วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

ก.คลังคาดเศรษฐกิจไทยปี 65 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ 4.0% ต่อปี จากการใช้จ่ายในประเทศ-การท่องเที่ยว

People Unity News : กระทรวงการคลัง ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

29 ม.ค. 65 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.9 ถึง 1.4) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนตุลาคม 2564 ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการเร่งกระจายวัคซีนที่มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.4) และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.4 ถึง 3.9) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 19.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 18.7 ถึง 19.2) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Disruption) ที่ทยอยคลี่คลายลง

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2565 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศที่ขยายตัวหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย เริ่มมีผลกระทบในวงจำกัด โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) และภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวหลังจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านระบบ Test & Go อีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 7 ล้านคน ในขณะที่การส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 ถึง 4.1) ตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.07 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ในส่วนที่เหลือที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มอย่างตรงจุด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจต่างๆ โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.7) และร้อยละ 3.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 ถึง 4.2) ตามลำดับ ทั้งนี้ แรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลงทุนในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 ถึง 5.5) ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.4 – 2.4) และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันกำหนดที่ระดับร้อยละ 1.0 – 3.0 ต่อปี

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทั้งสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 2) ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อาทิ การส่งสัญญาณปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ 3) ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่ จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง 4) ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Disruption) เช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่อาจยืดเยื้อ และ 5) ราคาพลังงานและน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง

Advertising

“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” คึกคัก ยอดนักท่องเที่ยว 248,497 คน สร้างเม็ดเงินกว่า 32,600 ล้านบาท

People Unity News : “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” คึกคัก! ยอดนักท่องเที่ยวสะสม 248,497 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 32,600 ล้านบาท

26 ม.ค. 65 จังหวัดภูเก็ต เผย จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาลด้วยโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64 เป็นต้นมา ล่าสุดมียอดนักท่องเที่ยวเดินทางสะสม 248,497 คน กลุ่มประเทศหลัก คือ รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ สวีเดน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 8 คืน/คน ค่าใช้จ่ายต่อทริป 55,000 บาท/คน สร้างรายได้ราว 13,762.56 ล้านบาท คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 32,617.26 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย เดือน ม.ค. 65 มียอดเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตแล้วกว่า 50,000 คน และหากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง คาดว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค. จะมีคนไทยมาเที่ยวภูเก็ตไม่ต่ำกว่า 80,000 – 100,000 คน ช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

Advertising

ผู้เอาประกันบริษัทเอเชียประกันภัย ร้อง รมว.คลัง ช่วย ยังไม่ได้รับเงินชดเชยสินไหมทดแทน

People Unity News : ผู้เอาประกันบริษัทเอเชียประกันภัย ร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังไม่ได้รับเงินชดเชยสินไหมทดแทน ประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ประกันภัยรถยนต์ และประกันประเภทอื่น

วันนี้ 21 ม.ค. 65 นายชื่นชอบ คงอุดม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงการคลัง) รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนตัวแทนผู้เอาประกันของบริษัทเอเชียประกันภัย ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)  ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยมีกรมธรรม์จากประกันภัยโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ” ประกันภัยรถยนต์ ประกันประเภทอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการขายประกันของบริษัท โดยซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว แต่ยังไม่มีได้รับเงินชดเชย และปัญหาเคลมประกัน “เจอ จ่าย จบ” เนื่องจากผู้เอาประกันได้ติดต่อผ่านกองทุนประกันวินาศภัยเป็นเวลานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยสินไหมทดแทน มีบางรายยื่นหนังสือตามหลัง แต่กลับได้รับเงินชดเชยก่อน โดยต้องการทราบว่า ฐานะกองทุนประกันวินาศภัย 5,000 ล้านบาท รองรับปัญหาของผู้เอาเอเชียประกันครอบคลุมอย่างไรบ้าง จึงต้องยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 2 กระทรวงการคลัง

Advertising

ฟรุ้ทบอร์ด เตรียมความพร้อม “ฤดูการผลิตผลไม้ปี 65” หลังจีนเปิดนำเข้าผลไม้ไทย 4 ด่านหลัก

People Unity News : ฟรุ้ทบอร์ด เตรียมความพร้อม “ฤดูการผลิตผลไม้ปี 65” หลังจีนเปิดนำเข้าผลไม้ไทย 4 ด่านหลัก

18 ม.ค. 65 คกก.บริหารการจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด) เตรียมความพร้อม “ฤดูการผลิตผลไม้ปี 65” บริหารจัดการผลไม้ของภาคเหนือฤดูการผลิตปี 2565 ซึ่งจะเริ่มต้นในเดือน มี.ค. 65 หลังทางการจีนเปิดนำเข้าผลไม้ไทย 4 ด่านหลัก

เร่งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และลงพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย พร้อมตรวจเยี่ยมด่านเชียงแสนซึ่งเป็นด่านนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรทางลำน้ำโขง รวมทั้งเพิ่มความเข้มข้นสำหรับมาตรการ SPS และโควิดฟรี (Covid Free) เพื่อรองรับการส่งออกผลไม้ไทย หลังทางการจีนเปิด 4 ด่านหลัก คือ

✅ด่านโม่ฮาน บนเส้นทาง R2A (เชียงของ – บ่อเตน – โมฮ่าน) เปิดให้บริการทุกวัน กำหนดเปิดด่านตั้งแต่เวลา 07.30 – 16.30 น. สำหรับรถขนส่งผลไม้ และ 16.30 – 20.00 น.

✅ด่านโหย่วอี้กวน เปิดให้บริการปกติ แต่ยังจำกัดรถบรรทุกสินค้าเข้าด่านไม่เกิน 100 คัน

✅ด่านรถไฟผิงเสียง เปิดนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น (รวมผลไม้ไทย) ระหว่างวันที่ 4 – 17 ม.ค. 65 (ตามมาตรการเปิด 14 วัน ปิด 14 วัน)

✅ด่านตงซิง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 65 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าล้งใหญ่ที่เป็นบริษัทไทยกำลังขึ้นตู้คอนเทนเนอร์เป็นทุเรียนทวาย (นอกฤดู) จากชุมพรและภาคใต้ แจ้งว่าส่งออกไปที่ด่านตงซิง

ส่วนการขนส่งผลไม้ทางเรือจากแหลมฉบับมีแนวโน้มดีขึ้น มีสายการเดินเรือเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นหลายสาย และจากประกาศค่าระวางเมื่อ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ค่าระวางลดลงเหลือ 4,800 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 6 พันดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ นับเป็นสัญญาณที่ดีตั้งแต่ต้นปี

Advertising

ธอส.ออกมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยั่งยืน ขยายเวลาพร้อมลดดอกเบี้ยสูงสุด 0.50% ต่อปี

People Unity News : 14 มกราคม 2565 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของ ธอส. ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญายังไม่กลับมาเหมือนเดิม ประกอบด้วย การขยายความช่วยเหลือให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้ 9 มาตรการปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ต่อปี และมาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ขณะที่ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ได้อยู่ในมาตรการ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 17[M17] : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดือนที่ 1-3 เหลือ 0% ต่อปี เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ช่วยเหลือนานสูงสุด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันผ่านมาตรการต่างๆ รวม 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ ยังคงเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการที่ 2[M2], มาตรการที่ 9[M9], มาตรการที่ 10[M10], มาตรการที่ 11[M11], มาตรการที่ 12[M12], มาตรการที่ 13[M13], มาตรการที่ 14[M14], มาตรการที่ 15[M15] และ มาตรการที่ 16 [M16] ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และดำเนินการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน) ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีมติให้ ธอส. จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ (M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16) ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ รองรับลูกค้าเดิมใน  M2, M9, M 11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต รองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้น โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ ลูกค้าตามมาตรการข้างต้นที่ต้องการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจะต้อง Upload แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณาผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ  Application : GHB ALL

Advertising

รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์-รถจักรยานยนต์

People Unity News : รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ค่างวดต่ำกว่าหนึ่งพันบาทห้ามเก็บค่าทวงหนี้

3 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยปัจจุบันพบว่า ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลธุรกิจเช่าซื้อ และไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกรรมเช่าซื้อเป็นการเฉพาะ ทำให้เกิดการทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม รัฐบาลโดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ จึงได้เข้าไปแก้ไขปัญหาดังกล่าว

เบื้องต้นได้มีการออกประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายในการทวงหนี้ เพื่อคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้ถูกเก็บเงินในการทวงถามหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เกินความจำเป็น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 กันยายนที่ผ่านมา สาระสำคัญคือ อัตราค่าทวงถามหนี้กรณีทั่วไปรวมจำนำทะเบียนให้คิดไม่เกิน 50 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระ 1 งวดและคิดไม่เกิน 100 บาทต่อรอบการทวงถามกรณีค้างชำระมากกว่า 1 งวด อัตราค่าทวงถามหนี้สำหรับปฏิบัติการลงพื้นที่ติดตามถามหนี้ฯ คิดไม่เกิน 400 บาทต่อรอบการทวงถาม และเก็บต่อเมื่อลูกหนี้ค้างชำระมากกว่า 1 งวด กำหนดให้ไม่มีการเก็บค่าทวงถามหนี้ กรณีค่างวดที่ถึงกำหนดชำระต่ำกว่า 1,000 บาท เพื่อคุ้มครองประชาชนรายย่อยที่จ่ายค่างวดจำนวนน้อยๆ

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) อยู่ระหว่างการทบทวนและปรับปรุงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเพื่อแก้ไขหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้สูงกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง พร้อมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขการยึดและคืนรถให้เป็นธรรมมากขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางการคิดยอดหนี้เช่าซื้อคงเหลือกรณีที่มีการคืนรถและกรณีที่เจ้าหนี้ยึดคืนให้ชัดเจนและเป็นธรรม คาดว่าจะสามารถประการใช้ในอีกไม่นานนี้ และทุกขั้นตอนต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ส่วนเรื่องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมจากนี้ เพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน คือ การกำหนดหน่วยงานเพื่อเข้ามากำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อหรือธุรกรรมที่มีลักษณะคล้ายสินเชื่อเพื่อให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ พิจารณามาตรการดูแลประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ปัจจุบันไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ สคบ. เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซต์ เกษตรกรที่เช่าซื้อรถไถมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังประสบปัญหาและไม่ได้รับความเป็นธรรม จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาจากกรณีเช่าซื้อรถและการทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

Advertising

รมต.คลัง ตรวจเยี่ยมด่าน ไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ หารือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

People Unity News : รมต.คลัง ตรวจเยี่ยมด่าน ไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ หารือแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่

31 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตรวจติดตามหารือการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ภายหลังมาตรการผ่อนคลายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยตรวจเยี่ยมด่านศุลกากร และหน่วยงานชายแดนช่องสะงำ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการค้าขาย และด้านการท่องเที่ยวตามแนวชายแดน สร้างความเข้มแข็ง และความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมทั้ง หารือมาตรการป้องกันยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามแนวชายแดนของจังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ได้มอบสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยมี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1, 2 นายอำเภอภูสิงห์ ผกก.ตร.ภูสิงห์ รกท.นายด่านศุลกากรช่องสะงำ รอง ผบ.ฉก3 สาธารณสุข ผู้แทนหัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมด่านศุลกากรช่องสะงำ และบริเวณด่านผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

Advertising

ธปท.เผยภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

People Unity News : ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลเปิดประเทศ

30 ธันวาคม 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนตุลาคม หลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าและปัญหาอุปทานชะงัก หรือ supply disruption ทยอยคลี่คลายลง

ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผ่านรายจ่ายเงินโอน ทั้งนี้ อุปสงค์ที่ฟื้นตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมทยอยปรับดีขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ราคาในหมวดพลังงานยังอยู่ในระดับสูงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังเปราะบาง ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลเล็กน้อย เนื่องจากดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลน้อยลง ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลมากขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ยังกล่าวถึง การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประเมินเบื้องต้นอาจจะได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และยังเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้ผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวมีไม่มากนักทั้งนี้ ในแง่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ กนง.ได้รับประมาณการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.4 เนื่องจากยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณสุขยังสามารถรองรับได้ อีกทั้งมีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม แต่ก็ยังคงต้องติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ส่วนผลกระทบจากโอมิครอนจะเริ่มเห็นผลกระทบช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2565

Advertising

สุริยะสั่งกรมโรงงานฯเข้มงวดตรวจวัดคุณภาพอากาศพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม

People Unity News : รมว.อุตสาหกรรม สั่งการกรมโรงงานฯเข้มงวดตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยรอบพื้นที่เขตประกอบการและพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องไม่สร้างปัญหา PM2.5 ให้ชุมชนและประชาชน

24 ธ.ค.64 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้มงวดตรวจสอบและกำกับดูแลโรงงานที่มีกระบวนการเผาไหม้ โรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ โรงงานหลอมเหล็กหรือโลหะ โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และโรงงานผลิตแอสฟัสติก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,570 โรงงาน แบ่งเป็นโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 268 โรงงาน โรงงานในเขตปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) จำนวน 2,245 โรงงาน โรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการ จำนวน 6 เขต รวม 35 โรงงาน และโรงงานรีไซเคิล กากอุตสาหกรรมและเตาเผากากของเสีย จำนวน 32 โรงงาน ตั้งเป้าตรวจเสร็จก่อนสิ้นปี 2564 พร้อมกำชับผู้ประกอบการวางแผนการผลิต และควบคุมดูแลการประกอบกิจการ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ย้ำต้องดูแลรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพตลอดเวลา หากพบการกระทำผิด จะให้สั่งหยุดประกอบกิจการทันที

ด้าน นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ทำให้มีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) สะสมจำนวนมาก กรอ. จึงดำเนินการเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า การประกอบกิจการโรงงานจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้วยการนำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่ เร่งตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วไป โดยรอบพื้นที่เขตประกอบการและพื้นที่โรงงานหนาแน่น จำนวน 12 พื้นที่ รวม 130 จุด ซึ่งจะดำเนินการต่อเนื่องทั้งปี รวมทั้งสิ้น 516 จุด รวมถึงจะทำการตรวจวัดฝุ่นละอองจากปล่องระบายของโรงงานเพิ่มอีก 104 โรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้โรงงานสร้างความเดือดร้อน หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน นอกจากนี้ กรอ. ได้เร่งปรับปรุงระบบตรวจสอบมลพิษระยะไกล และปรับปรุงกฎหมาย ให้โรงงานที่มีความเสี่ยงด้านมลพิษอากาศ ต้องติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ หรือ CEMS ที่รายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์มายัง กรอ. คาดว่าจะมีโรงงานทั่วประเทศเข้าข่ายต้องติดตั้งเครื่องมือเพิ่มทั้งหมด 600 โรงงาน รวม 1,300 ปล่อง จากเดิมที่มีการติดตั้งอยู่แล้วจำนวน 855 ปล่อง เพื่อให้การกำกับดูแลการระบายมลพิษจากโรงงาน มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมปัญหาด้านฝุ่นละอองอย่างทั่วถึง

Advertising

ธอส.มอบของขวัญปีใหม่ ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนลูกหนี้ของ  ธอส.ต่อเนื่อง

People Unity News : 23 ธ.ค.64 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประกาศมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าของ ธอส. ที่ยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ได้ตามสัญญายังไม่กลับมาเหมือนเดิม ประกอบด้วย การขยายความช่วยเหลือให้ลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้ 9 มาตรการปัจจุบันของธนาคาร ซึ่งจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่านมาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ต่อปี และมาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต สามารถเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ [ตัดต้น และดอกเบี้ย] และลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ขณะที่ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ได้อยู่ในมาตรการ สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการที่ 17[M17] : ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เดือนที่ 1-3 เหลือ 0% ต่อปี เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ช่วยเหลือนานสูงสุด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตามนโยบายรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันผ่านมาตรการต่าง ๆ รวม 20 มาตรการ ภายใต้ “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” และ “โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ” โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของธนาคารรวมสูงสุดถึง 972,978 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 846,911 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาตรการส่วนใหญ่สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ ยังคงเหลือลูกค้าที่ยังอยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการ รวมจำนวน 109,094 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 113,281 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการที่ 2 [M2], มาตรการที่ 9[M9], มาตรการที่ 10[M10], มาตรการที่ 11[M11], มาตรการที่ 12[M12],มาตรการที่ 13[M13], มาตรการที่ 14[M14], มาตรการที่ 15[M15] และ มาตรการที่ 16 [M16] ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดความช่วยเหลือในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 และดำเนินการตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เรื่องแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน) ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงได้มีมติให้ ธอส. จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อขยายความช่วยเหลือให้กับลูกค้าเดิมที่ยังอยู่ระหว่างการใช้มาตรการความช่วยเหลือของ ธอส. จำนวน 9 มาตรการ(M2, M9, M10, M11, M12, M13, M14, M15 และ M16) ที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ตามสัญญา ซึ่งถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน จึงจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยจะได้รับความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้

มาตรการที่ 18 [M18]  : สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีสถานะบัญชีปกติ รองรับลูกค้าเดิมใน  M2, M9, M 11, M13 และ M15 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 75% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25-0.50% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th หรือ สาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 19 [M19] : สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการสินเชื่อแฟลต รองรับลูกค้าเดิมใน M12 เลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ (ตัดเงินต้น ตัดดอกเบี้ย) เหลือ 25% หรือ 50% หรือ 70% ของเงินงวดผ่อนชำระปกติ และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ใช้อยู่ลงอีก 0.25% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2565 โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565

มาตรการที่ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL และลูกค้ารายย่อย NPL ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้และไม่ได้อยู่ในมาตรการ หรือรองรับลูกค้าเดิมใน M10, M14 และ M16 จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0% ต่อปี ในเดือนที่ 1-3 เดือนที่ 4-6 เท่ากับ 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 เท่ากับ 3.90% ต่อปี ระยะเวลาความช่วยเหลือสูงสุดนาน 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้น โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line หรือ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2565 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565

ทั้งนี้ ลูกค้าตามมาตรการข้างต้นที่ต้องการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือจะต้อง Upload แสดงหลักฐานยืนยันว่าได้รับผลกระทบทางรายได้ให้ธนาคารพิจารณาผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line ส่วนกรณีที่ลูกค้าไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถกรอกข้อมูลเพื่อแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการได้ที่ www.ghbank.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th, Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ  Application : GHB ALL

Advertising

Verified by ExactMetrics