วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

“พุทธิพงษ์” ถกบิ๊กเอกชน-รัฐวิสาหกิจด้านไอที หาแนวทางความร่วมมือสร้างงานให้คนไทยทำ

People Unity News : 9 พฤษภาคม 2563 ที่อาคารดีป้า ลาดพร้าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือภาคเอกชน-รัฐวิสาหกิจหาแนวทางความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ว่างงานนัดแรก หวังช่วยให้ประชาชนไทยมีงานทำ หลังสิ้นสุดวิกฤต COVID-19 พร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจ-สังคมดิจิทัล และสภาวะ New Normal

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ประชุมหารือแนวทางความร่วมมือในการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ว่างงานจากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ครั้งที่ 1ร่วมกับคณะผู้บริหารจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจ รวม 19 บริษัทวานนี้ ประกอบด้วย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บริษัท เดลล์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เด็นโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)(DTAC) บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป

โดย นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือใน 3 ประเด็นหลักคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้ว่างงาน พนักงานที่ถูกลดค่าตอบแทน และนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานหรือเริ่มประกอบธุรกิจ อีกทั้งการพัฒนา National Digital Workplace Platform ซึ่งดีป้าจะเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการพัฒนาระบบ พร้อมร่วมมือกับบริษัทด้านดิจิทัลในการจับคู่งาน (Matching) กับผู้ที่ต้องการงาน ทั้งในรูปแบบ Digital Supporter (Non-technical) ไปจนถึง Programmer และ Data Scientist ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการนำส่งข้อมูลตำแหน่งงานว่างด้านดิจิทัล และนอกเหนือจากดิจิทัล เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยบริษัทจะมีสิทธิ์ในการเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติและคัดเลือกผู้สมัครด้วยตนเอง

ประเด็นถัดมาคือ การช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านต่างๆ เพิ่มเติม Reskill และ Upskill เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด รองรับการก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รวมถึงสภาวะ New Normal โดยดีป้าจะดำเนินการช่วยเหลือและประสานงานกับบริษัทด้านดิจิทัลในการพัฒนาหลักสูตร และมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประเด็นสุดท้ายคือข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ โดยคณะผู้บริหารจะนำผลการประชุมครั้งนี้กลับไปหารือและนำข้อสรุปกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งหลังจากนี้

ด้าน ดร.ณัฐพลกล่าวว่า ดีป้าคาดหวังว่า การประชุมนัดแรกในวันนี้จะส่งผลให้คน IT คน Non IT รวมถึงผู้ที่ต้องการยกระดับทักษะเพื่อประกอบอาชีพใหม่มีช่องทางการหางานผ่านแพลตฟอร์มที่รัฐและเอกชนบูรณาการการทำงาน โดยมี ดีป้า เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งในเรื่องของการสร้างสังคมดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนไทยสามารถปรับตัวรับยุค New Normal และสามารถสืบค้นงานที่ตรงตามความเชี่ยวชาญและทักษะที่เปลี่ยนไปได้

โฆษณา

แบงก์ชาติเผยลูกหนี้ SMEs ได้รับการช่วยเหลือสินเชื่อ soft loan รอบแรกกระจายตัวดี

People Unity News : ธปท. เผยลูกหนี้ SMEs ได้รับการช่วยเหลือสินเชื่อ soft loan รอบแรกกระจายตัวดี

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้แจ้งข้อมูลการให้สินเชื่อ soft loan ของ ธปท. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ว่า มีลูกหนี้ได้รับสินเชื่อ soft loan จำนวน 16,326 ราย วงเงินรวม 22,788 ล้านบาท นั้น ขอแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สินเชื่อมีการกระจายตัวค่อนข้างทั่วถึงโดยไม่ได้กระจุกตัวแก่ลูกหนี้กลุ่มใดเป็นพิเศษ และกระจายไปในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กในหลายอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

โดย 76% ของ SMEs ที่ได้รับ soft loan เป็น SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาท (วงเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ทั้งนี้ คาดว่าในสัปดาห์ต่อไปจะมีสถาบันการเงินยื่นคำขอสินเชื่อมาเพิ่มอีก ซึ่งจะทำให้สามารถเร่งช่วยเหลือ SMEs ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

โฆษณา

ครบ 1 เดือนมาตรการเยียวยา 5,000 บาท มีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 10.6 ล้านราย โอนเงินแล้ว 7.5 ล้านราย

People Unity News : ความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังดำเนินการมาแล้วครบ 1 เดือน มีจำนวนการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28.8 ล้านรายการ (ปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) ในจำนวนนี้เมื่อหักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกแล้ว คงเหลือผู้ลงทะเบียน 24 ล้านราย

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท หลังดำเนินการมาแล้วครบ 1 เดือน มีจำนวนการลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 28.8 ล้านรายการ (ปิดรับลงทะเบียนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563) ในจำนวนนี้เมื่อหักการลงทะเบียนซ้ำหลายครั้งออกแล้ว คงเหลือผู้ลงทะเบียน 24 ล้านราย โดยพบว่าเป็นผู้ไม่ผ่านการยืนยันตัวตนจากฐานข้อมูลของกรมการปกครอง 1.7 ล้านราย คงเหลือผู้ลงทะเบียนที่เข้าสู่ขั้นตอนการคัดกรองตามหลักเกณฑ์จำนวน 22.3 ล้านราย

กระทรวงการคลังได้ใช้ฐานข้อมูลและระบบการคัดกรองคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนแล้วพบว่ามีผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติจะได้รับสิทธิ เนื่องจากมีสิทธิหรือเข้าข่ายจะได้รับสิทธิเยียวยาจากรัฐบาลผ่านทางกลไกอื่นอยู่แล้ว แบ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตรกรตามฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร 4.2 ล้านราย เป็นข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ หรือผู้รับเบี้ยหวัดและผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิชดเชยรายได้ในระบบประกันสังคม 1.1 ล้านราย และมีผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9.5 แสนราย

ดังนั้น จึงมีผู้ที่เข้าข่ายสามารถได้รับสิทธิการชดเชยรายได้ตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 16 ล้านราย ซึ่งเป็นผู้ผ่านเกณฑ์แล้วจำนวน 10.6 ล้านราย และกระทรวงการคลังได้โอนเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับสิทธิส่วนใหญ่จำนวน 7.5 ล้านรายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 เมษายนถึงวันที่ 29 เมษายน 2563 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 จะมีการโอนเงินเยียวยาผู้ได้รับสิทธิอีก 4.8 แสนราย ส่วนที่เหลืออีก 2.6 ล้านราย จะเร่งโอนให้ภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2563 กลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาของรอบเดือนเมษายนด้วยรวมเป็น 2 เดือน โดยขอให้ตรวจสอบสถานะล่าสุดได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2563 เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป หากได้รับสิทธิจะพบข้อความว่า “ท่านได้รับสิทธิมาตรการเยียวยา 5,000 บาท กระทรวงการคลังจะดำเนินการโอนเงินให้ท่านโดยเร็วที่สุด”

สำหรับกลุ่มที่ขอข้อมูลการประกอบอาชีพเพิ่มเติมยังคงเหลือผู้ที่ไม่มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1 ล้านราย โปรดมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิจากมาตรการเยียวยาอย่างรวดเร็ว และสำหรับผู้ที่ขอทบทวนสิทธิจำนวน 3.5 ล้านราย ทีมผู้พิทักษ์สิทธิอยู่ระหว่างการลงพื้นที่เพื่อยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการให้ทราบผลโดยเร็วต่อไป

โฆษณา

ททท.ชวนท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี “Virtual Tours” ช่วงกักตัวอยู่บ้าน

People Unity News : ททท. ชวนสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี “Virtual Tours” 10 ที่ 9 จังหวัดทั่วไทยในช่วงระหว่างกักตัวอยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

กองสารสนเทศการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ นำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาผนวกกับการเดินทางท่องเที่ยว (Virtual Tours) พาชมสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของ ททท. ในช่วงระหว่างกักตัว อยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกและของไทย ทำให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด คือ อยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวตามปกติได้ ททท. จึงได้นำเทคโนโลยี ทัวร์เสมือนจริง (Virtual Tours) ที่สามารถนำเสนอประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยพานักท่องเที่ยวสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายประสบการณ์เสมือนจริงที่ได้เข้าไปเดินท่องเที่ยวอยู่ในสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ด้วย Virtual Tours to 10 places in 9 provinces นำเสนอแหล่งท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดทั่วประเทศไทย ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ วัดศรีชุม จ.สุโขทัย คุ้มเจ้าหลวง จ.แพร่ วัดนันตาราม จ.พะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ปราสาทสด๊กก๊อกธม จ.สระแก้ว ปราสาทหินพิมาย จ. นครราชสีมา ภาคตะวันออก ได้แก่ อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี ภาคกลาง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ และพระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี วัดบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม และ ภาคใต้ ได้แก่ วังเจ้าเมืองพัทลุง จ.พัทลุง บ้านท่านขุน วัดมหาธาตุ และบ้านหนังตะลุง จ.นครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม Virtual Tours to 10 places in 9 provinces ได้ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ www.tourismthailand.org  Facebook page : Amazing Thailand และ Twitter @ThailandFanClub และ @go2Thailand  อีกทั้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองสารสนเทศการตลาด ททท. โทร. 02-250-5500 ต่อ 2842

โฆษณา

ออมสิน จับมือ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รับขึ้นเงินรางวัลสลากฯ เริ่มงวดแรก 16 พ.ค.นี้

People Unity News : ธนาคารออมสิน ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้บริการรับขึ้นเงินรางวัลสลากฯ ให้กับประชาชนและผู้รับซื้อ ทุกรางวัล ยกเว้นรางวัลที่ 1 คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 ผ่านธนาคารออมสิน 1,062 สาขาทั่วประเทศ เริ่มงวดแรก 16 พฤษภาคมนี้

วันนี้ (27 มีนาคม 2563) ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานกรรมการธนาคารออมสิน และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการขึ้นรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ระหว่าง ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และ พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งธนาคารออมสินจะเป็นตัวแทนในการให้บริการรับขึ้นเงินรางวัล ผ่านธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถูกรางวัลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯพร้อมเป็นตัวแทนสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในการให้บริการรับขึ้นเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ผ่านช่องทางธนาคารออมสินสาขาทั่วประเทศ ที่มีอยู่กว่า 1,062 แห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนผู้ถูกรางวัล และผู้รับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล/สลากการกุศล สามารถขึ้นเงินรางวัลได้ง่าย และสะดวกสบายขึ้น นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยสูง เพราะสามารถฝากเงินเข้าบัญชี เพื่อทำธุรกรรมอื่นๆของธนาคารได้ทันที รวมถึงสาขาของธนาคารออมสินทุกแห่ง สามารถตรวจสอบสลากฯด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันปัญหาการปลอมแปลง

ทั้งนี้ การขอรับขึ้นเงินรางวัล ผู้ถูกรางวัลจะต้องนำสลากกินแบ่งรัฐบาล/สลากการกุศล ฉบับจริง มาติดต่อด้วยตนเองที่ธนาคารออมสินสาขา โดยธนาคารจะรับขึ้นเงินทุกรางวัล ยกเว้นรางวัลที่ 1 และรับเฉพาะสลากงวดปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งสามารถขึ้นรางวัลได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันออกรางวัลในงวดนั้น ไปจนถึงเวลา 12.00 น. ของวันออกรางวัลในงวดถัดไป โดยจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่ารางวัลแต่ละรางวัล และค่าอากรแสตมป์ ร้อยละ 0.5 – 1.0 ของมูลค่ารางวัล ตามประเภทของสลาก รวมเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.5 – 2.0 ของมูลค่ารางวัล ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการขึ้นรางวัลสลากฯ ได้ตั้งแต่งวดแรกวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ตามสื่อประชาสัมพันธ์ของธนาคารออมสินทุกช่องทาง ได้แก่ Website : www.gsb.or.th, Line Official, Facebook : GSB Society หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธนาคารออมสิน Call Center โทร.1115

พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สำนักงานสลากฯ มีตัวแทนให้บริการรับขึ้นเงินรางวัล ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย จากเดิมสามารถขึ้นเงินรางวัลได้ที่สำนักงานสลากฯ ถนนสนามบินน้ำ จังหวัดนนทบุรี เพียงแห่งเดียว หรือตามแผงลอตเตอรี่และร้านค้าบางแห่ง ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมสูงถึงร้อยละ 2-5 สำหรับความร่วมมือนี้ในครั้งนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถูกรางวัลมีทางเลือกมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าธรรมเนียมที่ถูกเรียกเก็บเมื่อนำสลากไปขึ้นเงินรางวัลที่แผงลอตเตอรี่หรือร้านค้าบางแห่ง และสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการนำสลากฯปลอมมาขึ้นเงินรางวัลได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากสาขาของธนาคารออมสินมีมาตรฐานในการตรวจสอบสลากฯที่ดี มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดี

โฆษณา

“บิ๊กตู่” จะผลักดันเอสเอ็มอีไทยสู่ตลาดออนไลน์ ยืนยันพัฒนาระบบภาษีเพื่อความเป็นธรรม

People Unity News : นายกรัฐมนตรีจะผลักดันเอสเอ็มอีไทย สู่ตลาดออนไลน์ ยืนยันพัฒนาระบบภาษีเพื่อสร้างความเป็นธรรม

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 เวลา 14.10 น. ณ อาคารรัฐสภา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า จะผลักดันเอสเอ็มอีไทย สู่ตลาดออนไลน์ โดยนายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณีรัฐบาลจีนเปิดสินค้าออนไลน์เสรี รัฐบาลมีแนวทางให้การอบรม ให้การเรียนรู้ผู้ประกอบการ ถ้าให้อย่างเดิม ช่วยทุกอย่างจะเป็นยาชาหรือยาพิษ ฉะนั้นต้องร่วมมือพัฒนาร่วมกัน ปฏิรูปร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อย เอสเอ็มอีต่างๆ โดยวันนี้มีการพัฒนารูปแบบตลาดออนไลน์มากขึ้นทั้งในส่วนของสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน มีกองทุนชุมชน กองทุนการเงินประชาชน ที่กำลังดำเนินการอยู่

สำหรับการปรับปรุงระบบภาษี นายกรัฐมนตรียืนยันว่าไม่ต้องการไปรีดภาษีใคร ถ้าไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็มีการดูแลอย่างหนึ่ง เมื่อเสียภาษีได้ก็ต้องช่วยกันดูแลเสียภาษี ตนไม่เคยบอกว่าประชาชนไม่เสียภาษี ภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนใหญ่ก็กลับเข้ามาสู่เรื่องงบท้องถิ่น ซึ่งได้จำนวนไม่ถึง 100,000 ล้านบาท แต่ใช้งบประมาณท้องถิ่นประมาณ 400,000 ล้านบาท จึงใช้งบกลางมาสนับสนุน 300,000 ล้านบาท ฉะนั้น ต้องทำให้ท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น และต้องมีการพัฒนาระบบภาษี รัฐบาลกำลังพัฒนาปรับปรุง ต้องทำให้ทุกคนเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ เป็นพลเมืองที่ถูกกระตุ้นด้วยตัวของเขาเอง ขณะเดียวกันก็ต้องมีการช่วยเหลือตามสมควร

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องการลงทุน ยืนยันว่ารัฐบาลก่อนและรัฐบาลนี้ไม่ต้องการสนับสนุนการทำผิดกฎหมายแม้แต่นิดเดียว การอนุมัติเห็นชอบก็เสนอมาจากคณะกรรมการหลายๆส่วน ตนขอยืนยันในคณะรัฐมนตรีและตนเชื่อมั่นในข้าราชการ ฉะนั้น การที่จะอ้างจากโน่นจากนี่ก็ไม่เป็นธรรมกับตนมากนัก ทั้งนี้ ตนเป็นคนริเริ่ม Big Data ให้ทุกคนไปทำ Big Data เพื่อมาใช้ประโยชน์ โดย Big Data มาจาก 3 ส่วน คือรัฐบาล โซเชียลมีเดีย และจากการเยี่ยมเยียนประชาชน ถือเป็นฐานข้อมูลที่รัฐบาลมี จำนวนคนก็ยังมีการแยกประเภท แยกรายได้ ว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ไม่ใช่การเหมาจ่ายทั้งหมดด้วย

โฆษณา

ไบโอเทค เปิดตัวข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ สะเทินน้ำสะเทินบก สายพันธุ์แรกของไทย

People Unity News : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนา ข้าวหอมนาคาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และทนโรค ถือเป็น ข้าวเหนียวสะเทินน้ำสะเทินบกสายพันธุ์แรกของไทย

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวที่พี่น้องชาวนาต้องเผชิญ คือ ‘ข้าวล้ม’ เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนมาแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหนแล้ง ‘ขาดน้ำ’ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ ‘โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง’ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของคนทำนา เพราะชะตาชีวิตต้องแขวนอยู่บนปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ นักวิจัยไทยจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

“จนในปีที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับนายศรีสวัสดิ์ ขันทอง และคณะวิจัย นำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม มาศึกษาและพัฒนาพันธุกรรมของข้าวเหนียวไทย เพื่อชูยีนเด่น ลดยีนด้อย ผ่านการผสมและคัดเลือกพันธุ์อย่างเหมาะสม จนได้ผลงานข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ ที่สามารถจมอยู่ในน้ำได้นาน 1 – 2 สัปดาห์ และทนทานต่อการขาดน้ำในบางระยะของการปลูกข้าว สอดรับกับสภาพพื้นที่ และยังทนทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ชาวนาสูญเสียผลผลิตอีกด้วย ข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ตลอดปี เพราะเป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130 – 140 วัน โดดเด่นด้วยลักษณะลำต้นไม่สูง เก็บเกี่ยวง่าย สามารถเก็บได้ด้วยเครื่องทุ่นแรง สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800 – 900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700 – 800 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากเดิมที่มักมีผลผลิตเพียง 400 – 500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในด้านกระแสตอบรับจากผู้บริโภค ข้าวเหนียวหอมนาคาเป็นที่ชื่นชอบ เพราะเมื่อนำมานึ่งรับประทาน ข้าวมีความหอมและนุ่ม ถูกปากคนไทย อีกทั้งเมื่อหยิบทานข้าวจะไม่ติดมือ วางตั้งทิ้งไว้ข้าวก็ไม่แข็ง และนำไปอุ่นซ้ำข้าวก็ไม่เละ ถือเป็นความโดดเด่นทางพันธุกรรม”

ดร.ธีรยุทธ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ คณะวิจัยตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้เรื่องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวนาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง ลดการพึ่งพิงรัฐหรือนายทุน ในด้านการค้าคณะวิจัยได้เจรจากับโรงสี ถึงข้อเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้เพื่อให้เกิดการรับซื้อไปจำหน่ายต่อ ซึ่งโรงสีค่อนข้างให้ความสนใจ นอกจากนั้นผลจากการทดสอบเรื่องการแปรรูป ข้าวเหนียวสามารถพองตัวเป็นข้าวพองได้ดี จึงอยู่ในช่วงของการเจรจาให้โรงงานได้ลองนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารแปรรูป ส่วนสุดท้ายคือทางด้านผลกำไรจากการขายข้าวที่ชาวนาจะได้รับ คณะวิจัยมีความเห็นว่าราคาข้าวน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทั่วไปของตลาด เพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง เพราะกำไรที่ชาวนาจะได้เพิ่มมาจากปริมาณผลผลิตที่ได้มากขึ้นจากแต่ละรอบการปลูก และปริมาณการใช้ยาและสารเคมีที่ลดลงอยู่แล้ว การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวครั้งนี้ ถือเป็นผลงานสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยกระดูกสันหลังของชาติฝ่าฟันอุปสรรคในการทำการเกษตร ท่ามกลางสถานการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวน

โฆษณา

Startup ไทยเตรียมเฮ “พุทธิพงษ์” ชักชวน Amazon Web Services สนับสนุน Startup ไทย

People Unity News : Startup ไทย เตรียมเฮ รมว.ดีอีเอส ชักชวน Amazon Web Services ร่วมสนับสนุน Startup ไทย

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะฯ ได้เดินทางเข้าหารือความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของ Amazon Web Services (AWS) ณ สำนักงานใหญ่ Amazon Seattle สำหรับ AWS มีความถนัดในเรื่องระบบ cloud ซึ่งมีระบบสนับสนุนหลายระบบ รวมถึง e-commerce ของ Amazon เองและยังมีบริการเรื่องระบบความปลอดภัยของข้อมูล และมีโครงการพัฒนา startup ด้วย

“ผมเห็นว่า Amazon มีโอกาสมากในไทย เพราะเป็นบริษัทที่ startup ในไทยรู้จักเป็นอย่างดี ผมจึง ชักชวนให้ AWS มาทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย และสนับสนุนประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งต่อไปจะเห็นความร่วมมือระหว่าง depa และ AWS มากขึ้น จะมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนระหว่าง startup และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างเครือข่าย startup ไทยและอเมริกา จะมีการจัดกิจกรรมในประเทศไทยมากขึ้น รวมไปถึงการขายใน launch pad ซึ่งเป็น platform ขายสินค้าที่เป็นนวัตกรรมของ startup บน amazon.com เป็นประโยชน์อย่างมากในการยกระดับ startup ไทยสู่สากล” รมว.ดีอีเอส กล่าว

โฆษณา

ครม.เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. เพิ่มทุนเป็น 8 หมื่นล้าน ส่งผลให้ปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้ถึง 2.4 แสนล้าน

People Unity News : ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของ ธ.ก.ส. จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจเป็นธนาคารพัฒนาชนบท ให้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของภาครัฐตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 เห็นชอบการเพิ่มทุนเรือนหุ้นของ ธ.ก.ส. จากเดิม 60,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินภารกิจเป็นธนาคารพัฒนาชนบท ให้สอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของภาครัฐตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และขยายงานด้านการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ทั้งด้านการอำนวยสินเชื่อ และการทำงานในท้องถิ่นร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแนวนโยบายของกระทรวงการคลัง ซึ่งให้ความสำคัญต่อการดูแลเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนประเทศในระยะต่อไป

ความมั่นคงทางการเงินของ ธ.ก.ส. ที่แข็งแกร่งขึ้นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถผลักดันภารกิจได้อย่างเต็มศักยภาพตามภารกิจหลักในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภาคเกษตรของไทย รวมถึงการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและขยายบทบาทของ ธ.ก.ส. ให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบวงจรมากขึ้น ทั้งด้านการอำนวยสินเชื่อและการทำงานร่วมกับเครือข่าย เช่น การส่งเสริมให้เกิดเกษตรกรรุ่นใหม่หรือ Smart Farmer การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (Small and Medium Agriculture Enterprises : SMAEs) วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินประชาชน และสหกรณ์การเกษตร การนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มผลิตผล แปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและร้านค้าชุมชน ตลอดจนสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจแนวใหม่โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางเมื่อเกิดเหตุภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ

การเพิ่มทุนในครั้งนี้ นอกจากจะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถขยายบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคม โดยจะทำให้ ธ.ก.ส. สามารถปล่อยสินเชื่อได้ 12 เท่าของทุนที่เพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่สามารถเพิ่มขึ้น 2.4 แสนล้านบาท ส่งผลให้มีเกษตรกรมีเงินทุนเพิ่มขึ้น ระบบเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็งขึ้น และกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตรให้ขยายตัวสูงขึ้น

โฆษณา

“จุรินทร์”เชื่อมั่นจะมีข่าวดี ให้การยางฯวิ่งเจรจาจีนเพิ่มส่งออก

People Unity News : “จุรินทร์”เชื่อมั่นจะมีข่าวดี ให้การยางฯวิ่งเจรจาจีนเพิ่มส่งออก พร้อมสรุป MOU ขายยาง 3.4 หมื่นล้าน พาณิชย์-เกษตร ในเวลา 3 เดือนกว่า

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ภายหลังร่วมงาน เปิดงาน “Thailand Rubber Expo” นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องยางพาราจะมีอยู่ 2-3 ประเด็นที่จะต้องมีการเร่งรัดดำเนินการ เรื่องที่หนึ่ง คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งขณะนี้ได้มีการ โอนเงินส่วนต่างงวดแรกแล้ว แต่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ดำเนินการจนถึงวันนี้โอนเงินส่วนต่างไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเกษตรกรทั้งหมด ที่โครงการประกันรายได้ยางล่าช้าเพราะยังมีการตรวจสวน โดยการยางแห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะกำลังการยางมีไม่เพียงพอกว่าจะประชุมคณะกรรมการตรวจสวนยางเสร็จก็ใช้เวลา ล่าสุดจึงได้เชิญรัฐมนตรีเกษตรฯ และสำนักงบประมาณ การยางแห่งประเทศไทย และ ธ.ก.ส. มาหารือร่วมกันได้ข้อสรุปแล้วว่าการยางจะไปปรับระเบียบในการตรวจสวนโดยให้เจ้าของสวนเป็นผู้ยื่น ว่ามีจำนวนกี่ไร่และทำยางชนิดใด แล้วให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านคนใดคนหนึ่งทำการรับรองและจากนั้นก็ส่งให้การยาง แล้วการยางก็ส่งให้กับ ธ.ก.ส.ก็สามารถโอนเงินส่วนต่างได้ทันที ตรงนี้ก็คาดว่าถ้าจากนี้ไปจะทำให้การโอนเงินมีความรวดเร็วขึ้น รวมทั้งผู้ที่ถือบัตรสีชมพูก็สามารถได้รับเงินส่วนต่างด้วยได้ เพราะได้หารือร่วมกับสำนักงบเรียบร้อยแล้วนี่คือเรื่องประกันรายได้

ประการที่สอง เรื่องการแปรรูปยางพาราหรือการเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งก็คือการใช้ยางจากภาคเอกชนซึ่งจะมีคนมาลงทุนเพิ่มเติมขึ้น เมื่อสักครู่มีนักลงทุนจีนแจ้งให้ทราบว่าจะมีการมาลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นในการทำโรงงานผลิตยางจำนวนมากที่จะมาลงทุนล็อตถัดไป อันนี้ถือเป็นข่าวดี รวมทั้งสหกรณ์ ภาคเอกชนต่างๆที่ได้มีการคิดค้นนวัตกรรมในการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการที่จะผลิตสินค้าตั้งต้น เหมือนงานเอ็กซ์โปยางวันนี้ ที่ท่านนายกรัฐมนตรีและท่านรัฐมนตรีเกษตร มาเยี่ยมชมและมาเปิดงานก็เห็นความหลากหลายของนวัตกรรมและสินค้าหลากหลายที่ใช้นวัตกรรมมากขึ้น และการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มขึ้น อีกส่วนหนึ่งโดยส่วนราชการตรงนี้คณะรัฐมนตรีเคยมีมติไปก่อนหน้านี้แล้วว่าให้ส่วนราชการเพิ่มการใช้ยางในการทำถนน ทำฝาย ทำวัตถุดิบ ทำสินค้า ที่ใช้เพื่อการจราจรรวมทั้งอื่นๆด้วย ซึ่งอันนี้ยังมีความคืบหน้าไม่มากนัก

“ผมจึงมอบหมายให้ทางท่านรัฐมนตรีเกษตรและการยางได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมด ว่าตามที่คณะรัฐมนตรีได้สั่งการไปนั้นขณะนี้แต่ละส่วนราชการ ได้ดำเนินการไปถึงไหนอย่างไรมีการผลิตผลิตภัณฑ์อะไร ใช้ยางไปมากน้อยแค่ไหนและจะรายงานให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบ หรือพิจารณาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป เพื่อเพิ่มการใช้อย่างในประเทศ ” นายจุรินทร์ กล่าว

เรื่องที่สาม คือการส่งออกยางอันนี้เป็นเรื่องที่มีการเร่งรัด ผมได้นำคณะเอกชนและการยางแห่งประเทศไทยไปเปิดตลาดในหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จชัดเจนมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจที่จะซื้ออย่างจากประเทศไทยเช่นอินเดีย 100,000 ตัน ก็เป็นมูลค่า ประมาณ 9,000 ล้านบาทและที่ตุรกีล็อตใหญ่สุด คือหมอนยางพารา 20 ล้านใบ โดยการยาง 10 ล้านใบ ภาคเอกชน 10 ล้านใบ รวมเป็นมูลค่าทั้งหมด 12,000 ล้านบาท และล่าสุดการยางขายให้กับจีนและฮ่องกงรวม 260,000 ตันเป็นเงิน 13,000 ล้านบาททั้งหมดนี้ รวมกัน 3-4 ประเทศที่ผมเรียนก็ 34,000 ล้านบาท ซึ่งขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการต่อไปก็คือ จะต้องมีการเร่งรัดการส่งมอบเพราะทันทีที่มีการส่งมอบตัวเลขการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้นซึ่งขณะนี้ผมได้ขอให้ภาคเอกชนกระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับภาคเอกชนให้เร่งส่งมอบโดยเร็วตั้งแต่เดือนธันวาเป็นต้นไปและให้การอย่างเร่งส่งมอบสัญญาที่ได้ไปเซ็นเพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกและจะได้มีผลในการที่จะนำเงินเข้าประเทศมาช่วยเกษตรกรต่อไป

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า สำหรับตลาดใหม่นอกจาก 30 ประเทศที่ผมเดินทางแล้ว ตะวันออกกลางกับแอฟริกาใต้ ก็จะเป็นเป้าหมาย ผมได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ไปดำเนินการแล้วและสอดคล้องกับท่านนายกได้มีดำริเมื่อสักครู่ ว่าอยากให้ไปเปิดตลาดที่แอฟริกาใต้ ก็จะไปทริปเดียวกันกับตะวันออกกลาง ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าระหว่างบาห์เรนกับกาตาร์ ตรงไหนที่พร้อมกว่ามีความเหมาะสมกว่า มีลูกค้าที่จะเซ็นสัญญาซื้อขายกับเราได้และถัดไปก็จะต่อไปที่แอฟริกา จะเป็นทริปเดียวกันหวังว่าจะเพิ่มยอดส่งออกเรื่องยางพาราได้อีกไม่น้อยทีเดียว และทันทีที่มีการส่งมอบเปิด เงินก็เข้าประเทศลงเรือผ่านด่านศุลกากรเป็นขั้นตอนกระบวนการตัวเลขการส่งออกก็จะเพิ่มขึ้น สำหรับประกันรายได้ตอนนี้ช้ามาพอสมควร อย่างไรก็ตามสำหรับจีน 60,000 ตัน กับ ฮ่องกง 200,000 ตัน ที่เซ็นต์ ไปและขณะนี้การยางก็กำลังเจรจากับจีนเพิ่มเติมอยู่และจะมีข่าวดีเร็วๆนี้

ถึงคิวชาวไร่ข้าวโพดแล้ว!!ประชุมร่วม 3 ฝ่ายเคาะราคาประกันรายได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าในวันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2562 นี้ นายจุรินทร์ มีกำหนดการเดินทางไปจังหวัดลำปาง ในวาระสำคัญของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โดยจะมีการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น 3 ฝ่าย ประกอบด้วยตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชนและเกษตรกร ณ ห้องเอื้องหลวง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ในเวลา 15.00 – 17.00 น.

การประชุมระดมความคิดเห็นดังกล่าวเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ต้องการดูแลและช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่กำลังเผชิญปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำกระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และข้าวโพดก็เป็นอีกหนึ่งในพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้ อันเป็นพืชชนิดที่ 5 ที่ได้มีการพิจารณาราคาประกันรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพิจารณาโครงการประกันรายได้ให้กับพืชเศรษฐกิจสำคัญไปแล้ว 4 ชนิด อนึ่ง “โครงการประกันรายได้” นี้ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งต้นหลักคิดโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องเกษตรกรเป็นที่ตั้ง เพื่อให้มีหลักประกันในเรื่องราคาพืชผลที่มุ่งเน้นให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสมเพียงพอในการดำรงชีพได้

Verified by ExactMetrics