วันที่ 21 เมษายน 2025

ออมสินจัดใหญ่ ช่วยครูไม่ให้เป็น NPLs ออกมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ครู

People Unity News : ออมสินจัดใหญ่ “มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครู” ปูพรมช่วยครูและบุคลากรทางการศึกษา ยับยั้งสถานะลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPLs

14 มิ.ย.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงเวลากว่า 12 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน และกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันแก่ครูและบุคลากรทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่องหลายโครงการ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนหนึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลทางอ้อมต่อรายได้ครอบครัว

ธนาคารจึงเร่งจัดทำมาตรการแก้ไขหนี้ภายใต้แนวคิด มหกรรมผ่อนปรนการชำระหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อช่วยยับยั้งไม่ให้ต้องกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) จนเป็นเหตุให้อาจถูกดำเนินคดี ส่งผลเสียทางเครดิตและกระทบต่อหน้าที่ราชการได้ในอนาคต ทั้งนี้ ข้าราชการครู ลูกจ้างและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ตามแผนการชำระหนี้ที่ธนาคารกำหนด เป็นระยะเวลา 12 เดือน หรือนานที่สุดไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2566 โดยการเลือกแผนการชำระหนี้ตามความสามารถในการผ่อนชำระของตนเอง ผ่านแอป MyMo หรือที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ซึ่งเปิดให้แจ้งความประสงค์จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นี้เท่านั้น

สำหรับข้าราชการครูที่เกษียณอายุแล้ว และยังไม่เคยใช้สิทธิบำเหน็จตกทอดมาเป็นหลักประกันการกู้เงิน สามารถขอกู้สินเชื่อสวัสดิการสำหรับข้าราชการบำนาญฯ ที่ผ่อนปรนให้ใช้บำเหน็จตกทอดเป็นหลักประกันในการกู้ และนำเงินกู้ไม่ต่ำกว่า 50% ไปชำระหนี้เดิมกับธนาคารได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษคงที่ 2.00% ต่อปี นานถึง 10 ปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ให้วงเงินกู้ 100% ของเงินบำเหน็จตกทอด ผ่อนชำระนาน 30 ปี โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา หรือติดต่อสาขาที่ใช้บริการสินเชื่ออยู่

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เป็นต้นมา ธนาคารได้เน้นดำเนินการแก้ไขหนี้แก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการผ่อนชำระเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีผู้เข้ามาตรการแก้ไขหนี้กับธนาคารแล้วกว่า 6 แสนบัญชี วงเงินรวมกว่า 370,000 ล้านบาท โดยเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 1 แสนบัญชี วงเงินรวมกว่า 120,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่ facebook : GSB Society

Advertising

ออมสินเปิดให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ 6 มิ.ย.นี้

People Unity News : ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเผยยอดผู้กู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ช่วยรายย่อย อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 430,000 ราย เตรียมขยายให้ผู้ใช้ MyMo รายใหม่ยื่นกู้ได้ 6 มิ.ย.นี้

2 มิ.ย.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อตามมาตรการ “สินเชื่อสู้ภัย COVID-19” วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท ที่ผ่านมามีประชาชนให้ความสนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติสินเชื่อแก่ลูกค้าแล้วเป็นจำนวนกว่า 430,000 ราย ทั้งนี้ ร้อยละ 95 ของจำนวนที่อนุมัติดังกล่าว เป็นการอนุมัติโดยเกณฑ์ผ่อนปรน ซึ่งไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ในกรณีปกติ จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนธนาคารในการจัดทำมาตรการครั้งนี้

สำหรับลูกค้าที่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ กล่าวคือไม่ผ่านเกณฑ์ผ่อนปรนนั้น สาเหตุหลักเกิดจากผลการประเมินความเสี่ยงโดยหน่วยงานภายนอก ได้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา ทั้งนี้ หากลูกค้ายังมีความจำเป็นที่ต้องการสินเชื่อ อาจเลือกใช้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ที่ปัจจุบันธนาคารออมสิน ร่วมกับบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ เหลือเพียง 0.49% ต่อเดือนตลอดอายุสัญญา ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าโครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่มากนัก ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอสินเชื่อนี้ได้ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ธนาคารออมสิน 550 สาขา

อนึ่ง ธนาคารฯ ได้ปรับหลักเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 โดยให้ผู้ที่เปิดใช้ MyMo ก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2564 สามารถกดลงทะเบียนยื่นขอกู้ได้ ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป (ปรับจากเดิมที่กำหนดไว้เป็นก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2564) เพื่อขยายขอบเขตความช่วยเหลือครอบคลุมประชาชนที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิ์ขอกู้จะต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นคือ มีสัญชาติไทย อายุ 20 ปี – 70 ปี และไม่เป็นเกษตรกร หรือข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างในหน่วยงานของรัฐ โดยธนาคารฯเปิดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ได้ทางแอป MyMo จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ

Advertising

คลังแถลงโครงการเราชนะเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 255,516 ลบ. เอื้อผู้ประกอบการร้านค้า 1.3 ล้านกิจการ

People Unity News : 31 พ.ค.64 นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการดำเนินงานของโครงการเราชนะ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ดังนี้

1) ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้านคน ได้มีการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 96,377 ล้านบาท

2) ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 17.0 ล้านคน และมีการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นมา จำนวน 139,974 ล้านบาท

3) ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.4 ล้านคน มียอดใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์สะสมตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2564 เป็นต้นมา จำนวน 19,165 ล้านบาท

ทำให้มีมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 255,516 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 1.3 ล้านกิจการ

Advertising

ธอส.คว้า 4.8908 คะแนนผลประเมินการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 63 สูงสุดในรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ คว้าคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 2563 ที่ 4.8908 คะแนน สูงสุดใน 9 สาขา ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประกาศผลคะแนนประเมินผลล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564

29 พ.ค.64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประกาศคะแนนประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ ปี 2563 ตามระบบประเมินผลรัฐวิสาหกิจ State Enterprise Assessment Model : SE-AM ซึ่งผลปรากฏว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับผลการประเมินที่ 4.8908 คะแนน สูงสุดในทุกสาขาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 51 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564) สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเลิศของระบบการบริหารจัดการองค์กรของธนาคารที่สามารถตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ธนาคารตามพันธกิจ “ทำให้  คนไทยมีบ้าน” ภายใต้แนวคิดหลัก “Be Simple, Make it Simple” หรือทำให้คนไทยมีบ้านได้ง่ายๆ ด้วยการทำงานที่ทุ่มเทของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของธนาคารทั้ง 5,000 คน แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ธนาคารยังคงช่วยให้ประชาชนมีบ้านได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากสินเชื่อปล่อยใหม่สูงที่สุดในรอบ 67 ปี จำนวน 225,151 ล้านบาท 140,386 บัญชี ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 4.57% และสูงกว่าเป้าหมายถึง 15,791 ล้านบาท พร้อมกับช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากปัญหา COVID-19 ผ่าน 10 มาตรการ ลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า ซึ่งมีจำนวนผู้ที่เข้ามาตรการสูงสุด 687,489 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 576,139 ล้านบาท

สำหรับในปี 2563 สคร. ได้นำระบบ SE-AM ซึ่งเป็นระบบการประเมินรูปแบบใหม่มาใช้กับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจรวมถึง ธอส. เป็นปีแรก เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจตอบสนองกับสภาพแวดล้อมในการดำเนินภารกิจ/ธุรกิจ การแข่งขัน ความต้องการของผู้ใช้บริการ และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคะแนนประเมินผลรวมของธนาคารที่ 4.8908 คะแนนนั้น มาจากการประเมินผลการดำเนินงาน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การดำเนินงานตามนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ผลประเมิน 5 คะแนนเต็ม 2.ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ผลประเมิน 4.7578 คะแนน และ 3.การบริหารจัดการองค์กร 8 ด้าน (Core Business Enablers) ได้แก่ ด้านการกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ด้านการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายใน ด้านการมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการบริหารทุนมนุษย์ ด้านการจัดการความรู้และนวัตกรรม และด้านการตรวจสอบภายใน ผลประเมิน 4.9873 คะแนน ซึ่งถือเป็นการยกระดับคะแนน Core Business Enablers ทั้ง 8 ด้าน ได้สูงสุดถึง 0.5094 จากคะแนนประเมิน Base Line

ทั้งนี้ สคร. นำระบบประเมินผลและจัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามและกำกับดูแลประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยแบ่งกลุ่มรัฐวิสาหกิจในการกำกับดูแลแยกออกเป็น 9 สาขา ได้แก่ สาขาขนส่ง สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม สาขาสาธารณูปการ สาขาสังคมและเทคโนโลยี สาขาสถาบันการเงิน สาขาเกษตร สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สาขาสื่อสาร และสาขาพลังงาน

Advertising

พักชำระเงินต้นยาวถึงสิ้นปี!! ด่วนออมสินอัดมาตรการใหม่ล่าสุดช่วยธุรกิจ SMEs ลดภาระค่าใช้จ่าย

People Unity News : พักชำระเงินต้นยาวถึงสิ้นปี!! ออมสินออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ลดภาระค่าใช้จ่าย โดยให้พักชำระเงินต้นจนถึง 31 ธันวาคม 2564

12 พ.ค.64 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินดำเนินการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารฯจึงกำหนดมาตรการพักชำระเงินต้น – ชำระเฉพาะดอกเบี้ย ให้ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ทั้งที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการได้ตามความสมัครใจ เช่นเดียวกับลูกค้ารายย่อย ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายรายเดือนของผู้ที่ต้องขาดรายได้หรือรายได้ลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับผู้ที่เป็นลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs และสมัครใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถพักชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว และชำระเฉพาะดอกเบี้ย ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยลูกค้าสามารถแจ้งความประสงค์ได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 วิธีการคือ

1.ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 10 ล้านบาท ให้แจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการและเลือกแผนชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo

2.ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดา มีวงเงินกู้คงเหลือมากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท และนิติบุคคลที่มีวงเงินกู้คงเหลือไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้ติดต่อแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการเสริมจากการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ ที่ธนาคารฯได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามงวดชำระเดิม โดยที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วมากกว่า 5 แสนราย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center ธนาคารออมสิน โทร. 1115  facebook : GSB Society และขอย้ำว่าธนาคารฯ ให้บริการทางการเงินรูปแบบดิจิทัลทางแอปพลิเคชัน MyMo เท่านั้น

Advertising

จัดเต็ม!ครม.ออกมาตรการทั้งเร่งด่วนและระยะที่ 2 เยียวยาประชาชน พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจ

People Unity News : ครม. ไฟเขียว มาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ลดค่าประปา-ไฟฟ้า พร้อมเพิ่มวงเงินโครงการ “เราชนะ” และ “ม.33 เรารักกัน” เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งออกมาตรการทางการเงิน และมาตรการทางภาษี

5 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงถึงการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ผ่านมาได้ออกมาตรการจำนวนมาก อาทิ โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน อาทิ มาตรการสินเชื่อ พักทรัพย์ พักหนี้ และมาตรการทางภาษี การลดภาษี และมาตรการอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกิดผลกระทบกับพี่น้องประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลังและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเร่งพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนเพิ่มเติมโดยเร่งด่วน โดยสรุปได้เป็นมาตรการ ดังต่อไปนี้

มาตรการระยะที่ 1 ประกอบด้วย  3 มาตรการหลักที่สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่

1) มาตรการด้านการเงิน มี 2 มาตรการ คือ  (1.1) มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ยร้อยละ 0.35 ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก และ (1.2) มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือ SFIs โดยให้ SFIs ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระ และสามารถนำเงินที่จะต้องชำระหนี้ไปเป็นเสริมสภาพคล่อง ซึ่งจะจากผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อดูแลลูกหนี้ได้อย่างเหมาะสม

2) มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย โดยภาครัฐจะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาของประชาชน และกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและกิจการที่ถูกปิด

3) มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่การเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 67,000 ล้านบาท และ การเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือนมิถุนายน 2564 วงเงินรวมประมาณ 18,500 ล้านบาท

มาตรการระยะที่ 1 นั้น ในวันนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ พร้อมเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปา และไฟฟ้า ในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 สำหรับการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งนำเสนอโครงการให้พิจารณาตามขั้นตอนเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. โดยการขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดออกไปจนสิ้นปี 2564 และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ซึ่งจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน

นายกรัฐมนตรีเผยว่านอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว  รัฐบาลยังได้วางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ด้วยมาตรการระยะที่ 2 ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ซึ่งคาดว่าถ้าทุกคนร่วมมือกันเพื่อจำกัดการระบาดอย่างเต็มที่ สถานการณ์การระบาดน่าจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการในระยะที่ 2 ได้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก กรอบวงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท ได้แก่

1.มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 13.6 ล้านคน และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2.5 ล้านคน

2.มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการที่ประชาชนมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว และเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากได้โดยตรง และโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นโครงการใหม่ โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) ให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เมื่อชำระเงินผ่าน g-Wallet บนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” กับผู้ประกอบการร้านค้าและบริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” ที่เข้าร่วมโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่ายและสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ มาตรการในระยะที่ 2 ทั้ง 4 โครงการ จะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีโอกาสในการขายสินค้า และบริการได้มากยิ่งขึ้น โดยมาตรการในระยะที่ 2 นี้ คณะรัฐมนตรีได้รับทราบในหลักการ พร้อมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าทั้งหมดนี้คือการดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและ ศบค. ในการบริหารจัดการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด ทั้งด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีและในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะไม่หยุดในการคิดและทำเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกคนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของเราทุกคน ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง แข็งแรงและยั่งยืน

Advertising

BOI เผยลงทุนไตรมาสแรกปี 64 กว่า 1.2 แสนล้านบาท “การแพทย์ – อิเล็กทรอนิกส์” มาแรง

People Unity News : บีโอไอเผยภาวะการลงทุนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ยอดขอรับส่งเสริมรวมกว่า  1.2 แสนล้านบาท เติบโตจากไตรมาสแรกปีก่อนมากถึงร้อยละ 80 พบกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์เติบโตท่ามกลางสถานการณ์โควิด ขณะที่ EEC ยังคงเนื้อหอมเป็นพื้นที่เป้าหมายหลักของนักลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า การลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโตร้อยละ 14 และมูลค่าเติบโตร้อยละ 80

กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830ล้านบาท โดย 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าในหมวดการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวต่อเนื่องจากผลของ Work From Home ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานในยุคเชื้อโควิดระบาด และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ยังมีอย่างต่อเนื่อง” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 143 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยอันดับประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยแบ่งเป็นมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

Advertising

“ประยุทธ์” สั่งประเมินผลกระทบหลังออกมาตรการคุมโควิด-19 เพื่อเตรียมเยียวยาประชาชน

People Unity News : นายกฯ มอบหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบหลังออกมาตรการคุมโควิด-19 เสนอ ศบศ. ออกแนวทางเยียวยาประชาชน

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.64 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำชับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกระดับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เพื่อกำหนดแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชน รวมถึงแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยให้เตรียมความพร้อมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 หรือ ศบศ. ซึ่งจะมีขึ้นในเร็วๆนี้

“นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามและประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จากการออกมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นที่มีการปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ฯลฯ ทั่วประเทศ กระทั่งมาถึงมาตรการล่าสุดที่เน้นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด รวมกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้ก่อนออกมาตรการต่างๆจะได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน แต่ก็ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งประเมินผลหลังมีมาตรการออกไปแล้วเพื่อกลั่นกรองเป็นแนวทางการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว” น.สไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความห่วงใยประชาชน ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงและได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยได้ขอให้กระทรวงอื่นๆได้เตรียมความพร้อม สำหรับมาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชนด้วย เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีมาตรการช่วยลดค่าครองชีพ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ รวมถึงแก๊ส ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน โดยมาตรการเยียวยาต่างๆจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ รัดกุม และรวดเร็ว ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมที่สุด พร้อมกับมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของระบาดรอบนี้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด โดยเวลานี้ขอความร่วมมือทุกคน ให้ช่วยกันป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งเมื่อสถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายโดยเร็ว ประชาชนก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว

Advertising

นายกฯย้ำกับบอร์ดอีอีซี ให้เน้นกระจายการลงทุนในพื้นที่ EEC

People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำบอร์ดอีอีซี เน้นกระจายการลงทุนในพื้นที่ EEC ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก เชื่อมโยงทุกระเบียงเศรษฐกิจในประเทศสู่สากล

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.64) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บรูพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนใน อีอีซี ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ก็มีความก้าวหน้าการเตรียมพื้นที่โครงการ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งานรื้อย้ายสาธารณูปโภค เร็วกว่าเป้าหมาย

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC เพื่อติดตามความก้าวหน้ามีผลปรากฏออกมาเป็นรูปธรรม แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด – 19 ขณะนี้มีการลงทุนในด้านต่างๆกว่าร้อยละ 50 วันนี้มีประเทศญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์และอีกหลายประเทศกำลังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งอุตสาหกรรมดิจิตอล 5G ที่ไทยทำได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียน โดยมีการลงทุนในโครงสร้างและมีการใช้งานแล้วในอำเภอบ้านฉาง รวมทั้งเตรียมพร้อมระบบ Cloud และระบบต่างๆสำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้มีการใช้แพลตฟอร์มต่างๆด้วย เพื่อลดภาระต้นทุน สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องส่งมอบให้กับการดำเนินการสาธารณูปโภคพื้นฐาน พร้อมย้ำรัฐบาลเผชิญหน้าอุปสรรคและเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำแนวทางสำคัญในการสร้างความสมดุลการลงทุน เน้นเปิดกว้างให้เกิดการกระจายการลงทุนจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีความรู้ ดึงความชำนาญและนวัตกรรมจากทั่วโลก โดยเฉพาะการลงทุนในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับการพัฒนา ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Startup ไทยที่มีศักยภาพ เพื่อให้เม็ดเงินถูกดึงออกมาใช้ลงทุนช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งทุกโครงการต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส  มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังสั่งการให้ EEC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ข้อมูลเพิ่มเติมทุก 1-3 เดือน เพื่อให้นักลงทุนต่างๆ และประชาชน รับทราบถึงการลงทุนในระยะต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะอีอีซีเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างอนาคตให้กับประเทศไทย

สำหรับการประชุมบอร์ดอีอีซีวันนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าโครงการ EFC ขับเคลื่อนห้องเย็นทันสมัย ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัยสำหรับผลไม้ อาทิ ทุเรียน และอาหารทะเล โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 – 30 สร้างรายได้ดีต่อเนื่องให้เกษตรกร รวมทั้งความก้าวหน้าพัฒนา 5G ในอีอีซี ก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านสัญญาณ ด้านข้อมูลกลาง จะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) รวมทั้งการผลักดันให้บ้านฉางเป็นต้นแบบชุมชนอนาคต (Smart city) ทั้งการใช้เทคโนโลยี 5G ดิจิทัลเพื่อการเกษตรอัจฉริยะ และการดูแลสุขภาพชุมชน  ร่วมมือพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) แหลมฉบังด้วย

Advertising

ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติ ครม.

People Unity News : ออมสิน เปิดให้กู้สินเชื่อ “SMEs มีที่ มีเงิน” ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ตามมติ ครม. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปีแรกดอกเบี้ยต่ำ 0.10% ลงทะเบียนยื่นกู้ทาง www.gsb.or.th เริ่ม 18 กุมภาพันธ์ 2564

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักหลังจากการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)  เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินเพิ่มเติม เพื่อเยียวยาและเพิ่มสภาพคล่องสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมอบหมายธนาคารออมสินจัดทำโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดรับลงทะเบียนขอกู้ทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถใช้ที่ดินเปล่า หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อนำเงินกู้ไปใช้เสริมสภาพคล่องให้กิจการ หรือเพื่อไถ่ถอนที่ดินซึ่งทำสัญญาขายฝากกับเอกชนไว้ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 โดยธนาคารฯให้วงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 70% ของราคาประเมินที่ดินราชการ ระยะเวลากู้ 3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย = 0.10% ต่อปี ปีที่ 2 = 0.99% ต่อปี และปีที่ 3 = 5.99% ต่อปี กรณีบุคคลธรรมดาจำนวนเงินให้กู้ 1-10 ล้านบาท นิติบุคคลจำนวนเงินให้กู้ 1-50 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเงื่อนไขการขอสินเชื่อได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th

“สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ของธนาคารออมสิน เริ่มเปิดให้กู้ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563 มีแนวคิดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ขาดสภาพคล่องในการทำธุรกิจ หรือมีความเสี่ยงสูญเสียที่ดินติดสัญญาขายฝากอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ได้เตรียมวงเงินโครงการเริ่มแรก 5,000 ล้านบาท ต้องขยายเพิ่มเติมเป็น 10,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนขอกู้จนเต็มวงเงินในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับวงเงินใหม่ 10,000 ล้านบาทนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล โดยธนาคารจะพิจารณาให้กู้จากคุณภาพของหลักประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

Advertising

Verified by ExactMetrics