วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

“จุรินทร์”โชว์ 13 ความสำเร็จของไทยบนเวทีรมต.ศก.อาเซียน

People Unity News : “จุรินทร์”นำสรุป 13 เรื่อง เป็นผลความสำเร็จประเทศไทย ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มั่นใจคืบหน้าและสำเร็จทั้งหมด

วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) ในคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นถือเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถัดจากนี้ก็เป็นการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) จะต้องเป็นประธานแล้ว

การประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลัก 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อที่ 1 ก็คือในเรื่องของการเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หัวข้อที่ 2 การเชื่อมโยง หัวข้อที่ 3 การเดินหน้าไปด้วยกันไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 3 หัวข้อนี้เป็นหัวข้อใหญ่และภายใต้ 3 หัวข้อนี้จะแปลงออกไปเป็นประเด็นสำคัญสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็นด้วยกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งทั้ง 13 ประเด็นนั้นขอเรียนให้ได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าและมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานที่ประชุมอาเซียน สำหรับปีต่อไปเป็นหน้าที่ของประเทศเวียดนามและต้องรอดูต่อไปว่าเวียดนามจะกำหนดประเด็นในการผลักดันเรื่องอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 ประเด็นในรายละเอียดนั้นขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าประกอบด้วย
1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน
2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน
3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น
7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ
8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP
9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว
10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้
11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน
12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้ง 13 ประเด็นใน 13 หัวข้อใหญ่ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในฐานะประธานอาเซียนนี้ขอเรียนว่าเรามั่นใจว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 หัวข้อ

ส่วนการลงนามวันนี้ (พิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน) เป็นการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่เราใช้มา 10 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทเที่ยวนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนเช่นการระบุชัดเจน ในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนแต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน

ดร.วันดีนำ”SPCG”ผงาดกรุงปารีส ยันรบ.หนุนพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผนติดตั้งถึง 12,275 MW ปี 2037

People Unity News : ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG บรรยายงาน OECD Forum on Green Finance and Investment ครั้งที่ 6 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 โชว์พัฒนาการพลังงานแสงอาทิตย์ไทย ยันรัฐบาลมีแผนสนับสนุนติดตั้ง ถึง 12,275 MW ในปี 2037

ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รับเกียรติจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( Organization Economics Corporation Development ) ร่วมประชุมและร่วมเวทีเสวนา โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาเรื่อง Clean Energy Finance and Investment Mobilization in Emerging Market โดยมี Ms.Cecilia Tam,Team Leader , Clean Energy Finance and investment Mobilaization of OECD เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ได้กล่าวว่า การให้การสนับสนุนทางแนวคิดการกำหนดนโยบายและการเงินแก่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสอาด นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

ดร.วันดี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความงดงามทางธรรมชาติ มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี มีแหล่งทองเที่ยวมากมาย คนไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวถึงปีละ กว่า 40 ล้านคน จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาท่องเที่ยวเมืองไทยนอกจากนี้ยังเป็นประเทศผู้นำในเรื่องการพัฒนา เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงาน จากปี 2009 มีพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งใช้เพียง 2 MW แต่ในปี 2019 มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 4,000 MW และรัฐบาลมีแผนสนับสนุนให้มีการติดตั้ง ถึง 12,275 MW ในปี 2037 ทั้งนี้ไม่นับสวมการลงทุนเองในภาคเอกชน นับได้ว่าเป็นแบบอย่างของประเทศในกลุ่ม Asean ที่รัฐบาลให้ความสำคัญสำคัญในการออกนโยบาย มีการจัดทำแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบในอีก 20 ปีในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนในอัตราส่วนกว่า 30% ของการใช้พลังงานรวม SPCG เป็นผู้บุกเบิกการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เมื่อปี 2010 และจากความสำเร็จของการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

Mr.Tim Gould จาก IEA กล่าวว่า การมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน ดังนี้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำพลังงานหมุนเวียน มาใช้เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงมีประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย เวียดนาม หันมาผลักด้นกสรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมอย่างมาก

Mr.Ole Thonke ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า ประเทศเดนมาร์กในปัจจุบันมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพียง 0.6% และสนับสนุนให้ใช้พลังงานลมเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

Mr.Voung Thanh Long Executive Vice President,Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศสวยงามกล่าวว่าประเทศเวียดนามเริ่มสนับสนุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาทิ พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ แต่มีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจในการลงทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

Mr.Reynold Hermansjah from PT Infrastructure Finance ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า สถาบันการเงินในประเทศ
ให้การสนับสนุนเงินลงทุนในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และรัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญนำพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่เหมาะสม

16พันธมิตรโชวห่วยตบเท้าร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ติดปีกร้านค้าโชวห่วยไทย

People Unity News : “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือ 16 หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมการค้า ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ซัพพลายเออร์ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และผู้ให้บริการ Application ข่าวดี! ทุกฝ่ายพร้อมร่วมมือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงบพาณิชย์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยไทยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญหน่วยงานพันธมิตร 16 หน่วยงาน เข้ามาประชุมหารือแนวทางการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานพันธมิตรให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง เน้นให้เห็นเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ และนำไปปฏิบัติได้จริง โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านประกอบด้วย 1) ด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า 2) ด้านส่งเสริมการตลาดและบริการเสริมเพิ่มรายได้ 3) ด้านส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้า

และ 4) ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสมาคมการค้าและซัพพลายเออร์ จะมาช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ส่งเสริมการตลาดและบริการเสริมเพิ่มรายได้ สถาบันการศึกษาจะช่วยสร้างองค์ความรู้และสร้างทีมพี่เลี้ยงพัฒนาร้านค้า สถาบันการเงินจะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส่วนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและผู้ให้บริการ Application จะช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะทำการเชื่อมโยงสินค้า SME สินค้า OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่นเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าโชวห่วยด้วย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการขาย เพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่ง อันจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมายตามแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และของรัฐบาลด้วย

“ร้านค้าโชวห่วย มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดของพวกเรา และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นธุรกิจพื้นฐานที่คนเริ่มหัดทำมาค้าขายต้องเคยทำ ก่อนที่จะขยายและแตกสาขาพัฒนาไปเป็นธุรกิจอื่นๆ จากข้อมูลการสำรวจของ The Nielsen Company (Thailand) ว่าในปี 2562 มีร้านค้าปลีกโชวห่วยทั่วประเทศ จำนวน 443,123 ร้าน แบ่งสัดส่วนเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34% ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% และกรุงเทพและปริมณฑล 13% แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของธุรกิจในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นของไทยให้เข้มแข็ง แต่ด้วยสภาวะการตลาดของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบการแข่งขัน การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับร้านค้าโชวห่วยเองยังขาดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่มีการจัดทำบัญชีและภาษี ไม่มีทายาทรับช่วงต่อ ราคาสินค้าแข่งขันไม่ได้ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งไม่มีช่องทางรายได้อื่น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น ร้านค้าโชวห่วยในท้องถิ่นจึงต้องปรับตัวด้วยการจัดร้านให้เป็นระบบ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับรูปแบบการทำธุรกิจ เช่น เครื่อง POS มีโปรโมชั่นสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ มีสินค้าชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ มีบริการเสริมเพิ่มรายได้ และขยายสู่ออนไลน์ จึงจะสามารถบริหารธุรกิจให้ Smart และเติบโตอย่างยั่งยืน”

“CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ให้ไทยตามกำหนด

People Unity News : “CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ตามกำหนด เสริมเสถียรภาพพลังงานสะอาดให้ไทยแล้ว 29 ต.ค.นี้ ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงินเตรียมยิ้มรับรายได้ก้อนโต หลังทุ่มเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี ตอบโจทย์การใช้งานพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย

วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ “CKP” ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจาก กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมของโรงไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาท ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เพื่อใช้ภายในสปป.ลาว

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐบาลสปป. ลาว ให้แก่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CKPower มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นรวม 135,000 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกให้ กฟผ.เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งการทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด (Joint Test) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีเสถียรภาพสูง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน กรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า CKPower ในฐานะผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมกว่า 19,400 ล้านบาท เพื่อศึกษา พัฒนา และเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัย ด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำมีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นการศึกษาและพัฒนาให้เหมาะกับพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในขณะนี้

“CKPower ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว รวมทั้งรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว องค์กร หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ที่ให้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถส่งไฟฟ้าสะอาดให้แก่ประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ตรงตามกำหนด บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจบนสมดุลระหว่างผลตอบแทนและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์ กล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี : ทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CK Power Public Company Limited) 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5%

ข้อมูลเกี่ยวกับ CKPower : บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

“ศักดิ์สยาม”สั่ง”บินไทย”เร่งรัดแผนฟื้นฟู-จัดซื้อฝูงบินใหม่เสร็จก่อนสิ้นปีนี้

People Unity News : “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ตรวจเยี่ยมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและมอบนโยบายบริษัทการบินไทย สั่งเร่งรัดแผนฟื้นฟู-แผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ ย้ำทำให้เห็นผลก่อนสิ้นปีนี้

วันที่ 28 ตุลาคม 2562 เวลา 14.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายเจือ ราชสีห์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายธานี สามารถกิจ คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช หน.คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะฯ

ตรวจเยี่ยมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและแผนฟื้นฟูฯ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) โดยมี นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการ บกท. นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บกท. คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ร่วมประชุมและให้การต้อนรับ ณ สำนักงานใหญ่ บกท. โดยได้มอบนโยบายให้ยกระดับองค์กรเตรียมพร้อมมุ่งสู่เวทีการแข่งขันระดับโลก ปรับระบบจำหน่ายบัตรโดยสารวางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เร่งสร้างมาตรฐานการบริการ วิธีการบริหารงานด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยใหม่เข้ามาใช้และพัฒนาบุคคลากรให้สอดคล้องกัน เข้มงวดการตรวจสอบคุณภาพในทุกมิติ การใช้วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ตลอดจนทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะแผนการพัฒนาบุคลากรที่ต้องมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ มีบุคลากรด้านการซ่อมบำรุงเพียงพอเพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการบิน

ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการบูรณาการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลเพื่อการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยว และเร่งรัดแผนการจัดหาเครื่องบินอย่างเพียงพอเหมาะสมด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส พร้อมทั้งเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกกิจกรรม โครงการ สร้างการรับรู้ เพิ่มความเข้าใจที่ถูกต้อง ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรสู่สาธารณะ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการ

นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่าได้มอบนโยบายให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างบริษัท การบินไทย, บริษัท ท่าอากาศยานไทย, บริษัท วิทยุการบินฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำแผนธุรกิจร่วมกัน ร่วมกันกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งภายในและภายนอกประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้นำคณะฯ

“ส่วนเรื่องแผนการฟื้นฟูและแผนการจัดซื้อเครื่องบิน ได้เร่งรัดกรอบเวลาที่ชัดเจนกับการบินไทยแล้ว ระยะเวลาที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจากแผนธุรกิจและแผนการฟื้นฟูอยู่ที่การนำไปปฏิบัติงาน ซึ่งได้แจ้งกับการบินไทยแล้วว่าจะต้องมีแผนการปฏิบัติงาน การวัดผล และเป้าหมายของแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือน และแผนการจัดซื้อเครื่องบินภายใน 6 เดือน”

“SPCG”หนุน “สนพ.” ดึงองค์ความรู้พลังงานหมุนเวียนต่อยอดธุรกิจ

People Unity : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ผู้แทน SPCG ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ THE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”ณ อาคาร True Digital Park

เมื่อวันที่ 27ตุลาคม 2562ที่ผ่านมา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” มอบหมายให้ นางนรินพร มาลาศรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบริหารบริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนขึ้นบรรยายในโครงการTHE ENERGiST2 by EPPO ภายใต้หัวข้อ “Renewable Energy Policy or Business Driven?”หรือ “นโยบายทางด้านพลังงานหมุนเวียน หรือธุรกิจทางด้านพลังงานหมุนเวียน อะไรคือตัวนำในการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางด้านพลังงานของประเทศไทย” จัดขึ้นณ อาคาร True Digital Parkโดยโครงการครั้งนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ ผู้ประกอบธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี นิสิตและนักศึกษา รวมทั้งประชาชนได้มีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้และร่วมกันสร้างสรรค์นโยบายเพื่อต่อยอดธุรกิจด้านพลังงานไทย และร่วมกำหนดนิยามความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์และต่อยอดระบบนิเวศด้านพลังงานของประเทศไทยให้พัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

นางนรินพรได้กล่าวว่าบริษัท SPCG ในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟรายแรกของประเทศไทยและประชาคมอาเซียนด้วยโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้งในและต่างประเทศรวมกำลังการผลิตทั้งสิ้นกว่า 300 เมกะวัตต์ซึ่งธุรกิจของเรานอกจากจะเป็นธุรกิจด้านพลังงานสะอาดแล้ว ยังสามารถช่วยลดสภาวะโลกร้อนเทียบเท่ากับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200,000 ตัน CO2ต่อปี อีกด้วย

ในส่วนของการบรรยายนั้น นางนรินพร กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยมีเงินสนับสนุนส่วนเพิ่มพิเศษจากค่าไฟฟ้าปกติ (Adder) และ Feed in Tariff (FIT) ทำให้ภาคธุรกิจ ทางด้านพลังงานหมุนเวียน มีการเติบโต สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหลักร้อยเป็นหลักพัน โดยในปี 2564 จะมีปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 3,272 เมกะวัตต์ และจากแผน PDP 2018 รัฐบาลประกาศให้มีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนปีละ 100 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 10 ปี ทั้งหมด 1,000 เมกะวัตต์ โดยเริ่มดำเนินโครงการในปี 2562 เป็นต้นไป รวมถึงจะมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ในช่วงปี 2561-2580 กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 10,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตามภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจการลงทุน ในโครงการที่รัฐบาลมีนโยบาย หรือกลไกสนับสนุนที่เหมาะสม สมเหตุสมผล จูงใจแก่นักลงทุน สนใจมาลงทุนโดยไม่ลังเลใจหรืออยู่บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ารูปแบบการสนับสนุนไม่จูงใจให้เกิดการเข้าร่วมโครงการ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินโครงการช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมโครงการในจำนวนที่น้อย และผลที่ได้มีขนาดรวมไม่ถึงเมกะวัตต์ จาก 121 หลังคาเรือน ห่างไกลจากเป้าหมายที่วางไว้ 15,000หลังคาเรือนหรือ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2562

“มนัญญา”ลุยเอง! ตามติดโรคไหม้คอรวงข้าวระบาดสุรินทร์

People Unity : “มนัญญา” ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ พร้อมเตรียมมาตรการช่วยเหลือ และลงพื้นที่ให้กำลังใจเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

วันที่ 28 ต.ค.2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ณ ศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ อ.เมือง จ.สุรินทร์ ว่า จากการรายงานสถานการณ์การระบาดศัตรูข้าวของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พบการระบาดของโรคไหม้คอรวงข้าวใน 7 จังหวัด ได้แก่ ลําพูน แพร่ จันทบุรี มุกดาหาร มหาสารคาม สุรินทร์ และสงขลา รวม 7,442 ไร่ และพบการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลใน 6 จังหวัด ได้แก่ ลําปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร อ่างทอง และสุพรรณบุรี รวม 18,141 ไร่ นอกจากนี้ กรมการข้าวยังได้รับรายงานการระบาดของโรคไหม้ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ จํานวน 77,777 ไร่ และการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดลําปางด้วยเช่นกัน กระทรวงเกษตรแชะสหกรณ์ โดยกรมการข้าวจึงมีการแจ้งเตือนภัยการระบาดของศัตรูข้าวทั้ง 2 ชนิด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก

สำหรับในปีการผลิต 2562/63 จังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่ปลูกข้าว 3.025 ล้านไร่ รายงานพบการระบาดโรคไหม้คอรวงข้าวครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ซึ่งในช่วงเวลาเพียง 10 วัน (ช่วงวันที่ 18 – 28 ตุลาคม 2562) มีการระบาดอย่างรวดเร็วครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 17 อำเภอ 140 ตำบล 1,331 หมู่บ้าน เกษตรกรผู้ประสบภัย 49,204 ราย รวมพื้นที่การระบาดทั้งสิ้น 283,454.75 ไร่ มีสาเหตุสำคัญเกิดจาก 1. เกษตรกรมีการใช้เมล็ดพันธุ์ในการหว่านข้าวในอัตราที่สูงเกินไป (30 – 50 กิโลกรัม/ไร่) 2. ข้าวหอมมะลิ (พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15) เป็นพันธุ์ข้าวที่อ่อนแอต่อโรคไหม้คอรวงข้าว 3. มีการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูง โดยเฉพาะปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ส่งผลให้พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค และ 4. สภาพอากาศเหมาะสมต่อการเกิดโรคไหม้ข้าว

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเกษตรจังหวัดสุรินทร์และสำนักงานเกษตรอำเภอได้เฝ้าระวัง แบ่งเป็น ก่อนเกิดการระบาด โดยมีศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนเป็นศูนย์เฝ้าระวังการระบาดศัตรูพืชในพื้นที่และรายงานข้อมูลให้หน่วยงานราชการ พร้อมประชาสัมพันธ์เตือนการระบาด และระหว่างเกิดการระบาด ได้สร้างการรับรู้การจัดการโรคไหม้คอรวงข้าวให้กับเกษตรกร 17 อำเภอ 26,124 ราย ลงพื้นที่สำรวจแปลง สนับสนุนเชื้อราไตรโครเดอร์มาเบื้องต้น เพื่อควบคุมโรค 10,341 กิโลกรัม สามารถฉีดพ่นได้ 31,023 ไร่ ทั้งนี้ จังหวัดสุรินทร์ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (โรคไหม้คอรวงข้าว) เพื่อเตรียมการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ พ.ศ. 2562 ต่อไป

“อุตตม”ร่วมถก ธ.ก.ส.เร่งเสริมมาตรการช่วยเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย

People Unity : รมว.คลัง ร่วมประชุมคณะกรรมการธ.ก.ส. เร่งเสริมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยปี2562 ทั้งขยายเวลาชำระหนี้ 2 ปี และลดดอกเบี้ยเงินกู้อีกร้อยละ 3 ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสู่ภาคชนบท ทั้งการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว การดำเนินโครงการประกันรายได้ปาล์ม ข้าว ที่จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท พร้อมเตรียมโอนประกันรายได้ยาง งวดแรก 1 พฤศจิกายนนี้

วันที่ 28 ต.ค.2562 ที่ ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นประธานในการประชุม ติดตามการดำเนินงานของธนาคารในการช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้สรุปมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในระยะสั้นที่ดำเนินการไปแล้ว (ข้อมูล ณ 24 ตุลาคม 2562) ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท รวมเงินที่โอนไปแล้วทั้ง 3 โครงการ จำนวน 34,691 ล้านบาท

สำหรับการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ในครั้งนี้ นายอุตตม ได้พิจาณาเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ระยะที่ 1 เพื่อเป็นการให้ช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง วงเงิน 24,278 ล้านบาท โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป ที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ปริมาณผลผลิตยาง (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน กำหนดราคาประกันยางแผ่นดินคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 50 %) 23 บาท/กิโลกรัม ซึ่งแบ่งสัดส่วนการจ่ายเงินให้กับเจ้าของสวนยาง 60% และ คนกรีดยาง 40% โดยคาดว่าจะสามารถโอนเงินในงวดแรกให้เกษตรกรได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า คณะกรรมการ ธ.ก.ส. ยังเตรียมพิจารณาให้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2562 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการขยายเวลาชำระหนี้ต้นเงินกู้เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 กันยายน 2562- 31 สิงหาคม 2564 และขยายเวลาชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรลูกค้า โดยคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MRR-3 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.875 ต่อปี) วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาทแรก เป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563 และมอบหมายให้ ธ.ก.ส. เตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อดูแลเกษตรกรตามมาตรการต่าง ๆ ที่จะทยอยออกมา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตโดยเฉพาะพืชหลักชนิดต่าง ๆ ให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา ซึ่งมีชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนเข้าร่วม ตามนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำ และการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ณ เทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

“จุรินทร์”ยกจีนเป็นต้นแบบแก้จน บุกตลาดขายสินค้าเกษตร

People Unity :  “จุรินทร์”เชื่อมจีนบุกตลาดขายสินค้าเกษตร ทำความสัมพันธ์ให้ความสำคัญ เป็นต้นแบบแก้ความยากจนในไทย

วันที่ 28 ต.ค.2562 เวลา 09.10-9.40 น. ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมดิเอมเมอรัล-รัชดา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “7 ทศวรรษจีนใหม่  ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” โดยใช้เวลาร่วมชั่วโมงปาฐกถาพิเศษการพัฒนาจีน แบบอย่างที่โลกเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจากทั้งสมาคม สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. สถานทูตจีน และผู้สนใจเกี่ยวข้อง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งกับการที่สื่อมวลชนไทยและจีนได้ร่วมกันจัดการสัมมนานี้ขึ้นมาในวันนี้  เมื่อพูดถึงความเจริญก้าวหน้า 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกๆด้าน ในระดับที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ โดยความมหัศจรรย์ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้คือความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ที่จีนได้แสดงให้ชาวโลกเห็น ในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของจีนส่งผลให้ชาวจีนมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นราว 60 เท่า โดยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนอยู่ที่เพียง 49.7 หยวน หรือราว 250 บาท ในขณะที่เมื่อปี 2561 มีจำนวน 28,200 หยวน หรือราว 1.41 แสนบาท และการเติบโตอย่างมั่นคงของรายได้ส่งผลให้อัตราการใช้จ่ายเติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้ออันมหาศาล และความต้องการวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การค้า และการลงทุนอันมหาศาล ที่ช่วยสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก

และที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือการลดความยากจน ซึ่งตอนนี้ จีนมีคนจนประมาณต่ำกว่าร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงประชากรประมาณ 700 ล้านคนของจีนได้ถูกยกออกจากความยากจน ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในวันนี้ประเทศจีนคือขุมพลังทางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ยานยนต์ เรือ รถไฟความเร็วสูง หุ่นยนต์ สะพาน อุโมงค์ ถนน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญคือจีนมีสถิติการสมัครเพื่อจดทะเบียนสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันนี้ จีนได้กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ทั้งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินออนไลน์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things) ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนจะยังคงรักษาบทบาทการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปในอนาคต

ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือประเทศจีนทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จากประเทศยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียงหนึ่งในสามของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ให้กลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก และที่สำคัญคือประเทศนี้มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน

1.จีนให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง 2.การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 3.เน้นการปฏิรูปจากล่างสู่บน 4.ส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงสร้างต่างๆ ในท้องถิ่น การส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะอยู่อาศัยและทำงานในท้องถิ่น การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5.ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับเอกชน 6.ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นักลงทุนจีนได้ก้าวออกไปลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ เห็นว่าจีนเน้นเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ รับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเดินหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หวังยุติความขัดแย้งสงครามการค้า

สำหรับไทยพวกเราย่อมให้ความสำคัญเรียนรู้จากประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศของจีน และสามารถก้าวและเติบโตไปพร้อมกับจีนได้ เราเป็นเอเชียด้วยกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับตลาดจีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนเองก็เป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของไทย โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2552 – 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวสูงมาก ถึงร้อยละ 10.3 โดยเฉลี่ยต่อปี โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย ครองสัดส่วนการค้าร้อยละ 16 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน ครองสัดส่วนการค้าราวร้อยละ 2.1

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน มี 2-3 รูปแบบกลไกแรกคือ JC คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน, กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation – MLC) , ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ใน 3 กรอบความร่วมมือสำคัญเราทำงานร่วมกัน และอีกอันคือ กรอบ FTA อาเซียน-จีน ระหว่างประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนี้ตนก็เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในระหว่างนี้ ก็ได้มีแนวทางและดำเนินการประชุมจะได้จาต่อเนื่อง

ตนได้จัดคณะเดินทางไปเยือนนครหนานหนิง ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2562 และได้พบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี หาน เจิ้ง และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (นายลู่ ซิน เซ่อ) ในประเด็นความร่วมมือรอบด้าน โดยเน้นสินค้าเกษตร และมีการลงนาม MOU สินค้ามันสำปะหลังด้วย รวมถึงได้พบหารือกับผู้แทนภาครัฐ/เอกชนไทย-จีน ในกลุ่มยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ และเร็วๆนี้ ผมจะพาคณะเดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo 2019 หรือ CIIE 2019 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดี ประเทศไทยให้ความสำคัญกับจีน และสานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนานในอดีตให้พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคต

ในช่วงหนึ่งนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปไทยเรามีเอ็มโอยูหรือข้อตกลง อยู่กับจีนในเรื่องของข้าวกับยางพาราซึ่งในเรื่องของข้าวนั้นเราได้ทำเอ็มโออยู่กับจีนที่จะจีนช่วยเราซื้อข้าวเราประมาณ 2,000,000 ตันซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ายังขาดอยู่อีก 1,300,000 ตัน รวมทั้งยาพาราเรามีเอ็มโออยู่กับจีนอีก 2 แสนตันจีนซื้อแล้ว 16,800 ตันยังขาดอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องนี้ตนก็ได้ประสานงานผ่านท่านทูตจีนไปแล้วรวมทั้งได้ฝากท่านรองฯหานเจิ้งของจีนไปด้วย ตนในฐานะเซลล์แมนประเทศก็จึงขอทำหน้าที่ไปด้วย

และ ในฐานะกำกับกระทรวงพาณิชย์ ไทยเรายังให้ความสำคัญกับการใช้กลไกทูตพาณิชย์ทั่วโลกในการทำหน้าที่เซลล์แมนประเทศ หรือในการเจาะลึกรายบุคคลต้องยอมรับว่าประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่วทุกมณฑลมีความต้องการใช้สินค้าเกษตรอาหารอะไรรูปและสินค้าจากประเทศไทย จึงเป็นจุดสำคัญในการที่ทูตพาณิชย์ไทยต้องทำงานหนักในการร่วมมือแต่ละมณฑลเพื่อส่งสินค้าไปจีนมากขึ้นลดการขาดดุลการค้าลงมาให้แคบลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมรับหน้าที่สิ่งที่ผมตั้งเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางเศรษฐกิจของกระทรวงก็คือเราจะตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้ส่งออกและพ่อค้าเช่นเดียวกันที่จีนทำอยู่และประสบความสำเร็จคือการให้ความสำคัญทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน

อย่างไรก็ตามการทำงานนั้น ตนเพิ่งประกาศไปว่าเราต้องทำงานเชิงรุกไปทุกตลาดทั่วโลก ก็เพิ่งประกาศไป เรากับจีนต่างกันที่รูปแบบการปกครองแต่เงื่อนไขความสำเร็จคือหลักใหญ่ต้องใช้หลักการบริหารรัฐกิจที่ชัดเจนจะทำให้เดินหน้าไปได้ เช่นที่ประธานาธิบดีสีได้ทำก็เป็นแบบอย่างก็เป็นเรื่องดี

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เวลา 70 ปี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของอาณาจักรจีนที่มีเรื่องราวมากมาย  แต่ 70 ปีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นกรณีศึกษาของโลกยุคปัจจุบัน  และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อโลกในอนาคต  ดังนั้นการสัมมนาเรื่อง “ 7 ทศวรรษจีนใหม่ ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. จัดในวันนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆในอนาคต

“จุรินทร์”เร่งช่วยประกันรายได้มันสำปะหลังรุดจ่ายเงินส่วนต่าง 1 ธ.ค.2562

People Unity : ได้เวลาเกษตรกรมันสำปะหลังเฮ! “จุรินทร์” เร่งช่วยประกันรายได้ รุดจ่ายเงินส่วนต่าง 1 ธันวาคม 2562

วันที่ 27 ต.ค.2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำประชุม 3 ฝ่ายเคาะประกันรายได้มันสำปะหลัง เดินหน้าช่วยเกษตรกรทั้งมาตรการหลักและเสริม โดยตั้งแต่เวลา 14.30-16.00 การประชุมหารือแนวทางการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสําปะหลัง ปี 2562/63 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ณ ห้องประชุมเวสสุวรรณ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระเกียรติพัชรกิติยาภา สํานักงานเทศบาลนครอุดรธานี อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ภายหลังการประชุมนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ได้ร่วมกันกำหนดรายละเอียดของนโยบายประกันรายได้เกษตรกรมันสำปะหลัง มีมติให้ความเห็นชอบร่วมกันสำหรับการนับหนึ่งนโยบายประกันรายได้ดังนี้

ประการที่หนึ่ง จะมีการประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 2.50 บาท ที่เชื้อแป้งที่ 15% ประการที่สอง ประกันรายได้ครัวละไม่เกิน 100 ตัน ประการที่สาม ก็คือจะใช้เกณฑ์ราคาอ้างอิงเรื่องไปเป็นตัวกำหนดรายได้ที่ปรับเรื่องกำหนดตัวเลขส่วนต่างโดยจะใช้ราคาตลาดของราคาหัวมันสดที่ลานมันแป้งเฉลี่ยย้อนหลัง 30 วันเป็นตัวเลขราคาอ้างอิง

ประการที่สี่ เกษตรกรทุกรายสามารถเข้าร่วมโครงการได้โดยไปขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยขึ้นทะเบียนตามความเป็นจริงต้องแจ้งชัดเจนว่าปลูกมันกี่ไร่ จะเก็บเกี่ยวช่วงไหนอย่างไรตามความเป็นจริง ประการที่ห้า กำหนดจ่ายเงินส่วนต่างงวดแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยจ่ายหกงวดในฤดูกาลผลิตปีนี้ ทุกเดือนจนหมดจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และประการสุดท้าย วงเงินที่ใช้ร่วมกันประมาณ 9,400 ล้านบาท

“ตั้งใจจะเอาเรื่องมาหารือวันที่ 11 พย.ก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ตอนที่คณะรัฐมนตรีไปประชุมสัญจรที่จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็จะสามารถจ่ายเงินส่วนต่างแรกในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนั้นนายจุรินทร์ กล่าวว่า ยังมีมาตรการเสริมสำคัญอีกหลายประเด็นก็คือส่งเสริมให้มีการใช้มันสำปะหลังในประเทศมากขึ้นทั้งทำพลาสติกชีวภาพ ซึ่งประเทศของเราจะเดินไปในแนวทางนี้มากขึ้นเพื่อรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งนำไปใช้ทำพลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น เอทานอล เป็นต้น จะมีการเร่งรัดส่งผลิตภัณฑ์เอกชนเพื่อเร่งรัดส่งเสริมการส่งออกมันสำปะหลังของไทยไปในตลาดต่างประเทศ เช่น ที่ตนได้นำคณะเอกชนไปขายมันสำปะหลังที่จีน เมื่อไม่นานมานี้แล้วประสบความสำเร็จพอสมควรเพราะปีที่แล้วจีนนำเข้ามันจากประเทศไทย 3,000,000 ตัน แต่ที่ไปสามารถขายได้ 2,600,000 ตัน มูลค่าประมาณ 18,000 ล้านบาท

นอกจากตลาดจีนแล้วไปตลาดอินเดียเนื่องจากอินเดียเริ่มที่จะไม่ใช้พลาสติกจริง เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยต่อไปนี้จะต้องใช้วัตถุดิบทางชีวภาพโดยเฉพาะมันสำปะหลังมาทำถุงพลาสติก และทำหีบห่อ โดยอินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน โดยต้องใช้สิ่งเหล่านี้ทดแทนพลาสติกมหาศาลถือเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทยแล้วจะไปบุกตลาดตุรกีและนิวซีแลนด์ เนื่องจากสองประเทศนี้มีความต้องการใช้อาหารสัตว์จำนวนมากแต่ยังไม่รู้ที่ใช้มันสำปะหลังไปทำเป็นอาหารสัตว์ โดยจะเชิญผู้ผลิตอาหารสัตว์ของตุรกีและนิวซีแลนด์มาดูงานการทำด้วยมันสำปะหลังของไทย รวมทั้งตลาดเกาหลีและตลาดอื่นๆเป็นต้น

และจะเร่งรัดเรื่องการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้มันสำปะหลังราคาตกโดยไม่จำเป็น ต้องมีมาตรการภายในดำเนินการต่อไปให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม กับรอติดตามภาวะมันสำปะหลังในประเทศที่จะออกมาตรการเสริม เช่น ชะลอการขุด หรือชดเชยการขุด มาตรการอื่นๆที่จะช่วยส่งเสริมการผลิตต่อไปเป็นต้น ต่อมาคือสถานการณ์มันสำปะหลังทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มาถึงได้ทำตามความเห็นของภาคเอกชนที่จะจัดตั้งวอร์รูมมันสำปะหลังเพื่อติดตามอย่างใกล้ชิดและเสนอทางออกเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรมันสำปะหลังไทยต่อไปด้วย

วันนี้ตนได้มอบให้กรมการค้าภายใน เป็นเจ้าภาพเชิญภาคเอกชน เกษตรกร กระทรวงเกษตร ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมกันหามาตรการในการหาเครื่องมือเพื่อทำให้การขายหัวมันสดของเกษตรกรและการรับซื้อหัวมันสดของภาคเอกชนมีการกำหนดราคาที่เป็นธรรมของทั้งสองฝ่ายโดยลดการใช้ดุลยพินิจเพื่อกำหนดราคาตามความประสงค์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้น้อยที่สุดโดยให้กรมการค้าภายในไปหารือร่วมกันและสรุปมาว่าจะมีกลไกอะไรที่ทำให้เป็นธรรม

สุดท้ายคือเรื่องโรคใบด่างในมันสำปะหลังซึ่งทุกฝ่ายกังวลจะมีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตมันสำปะหลัง โดย ครม.มีมติอนุมัติเงิน 248 ล้านบาทให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งรัดทำเรื่องการกำจัดโรคใบด่าง วันนี้ได้ไปเร่งรัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและให้มารายงานให้คณะกรรมการทราบในวันที่ 11 พฤศจิกายน เช่นเดียวกัน เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอสำหรับการใช้ในปีนี้และปีหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคณะของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ในวันนี้ ร่วมกับ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับคณะจากกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ตัวแทนเกษตรกร และภาคเอกชน

Verified by ExactMetrics