัญชีกลาง จำนวน 2 มาตรการ กรมธนารักษ์ จำนวน 2 มาตรการ และการยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ  สาระสำคัญ  ดังนี้

กรมสรรพากร ประกอบด้วย

– มาตรการลดหย่อนภาษี : บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน  กรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้  1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ สำหรับการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล รวมทั้งการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้าด้วย

– มาตรการยกเว้นภาษี : บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้  กรณีได้เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล  เงิน/ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ ไม่เกินมูลค่าความเสียหาย และสินใหม่ทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย

– มาตรการระยะเร่งด่วน  ได้แก่ ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จากเดิมที่ต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

-มาตรการในระยะถัดไป  :  บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซ่อมแซอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและ ค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

กรมศุลกากร : ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2565

กรมสรรพสามิต : ขยายกำหนดเวลายื่นงบเดือนสำหรับ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 จากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

กรมบัญชีกลาง : ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศให้ท้องที่เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอได้

กรมธนารักษ์ : ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลังและที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี   และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุพ.ศ. 2552

การยาสูบแห่งประเทศไทย : ช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่  ตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

รัฐบาลเดินหน้า รถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”

People Unity News : 15 ตุลาคม 65 รัฐบาลเดินหน้านับหนึ่งแล้ว กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” นายกฯ กำชับเร่งดำเนินการตามแผน เร่งเวนคืนที่ดินและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง รฟท.พร้อมเปิดให้บริการปี 2571

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 323 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และการขนส่งจากประเทศไทยไปสู่ สปป.ลาว และประเทศจีนได้นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการนี้อย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผน ทั้งนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ในขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งผู้รับจ้างได้เริ่มปฏิบัติงานตามหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 0.051% ล่าช้ากว่าแผนงาน 0.102% (ข้อมูลเดือนกันยายน 2565) ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 71 เดือน หรือประมาณ 6 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 104 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.14%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย งานโยธา งานระบบราง และงานระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.37% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ งานโยธา งานวางระบบราง และงานอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 84 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.50% ทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดการปฏิบัติงานเดือนมกราคม 2571

ทั้งนี้ ภาพรวมผลงานการก่อสร้างล่าสุด ในส่วนของงานตามข้อกำหนดทั่วไป (General Requirements) ผู้รับจ้างได้จัดหา และบำรุงรักษาสำนักงานสนามสำหรับวิศวกร และผู้ควบคุมงาน รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับสำนักงานสนาม ตลอดจนจัดหาเจ้าหน้าที่สำนักงาน จัดประชาสัมพันธ์โครงการ และรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการแล้ว ส่วนงานดิน (Earthwork) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการปรับพื้นที่โดยถากถาง และขุดตอขุดราก (Clearing and Grubbing) และก่อสร้างคันทางดินถมด้วยวัสดุดินจากแหล่งภายนอก ขณะที่งานอุโมงค์ (Tunnelling Works) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีเทคนิคก่อนการก่อสร้าง เพื่อจัดทำรายงานและนำมาคำนวณปริมาณงานตามการออกแบบ สำหรับงานขุดทั่วไป ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณงานตามภาพตัดทางธรณีวิทยา ส่วนผลงานการเวนคืนที่ดิน ปัจจุบันดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน และประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างทยอยทำสัญญาจ่ายค่าเวนคืน และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นสายงานวิกฤติของงานก่อสร้าง

โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัดลำปาง พะเยา และสิ้นสุดบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมากนับตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค จนกระทั่งปี 2561 ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ถือเป็นการปลดล็อค 60 ปี ที่รอคอย

โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเปิดพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้า โดยผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ ทั้งนี้เส้นทางโครงการฯ อยู่ในพื้นที่ จ.แพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี ,หนองเสี้ยว และสอง อยู่ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ ,งาว และปงเตา อยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา, บ้านโทกหวาก ,พะเยา , ดงเจน, บ้านร้อง และบ้านใหม่ และอยู่ในพื้นที่ จ. เชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด, ป่าแงะ, บ้านโป่งเกลือ ,สันป่าเหียง, เชียงราย, ทุ่งก่อ, เวียงเชียงรุ้ง, ชุมทางบ้านป่าซาง, บ้านเกี๋ยง, ศรีดอนชัย และเชียงของ

เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้วเสร็จ จะเป็นการสร้างสถิติใหม่ และไฮไลท์สำคัญ เพราะจะเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีเส้นทางผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่งซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร ที่ จ.แพร่ อยู่อำเภอสอง 2 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ที่ 3 อยู่ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

นอกจากนี้ตลอดสองข้างทางของเส้นทางสายใหม่ ยังมีความสวยงามของธรรมชาติ ผู้โดยสารจะได้เพลิดเพลินไปกับวิวผืนป่าที่เขียวชอุ่ม สดชื่นสบายตาแบบพาโนรามา โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ จึงขึ้นแท่นเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามตลอดทาง และจะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รถไฟสายนี้จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้แล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร และมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ เดินทางเข้ามายัง จ.แพร่มากขึ้น เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงราย และ อ.เชียงของ ข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

รถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม.-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าจากไทย และสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศด้วย

Advertisement

ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ MyMo – My Credit ผ่านแอป ไม่ต้องใช้เอกสาร ดอกเบี้ยต่ำ

People Unity News : 11 ตุลาคม 2565 ออมสิน สร้างโอกาสให้คนฐานราก เปิดให้กู้สินเชื่อ MyMo – My Credit ผ่านแอป ไม่ต้องใช้เอกสาร ดอกเบี้ยต่ำ 1.25% ต่อเดือน เตรียมแตกไลน์ทำธุรกิจนอนแบงก์ ช่วยคนไทยเข้าถึงแหล่งเงินง่ายขึ้น

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนฐานรากยังขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบที่มีต้นทุนต่ำ จึงทำให้ต้องหันไปพึ่งการกู้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ธนาคารออมสินได้เดินหน้าทำธุรกิจบนหลักการเพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงินมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดธนาคารเตรียมเปิดให้บริการสินเชื่อ MyMo – My Credit แก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งที่เป็นแรงงานนอกระบบ และมนุษย์เงินเดือน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินกู้นอกระบบ และอนุมัติเร็วผ่านแอป ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 100,000 ราย ด้วยวงเงินปล่อยกู้ในช่วงเริ่มต้นประมาณ 1,000 – 2,000 ล้านบาท และจะขยายต่อไป

สินเชื่อ MyMo MyCredit มีจุดเด่นคือลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยื่นสมัครขอสินเชื่อผ่านแอป MyMo ได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ และไม่ต้องใช้หลักประกันในการกู้ เพียงกรอกเลขที่และข้อมูลบัตรประชาชน และธนาคารไม่คิดค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้า (Financial Transaction) มาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ แทนการวิเคราะห์รายได้ เรียกว่า Alternative Credit Score ซึ่งหากลูกค้าผ่านเกณฑ์การพิจารณาก็จะสามารถสร้างเครดิตทางการเงินที่ดีให้กับตัวเอง ที่เรียกว่า My Credit โดยลูกค้าสามารถทำสัญญาเงินกู้บนแอป MyMo และรับเงินโอนเข้าบัญชีโดยตรง จากนั้นการจ่ายเงินงวดทำได้โดยธนาคารจะหักจากบัญชีเงินฝากเมื่อครบกำหนดชำระในแต่ละงวดโดยอัตโนมัติ เป็นการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอป (Digital Lending) ตลอดทั้งกระบวนการ โดยลูกค้าไม่ต้องไปติดต่อธนาคาร ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถขอกู้ได้รายละ 10,000 – 30,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1.25% ต่อเดือน

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนเตรียมตั้งบริษัทลูกเพื่อเข้าทำธุรกิจ Non Bank เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อเร่งด่วนสำหรับลูกค้าบุคคล ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธุรกิจ Non Bank รายอื่น เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินด้วยต้นทุนที่เป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจ Non Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ราวปลายปี 2566

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสิน ได้เปิดบริษัทลูกมาแล้ว 2 แห่ง คือ บริษัท เงินสดทันใจ ร่วมทุนกับเอกชน คือ กลุ่มศรีสวัสดิ์ และล่าสุดเปิดบริษัท มีที่ มีเงิน ออมสินร่วมทุนกับกลุ่่มทิพยโฮลดิ้งส์ และกลุ่มบางจาก 

Advertisement

ธอส.ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุด 0.325% ต่อปี แต่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถึงสิ้นปี

People Unity News : 3 ตุลาคม 65 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากทั้งประเภทเงินฝากประจำ และเงินฝากออมทรัพย์ และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดิมอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และสนับสนุนการออมของประชาชนให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยมีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี หรือจาก 0.75% ต่อปี เป็น 1.00% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงิน (ALCO) ของ ธอส. จึงมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อสนับสนุนการออมของประชาชนให้ได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ไว้ในระดับเดิมต่อไปอย่างน้อยถึงสิ้นปี 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 ดังนี้

เงินฝากประจำทุกประเภท  ปรับเพิ่มขึ้น 0.1 – 0.325%  ต่อปี เงินฝากออมทรัพย์  ปรับเพิ่มขึ้น 0.1 – 0.2%     ต่อปี

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทยังคงไว้ในระดับเดิมต่อไปไว้ให้นานที่สุด เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าของธนาคารโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้มีเวลาปรับตัวกับภาวะดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในอนาคต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือที่ G H Bank Call Center  โทร.0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertisement

ออมสินจัดโปรสินเชื่อบ้าน “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า”

People Unity News : 3 ตุลาคม 65 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากผลสำเร็จของการจัดสินเชื่อบ้าน “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” ของธนาคาร เมื่อปลายปี 2564 ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งปลอดชำระเงินงวด นาน 6 เดือน ปรากฏว่า จูงใจให้ประชาชนสนใจกู้เพื่อมีที่อยู่อาศัยของตัวเองเป็นจำนวนมาก จนสามารถปล่อยสินเชื่อได้เป็นวงเงินรวมสูงถึง 17,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของปี 2565 มีเสียงเรียกร้องอยากให้ธนาคารออมสินจัดโปรโมชันดีๆแบบนี้อีก ธนาคารจึงเปิดให้บริการสินเชื่อบ้าน “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” อีกครั้ง หลังจากที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกครั้ง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยยังคงให้ทางเลือกในการปลอดชำระเงินงวด เพื่อช่วยลดภาระการผ่อนชำระของผู้กู้

โปรโมชันสินเชื่อบ้าน “กู้ปีนี้ ผ่อนปีหน้า” หลักเกณฑ์เงื่อนไขน่าสนใจสำหรับคนอยากมีบ้าน ทั้งซื้อ/สร้าง/ต่อเติม/ซ่อมแซม หรือต้องการรีไฟแนนซ์มาจากสถาบันการเงินอื่น กรณีทำประกันชีวิตเพื่อประกันสินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยปีแรก 1.99% (MRR-4.255% ต่อปี) ปีที่ 2-3 = 2.980% (MRR-3.265% ต่อปี) ปีที่ 4 เป็นต้นไป = 4.995% (MRR-1.250% ต่อปี) คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี เท่ากับ 2.65% ต่อปี (ปัจจุบัน MRR ธนาคารออมสิน = 6.245%) พร้อมเงื่อนไขพิเศษ โดย 6 เดือนแรก สามารถเลือกไม่ชำระเงินงวดได้ และหลังจากนั้นเลือกชำระเงินงวดแบบผ่อนต่ำอีก 6 เดือน ล้านละ 3,500 บาท/เดือน เพื่อมีเงินเพิ่มสภาพคล่องรองรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือจะเลือกผ่อนชำระตามเงินงวดปกติก็ได้ นอกจากนี้ ธนาคารยกเว้นค่านิติกรรมสัญญา และค่าบริการสินเชื่อ รวมทั้งฟรีค่าจดจำนอง กรณี Re-Finance วงเงินกู้สินเชื่อเคหะ 1 ล้านบาทขึ้นไป และเลือกดอกเบี้ยแบบฟรีค่าจดจำนอง ซึ่งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด

ทั้งนี้ เปิดให้ยื่นกู้ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง วันที่ 15 ม.ค. 2566 ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ และจัดทำนิติกรรมสัญญาภายในวันที่ 15 ก.พ. 2566 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่ facebook : GSB Society

Advertisement

รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาเกษตรระยะยาว

People Unity News : 25 กันยายน 2565 รัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบาย ให้ความสำคัญกับพี่น้องเกษตรกร โดยเน้นการทำงานที่ให้ยึด 5 ประเด็นยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ในการแก้ไขจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งให้เอื้อต่อการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” โดยมีแนวทางไปสู่เป้าหมาย คือ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

และเดินหน้าให้ความสำคัญกับนโยบาย 15 เรื่อง เช่น เน้นหลักตลาดนำการผลิต การพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้วางเป้าหมายในการทำงานรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง ซึ่งรวมถึงการพัฒนากำลังคนในภาคการเกษตร พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย Young Smart Farmer เพิ่มบทบาทของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือน และการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน รวมทั้งการพัฒนาอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานที่สำคัญในพื้นที่

“รัฐบาลดำเนินงานด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ วางนโยบายแบบพุ่งเป้ามองไปข้างหน้า ตามความเหมาะสมจากการประเมินจากสถานการณ์โลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมให้การช่วยเหลือเกษตรกรไทย เน้นการทำงานแบบสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกส่วน” นายอนุชากล่าว

Advertisement

รัฐบาลคาดปี 66 รายได้ท่องเที่ยวสูงสุด 2.38 ล้านล้านบาท

People Unity News : 19 กันยายน 65 รัฐบาลคาดปี 2566 จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุดรวม 2.38 ล้านล้านบาท กลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลวางเป้าหมายสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยให้ภาพรวมปี 2566 การท่องเที่ยวของไทยกลับมาอยู่ในสัดส่วนเป็น 80% ของปี 2562 (ก่อนสถานการณ์โควิด-19) โดยคาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 1.73 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 970,000 ล้านบาท และรายได้หมุนเวียนจากตลาดคนไทย 760,000 ล้านบาท และเชื่อว่าหากเป็นไปตามสถานการณ์ท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยในทุกด้าน (Best Case Scenario) คาดว่าจะมีรายได้รวม 2.38 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.5 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 880,000 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลยินดีที่สายการบินมีการปรับแผนและการดำเนินธุรกิจให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในฤดูการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 จนถึงต้นปีหน้า หรือช่วง High Season โดยจากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พบว่า การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยประเมินว่าไตรมาส 4 ในเดือน ตุลาคม – ธันวาคม จะมีนักท่องเที่ยวจำนวน 1.5 ล้านคนต่อเดือน ซึ่ง ททท.จะจับมือกับสายการบินพันธมิตรผลักดันการท่องเที่ยวช่วง High Season ผ่านการส่งเสริมการขายและการตลาดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคักหลังนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

“ภายหลังรัฐบาลผ่อนคลายเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติ และเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงเดือนกันยายน มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยกว่า 5 ล้านคนแล้ว ซึ่งเฉพาะในเดือนกันยายนจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน หรือมากกว่านั้น ดังนั้น การเตรียมความพร้อมการรองรับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้ร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันหารือแนวทางการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ รวมถึงการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวคุณภาพให้เข้ามามากขึ้น แทนการเน้นในเรื่องของจำนวนปริมาณนักท่องเที่ยวแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ครูเป็นหนี้ 9 แสนคน 1.4 ล้านล้านบาท ลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นคน ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ช่วงปิดเทอม

People Unity News : 17 กันยายน 2565 รองโฆษกรัฐบาลเผยความคืบหน้าแก้หนี้ครู ลงทะเบียนกว่า 4 หมื่นคน รวมมูลหนี้ 5.8 หมื่นล้านบาท ลดดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์ ชวนร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครู

วันนี้ (17 กันยายน 2565) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี พ.ศ. 2565 รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันพบว่ามีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ

นางสาวรัชดา กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูว่า ภาพรวมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูไปแล้ว ดังนี้

ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท

ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือเงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30

กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ ส่งผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศนั้น นางสาวรัชดา กล่าวว่า ขณะนี้ มีครูลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน ส่วนที่เหลือ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นเวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย นำร่องที่จังหวัดกำแพงเพชร เริ่ม 4 ตุลาคม 2565 นี้ ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics