วันที่ 21 เมษายน 2025

แจกต้นฟ้าทะลายโจร พืชสุขภาพและเศรษฐกิจ แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น

People Unity News : แจกต้นฟ้าทะลายโจร พืชสุขภาพและเศรษฐกิจ แก่สถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น

18 กันยายน 2564 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงาน Kick off โครงการส่งเสริมการผลิตฟ้าทะลายโจร ในสถาบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่นและร่วมปลูกฟ้าทะลายโจรในแปลงปลูกฟ้าทะลายโจร พร้อมเปิดเผยว่า การจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร สู้ภัยโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายการขยายพื้นที่ปลูกฟ้าทะลายโจร เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบในกระบวนการแปรรูปเข้าสู่ตลาดสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและสมาชิกของสหกรณ์

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นโอกาสให้กับสหกรณ์ในการต่อยอด ขยายการส่งเสริมและเพิ่มพื้นที่ปลูกให้กับสมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ รวมทั้งเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านปริมาณและราคาให้เกิดความสมดุล ส่งเสริมให้ประชาชนใช้พืชสมุนไพรไทยเป็นทางเลือกในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรในสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและอนาคตอาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ต่อไป

Advertising

ประยุทธ์ ชมความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม นำพาประเทศเดินหน้า พัฒนาสู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

People Unity News : ประยุทธ์ ชมความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม นำพาประเทศเดินหน้า พัฒนาสู่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

17 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) โครงการอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ ความคืบหน้าโครงการและการพัฒนาดาวเทียม โดยวิศวกรไทย ณ ศูนย์ทดสอบประกอบดาวเทียมแห่งชาติ ,การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ จากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ และการนําเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ

นายกรัฐมนตรี ชื่นชมการดำเนินงานและขอให้พัฒนาต่อไป เพราะการใช้เทคโนโลยีมาช่วยประมวลผล ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล นำพาประเทศเดินหน้าพัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนตลอดไป

Advertising

เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

People Unity News : เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ช่วยเหลือเกษตรกรสร้างพื้นที่เกษตรแบบครบวงจร

15 กันยายน 2564 นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังชมความคืบหน้าของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จังหวัดปราจีนบุรี ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ใด้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาปัญหาว่างงาน ลดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นแหล่งผลิตอาหาร โดยน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่มาเป็นแนวทาง ตั้งแต่รูปแบบของเกษตรทฤษฎีใหม่ในการ บริหารจัดการน้ำ เรียนรู้การจัดทำแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยคำนึงถึงการทำการเกษตร ทฤษฎีใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งอาหารของครัวเรือน ผลผลิตที่สามารถจำหน่ายสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ดำเนินงานผลสำเร็จในพื้นที่ เกษตรกรหลายแห่งทั่วประเทศ ที่มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 28,000 ราย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 20,016 ราย นอกจากนี้ยังมีส่งเสริมการจ้างงานในโครงการแล้ว 13,649 ราย อย่างไรก็ตาม กระทรวงงเกษตรและสหกรณ์ จะเร่งเดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ต่อเนื่องเพื่อให้เกษตรสามารถพึ่งพาตนเองได้

Advertising

คนแห่ลงทะเบียนขอสินเชื่อบ้านล้านหลังระยะที่ 2 แค่ 3 วัน 34,926 ราย วงเงินกว่า 41,911 ล้านบาท

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยว่าหลังเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ผ่าน Mobile Application : GHB ALL เพื่อนำรหัสมายื่นประกอบการขอสินเชื่อตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2564 ล่าสุด ณ เวลา 9.00 น. ของวันที่ 13 กันยายน 2564 มีลูกค้าทั่วประเทศลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 34,926 ราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 41,911 ล้านบาท ได้รับอนุมัติสินเชื่อและทยอยเข้าทำนิติกรรมสัญญากู้เพื่อมีบ้านเป็นของตนเองที่ทุกสาขาทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

13 กันยายน 64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ธอส.เปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.99% ต่อปี นาน 4 ปีแรก เงินงวดคงที่ 84 งวดแรก ( 7 ปี ) ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA หรือเพื่อปลูกสร้าง ในระดับราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท โดยลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL เพื่อรับรหัสสำหรับเข้าร่วมโครงการทาง GHB Buddy บน Application Line ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ล่าสุดในวันนี้ (จันทร์ที่ 13 กันยายน 2564) เวลา 9.00 น. มีลูกค้าลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 34,926 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 41,911 ล้านบาท โดยมีลูกค้าที่เตรียมเอกสารพร้อมยื่นกู้ที่สาขาทั่วประเทศคิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมแล้วมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งในวันนี้ที่ ธอส. สำนักงานใหญ่ รวมถึงที่ทำการสาขาทุกแห่งทั่วประเทศมีลูกค้ากลุ่มแรกที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อเดินทางเข้ามาทำนิติกรรมสัญญาเงินกู้อย่างต่อเนื่อง

“โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 เป็นโอกาสดีในการมีบ้านที่รัฐบาลมอบให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย คนวัยทำงานหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว และผู้สูงอายุ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดในตลาดที่ 1.99% ต่อปี กรณีกู้ 1.2 ล้านบาท (ผ่อนนานสูงสุด 40 ปี) เงินงวด 5,000 บาทคงที่ 7 ปีแรก ซึ่งธนาคารจะคิดเงินงวดผ่อนชำระรายเดือนที่ 1 ใน 2 ของรายได้สุทธิต่อเดือน จากปกติ 1 ใน 3 ของรายได้สุทธิต่อเดือน ดังนั้น กรณีผู้กู้มีรายได้สุทธิต่อเดือน 10,000 บาท ก็จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้สูงสุด 1.2 ล้านบาทแล้ว” นายฉัตรชัย กล่าว

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันจะมีจำนวนลูกค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 41,911 ล้านบาท [กรอบวงเงินโครงการซึ่งกำหนดไว้ที่ 20,000 ล้านบาท] แต่ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการยังสามารถลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL เข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง เพราะโครงการจะสิ้นสุดยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมในวันที่ 30 ธันวาคม 2566 หรือ เมื่อมีลูกค้าได้รับอนุมัติสินเชื่อและทำนิติกรรมเต็มกรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข้อมูลข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

Advertising

ททท. เร่งเปิดพื้นที่รับชาวต่างชาติท่องเที่ยวไทย ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

People Unity News : ททท. เร่งเปิดพื้นที่รับชาวต่างชาติท่องเที่ยวไทย ช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ พร้อมเตรียมมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวของคนไทย

1 กันยายน 2564 นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย ขณะนี้ ททท. ยังคงเดินหน้าตามแผนการเปิดพื้นที่นำร่อง เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากใกล้เข้าสู่ไฮซีซั่นในการท่องเที่ยวช่วงปลายปีแล้ว ทำให้ต้องเร่งตามแผนในการเปิดพื้นที่นำร่อง เพราะขณะนี้เริ่มเห็นความต้องการในส่วนของยอดการจองท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวของชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวจึงเริ่มมองหาประเทศในการท่องเที่ยว ว่ามีที่ใดเปิดในเงื่อนไขแบบใดบ้าง ซึ่งหากประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 จนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้และผลของการทำแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนความปลอดภัยของชาวต่างชาติที่เข้ามาอย่างชัดเจน ททท. จะขอให้ ศบค. พิจารณาลดวันพักในภูเก็ตลงเหลือ 7 วัน ตามมติเดิมของ ศบค. ช่วงวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของท่องเที่ยวไทยมากขึ้น หากประเทศไทยไม่เร่งเดินหน้าเปิดพื้นที่ที่มีความพร้อมในการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อน โอกาสในการดึงดูดชาวต่างชาติ เพื่อสร้างรายได้ในภาคการท่องเที่ยวกลับมาอาจหลุดไปและไม่ทันช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้

Advertising

นายกฯประชุมบอร์ด SME สนใจการแก้ปัญหาหนี้ของจีนนำมาปรับใช้กับไทยแก้หนี้ครัวเรือน

People Unity News : นายกฯประชุมบอร์ด  SME เห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท มุ่งเป้าให้ MSME อยู่รอดหลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19

เมื่อวาน 25 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น.  ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 3/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งพัฒนา Single sign on (SSO) ระบบฐานข้อมูลสมาชิก สสว. เพื่อเชื่อมโยงการบริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ย้ำการใช้เงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เกิดความคุ้มค่า และประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SME โดยตรง ทั้งนี้ นายธนกร  วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนะในที่ประชุมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ยังล้าสมัยให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้คำนึงถึงการประกอบธุรกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนที่จะได้รับ ซึ่งสามารถหารือร่วมกับสำนักงาน ป.ย.ป. และคณะทำงานด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการต่อยอดเศรษฐกิจ ยกระดับ SME รวมถึงการส่งเสริมให้มีพี่เลี้ยงสนับสนุนพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาขึ้นเป็น SME รายใหม่ ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกันกับศูนย์บ่มเพาะต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศ เช่น ศูนย์ดิจิทัล ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกันเป็นระบบและไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

นายกรัฐมนตรียังกำชับให้เร่งแก้อุปสรรคและข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME โดยจัดทำข้อมูลของ SME ให้ชัดเจนเพื่อใช้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มเข้าถึงสินเชื่อและแหล่งเงินทุนแต่ละประเภทได้อย่างเหมาะสม  รวมทั้งใช้ข้อมูลการบริหารงบประมาณของในส่วนของการพัฒนาจังหวัด กลุ่มจังหวัดประกอบด้วย เพื่อเร่งสร้างงานและรายได้ให้กับประชาชนได้มากขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมส่งเสริม SME ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรม  ส่วน SME ที่มีศักยภาพยังน้อย ก็ต้องหาแนวทางควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมการค้าขายออนไลน์เพื่อให้ SME ขนาดเล็กสามารถขยายกิจการเป็นขนาดย่อมและขนาดใหญ่ สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ด้วย ซึ่งทุกส่วนราชการช่วยกันดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งมอบหมาย สสว. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรออนไลน์และการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและความรู้ด้านเทคโนโลยีเข้ามาสู่ภาคเกษตรให้ได้มากที่สุด เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้

นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลได้มีการดูแลหนี้ของประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลักการคือการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งให้ความสนใจถึงการแก้ปัญหาหนี้ของจีนที่จะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยในการแก้ปัญหา “หนี้รายครัวเรือน” ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป

ที่ประชุมเห็นชอบมติสำคัญ  อาทิ ร่างระเบียบคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากเงินกองทุนสานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผ่านผู้ให้บริการทางธุรกิจ พ.ศ. ….   รวมทั้งมีมติเห็นชอบจัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม ประจาปี 2565 จำนวน 1,224.8801 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ MSME อยู่รอด หลังการแพร่ระบาดไวรัส Covid-19 บรรเทาปัญหาและฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งให้อยู่เป็นโดยการสร้างความพร้อมให้ SME ในการเข้าสู่ การแข่งขันในบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ และอยู่อย่างยั่งยืนคือ การปรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เกิดความสะดวกแก่ SME

Advertising

“1 ปีธนาคารเพื่อสังคม” ออมสินช่วยประชาชนเสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ 9.5 ล้านราย

People Unity News : ออมสิน โชว์ผลงาน “1 ปี ธนาคารเพื่อสังคม” เน้นช่วยประชาชน 3 ด้าน เสริมสภาพคล่อง-พักชำระหนี้-ลดโครงสร้างดอกเบี้ยสินเชื่อ ผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่ธนาคารออมสินได้ปรับจุดยืนทางยุทธศาสตร์ เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา  ธนาคารได้ทำภารกิจช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรมในหลายมิติ ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจตามนโยบายรัฐบาล ผ่านโครงการต่างๆมากกว่า 30 โครงการ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้แล้วกว่า 9 ล้านคน โดยธนาคารยึดหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างกำไรในระดับที่เหมาะสม และนำกำไรส่วนหนึ่งจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเชิงสังคม จนเกิดเป็นผลงานที่โดดเด่น 3 ด้าน คือ (1) ด้านการเสริมสภาพคล่องแก่ผู้มีรายได้น้อยและ SMEs ขนาดเล็กผ่านมาตรการสินเชื่อ (2) ด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ด้วยการปรับลด/พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย และ (3) ด้านการเข้าแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เพื่อเป้าหมายในการปรับลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ซึ่งจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสใช้สินเชื่อที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ธนาคารได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินแก่ลูกค้ารายย่อย เป็นจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อเสริมพลังฐานราก สินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ และสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ธนาคารได้สร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อในระบบให้กับประชาชนมากกว่า 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตทางการเงิน หรือมีเครดิตต่ำกว่าเกณฑ์อนุมัติปกติของสถาบันการเงิน สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กนั้น ธนาคารได้ช่วย SMEs ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 162,000 ล้านบาท ผ่านมาตรการสินเชื่อ อาทิ สินเชื่อ Soft Loan ธนาคารออมสิน สินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว และสินเชื่ออิ่มใจ (ธุรกิจร้านอาหาร) เป็นต้น รวมถึงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน” ที่ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยธนาคารไม่พิจารณาข้อมูลรายได้ระยะสั้น เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงวิกฤติที่ลูกค้ามีรายได้ไม่แน่นอน และไม่วิเคราะห์ข้อมูลเครดิต แต่เน้นที่การพิจารณาหลักประกันเป็นหลัก (Collateral Based Lending)

สำหรับด้านการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) และเสียประวัติเครดิตในอนาคต ธนาคารสามารถช่วยเหลือลดภาระให้ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน ผ่านมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ อาทิ (1) มาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือนแก่ร้านอาหารและโรงแรม (2) มหกรรมแก้หนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา (3) มาตรการแก้หนี้สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ประสบปัญหาการชำระเงินงวด อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 730,000 ราย และ (4) มาตรการล่าสุดให้ลูกค้ารายย่อยที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2 แสนบาท จำนวนกว่า 750,000 ราย สามารถพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ได้สูงสุด 6 เดือน

นอกจากนี้ ธนาคารได้เข้าไปแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่มีโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยสูง โดยการเปิดตัวธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนใน บจ. เงินสดทันใจ ปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมในตลาดการแข่งขันของธุรกิจจำนำทะเบียน จากเดิมที่เคยอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% – 28% ปัจจุบันลดลงเหลือ 16% – 18% ทำให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้สินเชื่อนี้จำนวนกว่า 3.5 ล้านคน ได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น

สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุด ณ 30 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีสินทรัพย์รวม 2,860,000 ล้านบาท มีเงินฝาก 2,450,000 ล้านบาท และสินเชื่อรวม 2,190,000 ล้านบาท โดยจัดเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ใน 5 อันดับแรกของธนาคารทั้งระบบในทุกด้านที่กล่าวมา นอกจากนั้น ในท่ามกลางวิกฤติที่สถาบันการเงินต่างระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมความเสี่ยง ในขณะที่ประชาชนและภาคธุรกิจต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ธนาคารออมสินได้เข้ามามีบทบาทในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบอย่างเต็มที่ โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 270,000 ล้านบาท และสามารถบริหารจัดการหนี้เสียอยู่ในระดับไม่เกิน 2% รวมถึงเพิ่มการกันสำรองส่วนเกิน (General Provision) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกกว่า 32,000 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) แข็งแรงถึง 205.15%

Advertising

สสว. เดินหน้า SME คนละครึ่ง สนับสนุนเงินแบบร่วมจ่าย ตั้งแต่ร้อยละ 50-80

People Unity News : บอร์ด สสว. เดินหน้า SME คนละครึ่ง สร้างทางเลือกให้เอสเอ็มอีพัฒนาธุรกิจตนเอง ให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น นายกฯย้ำเพิ่มประสิทธิภาพเอสเอ็มอี หาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าสู่ระบบ

วันนี้ (5 ก.ค.64) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดย นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุมดังนี้

นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต้องการให้ สสว. ปรับรูปแบบการทำงานให้ดีขึ้นให้มากที่สุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และให้มีผลสัมฤทธิ์ตามห้วงระยะเวลา โดยวันนี้ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมกับจะต้องปรับปรุงระบบ ระเบียบราชการต่างๆตามยุทธศาสตร์ชาติ บทบาทหน้าที่ของ สสว. ต้องมีงานบูรณาการเปิดช่องทางต่างๆให้คนเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ให้สอดประสานการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทั้งนี้ ระดับของ SME ในวันนี้มี 4 ระดับที่แตกต่างกัน คือ 1. SME ที่ดีที่สามารถส่งเสริมไปต่างประเทศ 2. SME ระดับปานกลาง ที่ต้องส่งเสริมให้ดีขึ้น 3. SME ส่วนที่กำลังจะล้ม ที่หากมีศักยภาพต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือ 4. SME ที่ล้มเหลว ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลของ SME ในส่วนนี้จากสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

นายกฯ ย้ำว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย ส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนได้ก็เพราะจาก SME จึงขอให้เน้นช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ถึงแม้ว่าจะมีคนที่อยู่ในระบบภาษีจำนวนน้อยก็ตาม แต่ผู้มีรายได้น้อย แรงงาน คนตัวเล็กทั้งหมดที่อยู่ในระบบนี้ จะต้องได้รับการดูแล มีอาชีพและมีรายได้ประจำวัน  ดังนั้น จะต้องหาแนวทางช่วยเหลือ SME ให้เข้าสู่ระบบ โดยหาเป้าหมายให้เจอว่า SME ที่จะช่วยเหลือนั้นอยู่ในกลุ่มใดบ้าง  ต้องหาช่องทางการได้ข้อมูลของ SME ในแต่ละกลุ่ม ต้องนำข้อมูล SME ของแต่ละกระทรวงมาพิจารณา เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนงานในแต่ละกระทรวง เพื่อเตรียมความพร้อมของ SME ในระดับปฏิบัติให้มีความพร้อม เพิ่มประสิทธิภาพของ SME และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต  หากทำได้ดีและเข้มแข็ง SME จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่สุด

สำหรับการประชุมในวันนี้ สสว. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินที่สำคัญของ สสว. ดังนี้

สสว. เสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยจะดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) หรือการจ่ายคนละครึ่งภาคเอสเอ็มอี เพื่อสร้างทางเลือกให้กับเอสเอ็มอีในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น โดย สสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 50-80

สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน 5 ด้าน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้านการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด ด้านการพัฒนาตลาดต่างประเทศ โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอีต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว. ซึ่งคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ในต้นปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ สสว. ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (SME Access) ซึ่ง SME Access จะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะเป็นการบูรณาการและอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีในการเข้าถึงงานบริการของ สสว. และหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ในที่เดียว เข้าถึงได้ทุกเวลา จากทุกสถานที่ ผ่านเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด โดยในปี 2564 สสว. เริ่มบูรณาการเชื่อมต่อระบบการให้บริการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเอสเอ็มอีที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN Access ซึ่งจะเป็นเว็บไซต์กลางของอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการรูปแบบต่างๆ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูลการค้าการลงทุน เทรนด์ของอุตสาหกรรม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพฤติกรรมผู้บริโภค เป็น “รายประเทศ” การขยายช่องทางการค้าการลงทุนผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน รวมถึง การดำเนินโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ (One Identification One SME – Phase I) โดย สสว. ได้หารือร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในประเด็นรหัสของเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมา สสว. ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการบนฐานข้อมูลสมาชิก สสว. โดยปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลประมาณ 1.2 ล้านรายที่ได้ลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On จะมุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐและเอกชนในทุกภาคส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

Advertising

ศุลกากรดีเดย์เปิดลงทะเบียนออนไลน์ให้ผู้นำเข้า-ส่งออกด้วยระบบ Customs Trader Portal

พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร

People Unity News : วันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) กรมศุลกากรได้เปิดระบบ Customs Trader Portal ให้ผู้นำเข้า- ส่งออก และยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ทันที สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรและธนาคารกรุงไทยได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบลงทะเบียนออนไลน์ Customs Trader Portal และยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยทุกสาขา ตู้เอทีเอ็มและแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้นำเข้าบุคคลธรรมดาที่สั่งของมาใช้เอง หรือนำมาจำหน่าย หรือเป็นสินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ไม่ต้องเดินทางมาที่จุดบริการศุลกากรหรือไม่ต้องให้ตัวแทนนำบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางตัวจริงมาแสดงที่จุดบริการศุลกากร ทำให้สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ออกประกาศฯ ที่ 94/2564 เรื่อง การลงทะเบียนผู้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรหรือดำเนินการในกระบวนการทางศุลกากร เพื่อรองรับระบบดังกล่าว

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนออนไลน์ในระบบ Customs Trader Portal สามารถเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ https://www.customstraderportal.com และเมื่อลงทะเบียนในระบบเรียบร้อย ท่านสามารถยืนยันตัวตนผ่านธนาคารกรุงไทยได้  3 ช่องทาง ได้แก่ 1. แอปพลิเคชันเป๋าตัง สามารถยืนยันตัวตนได้ทันที โดยเข้าไปที่เมนูยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. ตู้ ATM สีเทาของกรุงไทย 3,300 เครื่องทั่วประเทศ 3. สาขาของธนาคารทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง โดยเปิดให้บริการวันนี้ (1 กรกฎาคม 2564) เป็นต้นไป สอบถามข้อมูลการใช้งานระบบ Customs Trader Portal ได้ที่ฝ่ายทะเบียนผู้นำเข้าและส่งออก กรมศุลกากร โทร. 02-667-6488 หรือ 02-667-7802 หรือที่ www.customstraderportal.com และสอบถามข้อมูลการยืนยันตัวตนได้ที่ Krungthai Contact Center 02-111-1111

Advertising

 

ตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหารดีต่อเนื่อง

People Unity News : “จุรินทร์“ ประกาศตัวเลขส่งออก พ.ค. +41.59% สูงสุดในรอบ 11 ปี สินค้าเกษตร-อาหาร ดีต่อเนื่อง “สั่งพาณิชย์ลุยต่อ 5 แผนบุกตลาด”

24 มิถุนายน 2564 เวลา 9.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ประจําเดือนพฤษภาคม 2564 ณ ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 714,885.27 ล้านบาท ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 45.87% คิดเป็นมูลค่ารวม 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.64) ขยายตัวรวมกัน 10.78% หากหักน้ำมัน ทองคำ ยุทธปัจจัยออกจะบวกถึง 17.13% เหตุผลสำคัญมี 2 ข้อ คือ 1.เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เป็นต้น และ 2.เพราะแผนการส่งออกและภาคปฏิบัติจริงที่กระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาโดยต่อเนื่องและใกล้ชิดในช่วงที่ผ่านมาในรูป กรอ.พาณิชย์ ทำให้สามารถแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆได้รวดเร็วทันท่วงทีและมีการจัดทำแผนเชิงรุกร่วมกันในปี 2564 ที่มีเป้าหมายและรายละเอียดชัดเจนแต่ต้นทำให้ตัวเลขการส่งออกปีนี้ค่อยๆเป็นบวกตามลำดับ สำหรับตลาดสำคัญนั้นประกอบด้วย จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เอเชียใต้ อาเซียน เป็นต้น สินค้าที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าเกษตรและอาหาร สำหรับอาหารเฉพาะผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งซึ่งกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคบริเวณด่านชายแดนและด่านข้ามแดนเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผักผลไม้แช่เย็นแช่แข็งเป็นบวกถึง 31.9% โดยเฉพาะทุเรียนบวกถึง 95% และสินค้า Work from Home ผลิตภัณฑ์ป้องกันโควิด เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์เลี้ยงและรถยนต์ เป็นต้น

“สำหรับรถยนต์หลังจากที่ผมและกระทรวงพาณิชย์พยายามเจรจากับเวียดนามมาหลายครั้งตั้งแต่การประชุม RCEP และส่งผลให้ต่อมาเวียดนามปรับปรุงกฎระเบียบในการนำเข้ารถยนต์จากที่ต้องตรวจรถยนต์ที่นำเข้าจากไทยทุกล็อตที่ตรวจทั้งสองฝั่งเวียดนามยอมเปลี่ยนเป็นตรวจฝั่งใดฝั่งหนึ่งและสุ่มตรวจเท่านั้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามขยายตัวถึง  922% และส่งออกไปทั่วโลกขยายตัวถึง 170%” นายจุรินทร์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า แผนงานที่กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าต่อไปประกอบด้วย 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา 2.รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่องต่อไปโดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่านให้เปิดด่านเพิ่มขึ้นเป้าหมายระยะสั้นเร่งเปิดให้ได้อย่างน้อยเพิ่มอีก 11 ด่าน วันที่ 9-11 กรกฎาคมนี้ตนจะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาวซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะทะลุไปเวียดนามและไปจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น ที่จะเร่งรัดให้เปิดด่านเร็วขึ้น 3.เร่งส่งเสริมการส่งออกและการเจรจาการค้ารวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ต่อไป และเมื่อไหร่ที่ทำระบบออฟไลน์เพิ่มขึ้นได้จะเร่งดำเนินการให้ผสมผสานในรูปแบบไฮบริด 4.เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงสิงหาคม 5.เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทยเพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศแน่นอน

ด้านนายภูษิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า  นโยบายกระทรวงพาณิชย์ผลักดันในทุกทางช่องทางสำคัญทำให้ตัวเลขการส่งออกเป็นรูปธรรมและจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาพรวมตลาดสำคัญมีการขยายตัวในหลายประเทศ ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 39.9 โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 44.9 ร้อยละ 25.5 ร้อยละ 27.4 ตามลำดับ ตลาดสหภาพยุโรปและ CLMV ขยายตัวเร่งขึ้น ร้อยละ 54.9 และร้อยละ 46.8 ตามลำดับ ส่วนตลาดอาเซียนกลับมาขยายตัวร้อยละ 51.0 ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกนั้นคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่หลายประเทศเริ่มมีอัตราลดลงราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว เช่น ยางพารา ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สิ่งปรุงอาหาร อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งและแปรรูป รถยนต์อุปกรณ์กับส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์และทีม กรอ.พณ.จะได้กำหนดวันประชุมหารือร่วมภาครัฐกับเอกชน หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากต้องเดินหน้าผลักดันการส่งออกโดยแก้ไขปัญหาตามนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมทั้งเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มเติมและผลักดันการลงนามความตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์ MRA ของอาเซียนตามนโยบายต่อไป

Advertising

Verified by ExactMetrics