วันที่ 19 เมษายน 2025

“อุตตม”ทอดกฐินสามัคคีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนพระปริยัติธรรมดอยสะเก็ด

People Unity News : กระทรวงการคลังทอดกฐินสามัคคีและวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ที่วัดสันปูเลยสะหลีเวียงแก้ว อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ที่พระครูบาน้อย เขมปัญโญ เป็นเจ้าอาส ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานพิธีทอดกฐินสามัคคีและพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม โดยมีนายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการภาคเอกชนและประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก

ทั้งนี้เพื่อจัดหาทุนทรัพย์ในการดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดสันปูเลยสะหลีเวียงแก้วและเพื่อเป็นที่ศึกษาในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีของพระภิกษุสามเณรประจำคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่

Cr.https://region3.prd.go.th/prcm/cmnews.php?ID=191102122546&fbclid=IwAR1CRXHeeT_aznZTimnJ2zOktTK6TBzRRUulTZLUb4XEh5g8TXAIZSPfm54

“ศักดิ์สยาม”เป็นประธานพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงชุดแรกจากญี่ปุ่น

People Unity News : “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง “บางซื่อ – รังสิต” และช่วง”บางซื่อ – ตลิ่งชัน” ชุดแรกจากญี่ปุ่น

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.00 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีต้อนรับขบวนรถไฟฟ้าโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ชุดแรก โดยมี นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม นางคัทซึระ มิยาซากิ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ผู้บริหารกิจการค้าร่วม เอ็มเอชเอสซี (MHSC) นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชน ร่วมงาน ณ อาคารปฏิบัติการหลัก ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟชานเมือง โครงการระบบรถไฟชนเมือง (สายสีแดง)

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รับมอบรถไฟฟ้าชุดแรก จำนวน 10 ตู้ จากทั้งหมด 25 ขบวน ในส่วนขบวนรถไฟฟ้าที่เหลือจะทยอยเดินทางมาจนครบทั้งหมดภายในกลางปี 2563 หลังจากนั้นจะดำเนินการทดสอบขบวนรถให้แล้วเสร็จ เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินการทดสอบ System Integration Testing และทดสอบการวิ่งให้บริการเสมือนจริง (Trial Running) ให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะเปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ภายในต้นปี 2564

ขบวนรถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการรถไฟสายสีแดง เป็นขบวนรถไฟฟ้าของกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC ร่วมกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น บริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ จำกัด และ บริษัท ฮิตาชิ จำกัด ประกอบไปด้วยขบวนรถไฟ 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าชนิด 6 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อเที่ยว และรถไฟฟ้าชนิด 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,120 คนต่อเที่ยว มีความเร็วสูงสุดในการออกแบบที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วัสดุขบวนรถเป็น Aluminum Double Skin การออกแบบรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟสายสีแดง ได้คำนึงถึงสภาพอากาศของประเทศไทย ภายในขบวนรถมีเครื่องปรับอากาศตู้ละ 2 เครื่อง ใช้กระจกสีสำหรับทำหน้าต่างรถไฟ เพื่อลดปริมาณแสงแดดที่จะส่องผ่านเข้ามาภายในตู้รถ ออกแบบให้ตู้รถแต่ละข้างมี 3 ประตู และเพิ่มจำนวนที่นั่งเพื่อให้ผู้โดยสารนั่งได้สบายขึ้น รวมทั้งมีหน้าต่างขนาดใหญ่ให้ผู้โดยสารมองเห็นทัศนียภาพภายนอกจากมุมสูงได้มากขึ้น

 

คลังจับมือ 3 สมาคมอสังหาฯ จัดแคมเปญระบายสต๊อกคงค้าง

People Unity News : คลังจับมือ 3 สมาคมอสังหาฯ จัดแคมเปญกระตุ้นยอดซื้อ เพื่อระบายสต๊อกคงค้าง แนะหารือ ธปท. ผ่อนเกณฑ์วงเงิน 5 หมื่นล้านของ ธอส. สามารถกู้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ลุ้นค่าธรรมเนียมโอนมหาดไทยประกาศใช้เร็วที่สุด

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า จากการหารือกับผู้บริหารของธนาคารอาคารสงเคราะห์ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อผลักดันให้มาตรการอสังหาริมทรัพย์ฯ ของรัฐบาล ช่วยระบายสต๊อกคงค้างของผู้ประกอบการไม่ให้ทรุดตัวลงไปมากกว่าปัจจุบัน โดยภาคเอกชนขอให้กระทรวงการคลังประสานกับกระทรวงหาดไทย เรื่องประกาศลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และขอให้กระทรวงการคลังประสานกับ ธปท. เพื่อขอผ่อนปรนกฎเกณฑ์ LTV เฉพาะกลุ่มของสินเชื่อซื้อบ้านจาก ธอส. วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อให้ขอกู้ได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท

“คลังเตรียมร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฯ เตรียมจัดแคมเปญใหญ่โค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อให้ผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่นใหญ่ ลด แลก แจก แถม ผ่านมาตรการของรัฐบาล หวังระบายบ้านค้างสต๊อค 35,000 ยูนิต การออกมาตรการครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ฯ ในช่วงไตรมาส 4 ไม่ให้ทรุดตัวมากตามที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าภาคอสังหาฯยังขยายตัวได้ร้อยละ 5 -7 ในปี 63 เพราะกลุ่มบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีสัดส่วนในตลาดถึงร้อยละ 60 ของอสังหาฯ ทั้งระบบ” นายชาญกฤช กล่าว

หลังจาก ครม. เห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01 สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอนและการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 รวมทั้งมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดอกเบี้ยพิเศษ 2.5% คงที่ในช่วง 3 ปีแรก วงเงิน 50,000 ล้านบาท

นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เมื่อภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดแคมเปญใหญ่ บวกกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมหลายด้าน ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และอีกหลายสาขา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น จึงคาดว่าปีนี้จะมียอดขายประมาณ 210,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 196,000 ยูนิต

นางอาภา อรรถบูบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยอมรับว่ายอดขายที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมชะลอตัวร้อยละ 20 และยอดขายที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรลดลงเล็กน้อย เมื่อมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของรัฐบาลออกมา จะช่วยพยุงให้กลุ่มอสังหาฯ ไม่ทรุดตัวไปมากตามที่กังวล อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านไม่เหมือนกับการซื้อสินค้าทั่วไป เพราะกว่าจะโอนได้มีหลายขั้นตอน ฉะนั้น ยอดการโอนบ้านจากการซื้อขายช่วงปลายปี น่าจะทำนิติกรรมแล้วเสร็จได้ในเดือนมกราคม 2563 นับว่าเป็นผลบวกทางจิตวิทยาให้ภาคอสังหาฯ อย่างแน่นอน

รมช.พาณิชย์​สั่งใช้แต้มต่อ FTA ดันผลิตภัณฑ์​โคนมไทยบุกตลาดสิงคโปร์​

People Unity News : “วีรศักดิ์” เผยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำสหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้า​ที่สิงคโปร์​ กรุยทางใช้ FTA เป็นใบเบิกทางขยายตลาดสินค้ผลิตภัณฑ์​โคนมไทยเจาะกลุ่มผู้บริโภค​ที่มีกำลังซื้อสูง

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นายวีร​ศักดิ์​ หวัง​ศุภกิจ​โกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้า​ในการดำเนินนโยบายขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยโดยใช้ประโยชน์​จากข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี หรือ FTA ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้นำคณะสหกรณ์โคนม และผู้ประกอบการนมโคแปรรูปที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA” จำนวน 13 ราย เข้าร่วมชมงานแสดงสินค้า​อาหาร Food Japan ซึ่งงาน Food Japan ดังกล่าว ถือเป็นเป็นงานแสดงสินค้าญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์​

โดยผู้ประกอบการ​ที่นำสินค้ามาแสดงในงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสหกรณ์ที่มีการรวมตัวเข้มแข็ง นำเสนอสินค้าพื้นถิ่นของแต่ละชุมชน โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตร หรือสินค้าอาหาร และเครื่องดื่ม ที่มีความหลากหลาย ที่สำคัญ​คือมีการใช้นวัตกรรมในกระบวนการผลิต เช่น ผักและผลไม้ออแกนิกส์ ชาเขียวฮาลาล ชีสผสมผลไม้ หรือข้าวสีน้ำตาล (Brown Rice) ที่นำมาผ่านขั้นตอนทำให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ในการผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ผงชงดื่มเพื่อสุขภาพ และสาเก เป็นต้น ซึ่งการทึ่กระทรวงพาณิชย์​ไทย โดยกรม​เจรจา​การค้า​ระหว่าง​ประเทศ​ ได้นำตัวแทนสหกรณ์​และผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมชมงาน Food Japan ในครั้งนี้ ก็เป็นการเปิดมุมมองใหม่ๆ ทั้งในด้านการผลิตสินค้า การนำ นวัตกรรม​มาใส่ในตัวผลิตภัณฑ์​ รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์​ ที่สวยงามทันสมัย ดึงดูดให้ผู้บริโภคสนใจในสินค้ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและตัวแทนสหกรณ์​ไทย ยังได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบริษัทที่นำสินค้ามาจัดแสดงในงานดังกล่าว ทำให้ได้รับประสบการณ์​ใหม่ๆ เกี่ยวกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ให้มีความน่าสนใจ สามารถดึงจุดเด่นของสินค้ามานำเสนอต่อผู้บริโภคได้ ขณะเดียวกัน​ ยังได้รับทราบแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค หรือ เทรนด์ทางการค้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและสหกรณ์​โคนมไทยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอำนาจการซื้อสูง บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและมีความหลากหลาย และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สามารถกระจายสินค้าของไทยไปยังตลาดโลกได้ โดยในช่วงปี 2559-2561 มูลค่าส่งออกนมโคแปรรูปของไทยในภาพรวม มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ช่วง 8 เดือนแรก ของปี 2562 มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1,238 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.4 สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ นมและครีม ตลาดหลักเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น กัมพูชา (ขยายตัวร้อยละ 17) ฟิลิปปินส์ (ขยายตัวร้อยละ 14) และสิงคโปร์ (ขยายตัวร้อยละ 8) รวมทั้งฮ่องกงและจีน เป็นต้น

“จุรินทร์-เฉลิมชัย” kick off!จ่ายเงินประกันยางทั่วประเทศ

People Unity News : “จุรินทร์-เฉลิมชัย” kick off! จ่ายเงินช่วยประกันรายได้ชาวสวนยาง kick off ส่วนต่างยางพารา วันนี้ทั่วประเทศ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 8.30-9.30น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ชี้แจงการจ่ายเงินวันแรก โครงการ ประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือโอกาส สวัสดีพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่มาประชุมกันอยู่ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะแห่งนี้ และก็ชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศอีกครั้ง วันนี้เป็นวันแรกที่มีการจ่ายเงินส่วนต่างไปถึงมือเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาล

โดยนโยบายประกันรายได้ไม่ใช่นโยบายประกันราคาหลายคนยังเข้าใจสับสนที่บอกว่าไม่ใช่เพราะว่าราคานั้นประกันไม่ได้เพราะมันจะขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก WTO ราคาจึงต้องเป็นไปตามกลไกตลาดนั้นก็คือขึ้นอยู่กับผลผลิตถ้าผลผลิตมากความต้องการใช้น้อยราคาก็ต่ำถ้าผลผลิตน้อยความต้องการใช้มากราคาก็สูงขึ้นอดีต และที่ผ่านมาก่อนมีรัฐบาลนี้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้ทางเดียวคือรายได้จากการขายยางตามราคาตลาดซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเพราะราคายางทั่วโลกตกต่ำและเพราะมีผลกระทบกับประเทศไทยด้วยทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้น้อยลงตรงนี้จึงเป็นที่มาของโยบายรัฐบาลชุดนี้ ที่ได้จัดให้มาโครงการประกันรายได้ขึ้นมา จากนี้ไปเกษตรกรจะมีรายได้ทางที่สองด้วย ก็คือรายได้จากเงินส่วนต่างที่รัฐบาลนี้จะจ่ายให้กับชาวสวนยางทั่วประเทศ ในหนึ่งปีฤดูกาลผลิตเราจะโอนให้ทุกสองเดือน และจะดำเนินการไปเรื่อยเรื่อยตราบเท่าที่ยังมีรัฐบาลชุดนี้

การคำนวณการประกันรายได้ให้เอารายได้ที่ประกันเป็นตัวตั้ง รัฐบาลชุดนี้ประกันรายได้ ยางแผ่นดิบคุณภาพดีที่กิโลกรัมละ 60 บาท และน้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วยที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยยางแผนดิบที่กิโลกรัมละ 60 บาทเป็นตัวตั้งแล้วเอาราคาตลาดเป็นตัวลบ เราประกันรายได้ให้ชาวสวนยางหัวละไม่เกิน 25 ไร่ขึ้นอยู่กับผลผลิตของพี่น้องว่าได้กี่กิโลกรัม และจะเป็นเงินส่วนต่างที่พี่น้องได้รับซึ่งพี่น้องผลิตยางแผ่นดิบชั้นสามประกันรายได้กิโลละ 60 บาทนั้นถ้าพี่น้องมีสวนยาง 25 ไร่พอดี พี่น้องจะได้รับเงินส่วนต่าง 10,515 บาทและในหนึ่งฤดูกาลผลิตจะโอนให้ทุกสองเดือนโดยเงินงวดต่อไป 10,515 บาท สวนยางก้อนถ้วยกรณี 25 ไร่ได้รับ 6,810 บาท และรัฐบาลจะโอนให้ทุกสองเดือนโดยงวดแรกคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 งวดต่อไป วันที่ 1 มกราคม 2563 และงวดต่อไปงวดที่3 วันที่ 1 มีนาคม 2563

และดำเนินการไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่จะมีรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลชุดนี้ถือว่าโยบายประกันรายได้ชาวสวนยางเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อวุฒิสภาและเป็นคำมั่นสัญญาต่อพี่น้องประชาชนชาวสวนยางทั้งประเทศไว้แล้ว เราใช้เวลาแค่ 98 วันก็โอนเงินส่วนต่างได้ทำได้ไวและทำได้จริง

“สำหรับเกษตรกรบัตรสีชมพูมีสิทธิ์ได้เงินส่วนต่างหรือไม่ ผมถามท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยตอบว่าได้ครับโดยขออย่างเดียวคือขอให้ปลูกจริง แจ้งจริงว่าปลูกชนิดไหน กี่ไร่ ไม่ใช่ทำยางก้อนถ้วยแต่ไปแจ้งทำยางแผ่นดิบอันนี้ไม่ได้เพราะเงินส่วนต่างไม่เท่ากัน การยางฯจะเข้าไปตรวจสวนจากนั้น ธกส.จะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีพี่น้องประชาชน ทำให้พี่น้องมีเงินเข้ากระเป๋าสองด้าน ด้านที่หนึ่งคือการขายได้ตามราคาตลาด และเงินส่วนต่างเข้ากระเป๋าขวา ทำให้มีรายได้สองกระเป๋าและรัฐบาลชุดนี้ยังมีนโยบายเสริมที่ต้องดึงให้ราคายางในประเทศสูงขึ้นด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

ประการแรก คือ อีก 1 เดือนหน้าพาพี่น้องประชาชนสู่การประเมินสวนยางยั่งยืนคือการที่จะเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรชาวสวนยางไม่ต้องพึ่งพาต้นยางอย่างเดียวในพื้นที่แต่เปิดโอกาสให้ปลูกพืชแซม นี่คือนโยบายประการที่หนึ่ง ประการที่สอง จะเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น โดย ส่งเสริมให้มีการลงทุนอุตสาหกรรมยางเพื่อมาผลิต ผลิตผลในประเทศมากขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีข่าวดีที่ภาคตะวันออก คือจะมีการตั้งโรงงานขยายการผลิตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท จะทำยางพาราจะใช้ยางในประเทศมากขึ้น ขายดียิ่งขึ้น

สำหรับภาคราชการจากนี้ไปการยางจะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานให้รัฐมนตรีทราบว่า ที่เคยสัญญาว่าจะนำยางไปทำถนนไปทำสนามกีฬา ทำไปแล้วมากน้อยอย่างไรเพื่อกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศ เราจะได้ราคายางที่ดีขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ กำลังดำเนินการที่จะทำอย่างไรให้ยางไทยส่งออกไปตลาดต่างประเทศมากขึ้นภายใต้โดยนโยบายตนและรัฐมนตรีเฉลิม ชัยศรีอ่อน จะให้ฑูตพาณิชย์ทั่วโลก จะต้องช่วยขายยางให้พี่น้องเกษตรกร

“และที่สำคัญไปผมอินเดียมาเมื่อไม่กี่วันก่อนเราสามารถพานักลงทุนไปเปิดตลาดยางที่อินเดียได้สำเร็จขายยางได้ 100,000 ตัน นำเงินเข้าประเทศ 9,000 กว่าล้านบาท จากนี้ไปอีกไม่กี่วันกลางเดือนพฤศจิกายนหลังประชุมอาเซียน ผมขออนุญาตท่านเฉลิมชัยไปบุกตลาดยางที่ตุรกีและเยอรมัน และมั่นใจว่าจะมีข่าวดีให้กับพี่น้อง สุดท้ายนี้มันใจว่าการสั่งการของท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัยบวกการยางอีกไม่กี่วันข้างหน้าเราจะมีข่าวดีให้เกษตรกรชาวสวนยาง เราจะขายยางในปริมาณที่มากมายทีเดียว จะแถลงข่าวให้ทราบเมื่อได้เซ็นสัญญาไม่เกินกลางเดือนขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศที่จะได้รับเงินส่วนต่างครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำให้ผมและท่านเฉลิมชัยสามารถทำนโยบายประกันรายได้ชาวสวนยังทำได้ไว้ทำได้จริง” นายจุรินทร์ ประกาศ ท่ามกลางเสียงปรบมือของเกษตรกร

ทางด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายในส่วนของการประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรในพืชห้าชนิดข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารามันสำปะหลัง ข้าวโพด ซึ่งณวันนี้ตั้งแต่วันที่เท่าไหร่นโยบายจนกระทั่งถึงวันนี้เป็นระยะเวลา 98 วันที่รัฐบาลชุดนี้ทำได้ไวทำได้จริงคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 อนุมัติโครงการประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางระยะที่หนึ่งซึ่งนับจากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ที่ชาวสวนยางได้รับเงินจากการประกันรายได้ใช้เวลาทั้งสิ้นเพียง 16 วันในการให้พี่น้องเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างที่เป็นการประกันรายได้ช่วยครองชีพของพี่น้องชาวเกษตรกรชาวสวน ซึ่งเป็นพืชลำดับที่ 3 ที่ชาวเกษตรกรได้รับจากโครงการประกันรายได้

วันนี้ถือเป็นวันที่พี่น้องเกษตรกรได้จดจำจารึกไว้วันหนึ่งว่าสิ่งที่เราได้สัญญาไว้กับพี่น้องในการที่จะประกันรายได้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเราสามารถทำตามคำพูดและดำเนินการจนกระทั่งเงินมาถึงมือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้ สำหรับหลักเกณฑ์ของการคือเอาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทยก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2512 และเปิดโอกาสให้พี่น้องตามหลักเกณฑ์ที่การยางแห่งประเทศไทยกำหนดคือยังอายุเจ็ดปีขึ้นไปและเปิดน่ากินแล้วรายละไม่เกิน 25 ไร่ได้ทั้งเอกสารบัตรสีเขียวและบัตรสีชมพูทั้งสิ้น จำนวน 1,711,252 ราย พื้นที่สวนยางรวม 17,201,391 ไร่ หรือประมาณ 86% ของพื้นที่ทั้งหมด ปริมาณยางที่จะประกันรายได้ (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัม/ไร่/ปี หรือ 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ระยะเวลาดำเนินการ (ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563) ระยะเวลาประกันรายได้ 6 เดือน (ตุลาคม 2562 – มีนาคม 2563) จ่ายเงินชดเชย 2 เดือน 1 ครั้ง

โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยาง งวดที่ 1 จ่ายระหว่าง วันที่ 1 – 15 พ.ย. 62, งวดที่ 2 จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 15 ม.ค. 63 และงวดที่ 3 จ่ายระหว่างวันที่ 1 – 15 มี.ค. 63 โดยแบ่งสัดส่วนรายได้เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดร้อยละ 40

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่อาคารเอศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะเต็มไปด้วยตัวแทนของเกษตรกรจากทุกภาคร่วม 1000 คน พร้อมเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ พร้อมผู้บริหารระดับสูงทุกหน่วยงาน ในโครงการนี้ได้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวีเพื่อแจ้งเกษตรกรสวนยางพาราทั่วประเทศพร้อมกันซึ่งเงินส่วนต่างนั้นจะเริ่มต้นจ่ายวันที่ 1 พฤศจิกายนจนกระทั่งถึง 15 พฤศจิกายน รอบแรกเนื่องจากว่าจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีอย่างถูกต้องทุกบัญชี

“มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด

People Unity News : “มนัญญา”ตรวจด่านเชียงแสน พบสารเคมีผักผลไม้ 14 ชนิด กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ให้มีศักยภาพ

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจด่านตรวจพืชของเชียงแสน กรมวิชาการเกษตร ที่ท่าเรือห้าเชียงและท่าเรือเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยไม่แจ้งหน่วยงานในพื้นที่ล่วงหน้าและเข้าสังเกตการณ์ห้องปฏิบัติการตรวจหาสารเคมีตกค้างในผักผลไม้ที่นำเข้าจากจีนและและเมียนมา พบกลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชคือ ออการ์โนฟอสเฟตหรือคลอร์ไพรีฟอส ออการ์โนคลอรีน และไพรีทรอยด์

สำหรับด่านตรวจพืชแห่งนี้สุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่างต่อปี เพื่อตรวจสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตรนำเข้า โดยกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ในการเฝ้าระวัง เมื่อด่านตรวจพืชพบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน แต่ไม่มีอำนาจกักกัน ต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีอำนาจกักสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภค ซึ่งจะหารือกับนายอนุทิน ชาญวีระกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อร่วมมือกันตรวจอย่างเข้มงวดและกักกันไม่ให้สินค้าที่มีสารตกค้างเกินกว่าที่กำหนดนำเข้าได้

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรจะจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่สมบูรณ์ขึ้นด่านเชียงของให้มีศักยภาพตรวจหาสารเคมีได้ 100 กว่าชนิด ส่วน อย. จะกักกันผักผลไม้ที่มีค่าเกินมาตรฐานเพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่เกษตรกรไทย จากการที่ผักผลไม้ต่างประเทศเข้ามาตีตลาดปีละหลายแสนตัน จากด่านเชียงของ ผักผลไม้เหล่านี้จะส่งไปยังตลาดไท แล้วกระจายไปยังตลาดทั่วประเทศ

สำหรับสถิติการสุ่มตรวจสินค้าจากจีนและเมียนมา 1,500 ตัวอย่างในปีนี้ พบผักผลไม้ 14 ชนิดมีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐาน ได้แก่ ไดโครโตฟอส เมทามิโดฟอส และเมวินฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 อยู่ในกลุ่มออการ์โนฟอสเฟต ตรวจพบในพริก พริกหยวก และส้มจากเมียนมา นอกจากนี้ยังพบในคื่นช่าย ซาลารี กะหล่ำปลีม่วง พริกบล็อคเคอรี่ แรดิชที่นำเข้าจากจีน สำหรับสินค้าเกษตรที่พบสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม ซึ่งตรวจพบทุกตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

“จุรินทร์”โชว์ 13 ความสำเร็จของไทยบนเวทีรมต.ศก.อาเซียน

People Unity News : “จุรินทร์”นำสรุป 13 เรื่อง เป็นผลความสำเร็จประเทศไทย ในฐานะประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน มั่นใจคืบหน้าและสำเร็จทั้งหมด

วันที่ 31 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สนฐานะประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 เปิดเผยผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 18 ว่า ประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันในฐานะประธานอาเซียน (Priority Economic Deliverables) ในคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยินดีกับความสำเร็จและรับทราบความคืบหน้า Priority Economic Deliverables โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นถือเป็นการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดสุดท้ายที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม ถัดจากนี้ก็เป็นการประชุม ASEAN SUMMIT ที่ท่านนายกฯ(พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) จะต้องเป็นประธานแล้ว

การประชุมครั้งสุดท้ายสำหรับที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งนี้ ถือเป็นการสรุปผลความสำเร็จของประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ สำหรับด้านเศรษฐกิจซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลัก 1 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายในการที่จะผลักดันประเด็นสำคัญใน 3 หัวข้อใหญ่ คือ หัวข้อที่ 1 ก็คือในเรื่องของการเตรียมการรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หัวข้อที่ 2 การเชื่อมโยง หัวข้อที่ 3 การเดินหน้าไปด้วยกันไปสู่ความยั่งยืน ซึ่ง 3 หัวข้อนี้เป็นหัวข้อใหญ่และภายใต้ 3 หัวข้อนี้จะแปลงออกไปเป็นประเด็นสำคัญสำคัญทั้งหมด 13 ประเด็นด้วยกัน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ซึ่งทั้ง 13 ประเด็นนั้นขอเรียนให้ได้รับทราบว่ามีความคืบหน้าและมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จครบทั้ง 13 ประเด็นภายในสิ้นปีนี้ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและเป็นประธานที่ประชุมอาเซียน สำหรับปีต่อไปเป็นหน้าที่ของประเทศเวียดนามและต้องรอดูต่อไปว่าเวียดนามจะกำหนดประเด็นในการผลักดันเรื่องอะไรต่อไป

อย่างไรก็ตามสำหรับ 13 ประเด็นในรายละเอียดนั้นขออนุญาตเรียนให้ทราบว่าประกอบด้วย
1 .แผนงานด้านดิจิตอลของอาเซียน
2 .แผนงานในการส่งเสริมนวัตกรรมอาเซียน
3 .การเตรียมการสำหรับการพัฒนาแรงงานเพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คือเรื่องของการใช้แรงงานพัฒนาแรงงานคนเพื่อรองรับการใช้เครื่องจักรการใช้นวัตกรรมใหม่ในการผลิต
4.การเดินหน้าไปสู่อุตสาหกรรม 4.0
5 .การเตรียมการที่จะนำ SME ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การค้าออนไลน์ เป็นต้น
6 .การดำเนินการในเรื่อง ASEAN Single Window การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกันที่ต้องมี อำนวยความสะดวกโดยใช้ระบบอิเล็คทรอนิกส์ และไม่ซ้ำซ้อนทำให้การส่งออกระหว่างการคล่องตัวยิ่งขึ้น
7.เรื่องการผลักดันให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นค้าขายระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วอย่างน้อยสามคู่ คือ ระหว่างไทยฟิลิปปินส์ ระหว่างไทยอินโดนีเซีย และระหว่างไทยกับมาเลเซีย ภายใต้ความร่วมมือของแบงค์ชาติของเรากับธนาคารพาณิชย์ของสามประเทศ
8.ก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระบบที่เรียกว่า PPP
9 .การร่วมมือกันระหว่างอาเซียนในการส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอาหาร คือ การใช้อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยว
10 .คือการแสดงเจตจำนงค์ร่วมกันผลักดันให้ RCEP ซึ่งอาเซียนเป็นศูนย์กลางของ RCEPจบภายในสิ้นปีนี้
11 .ในเรื่องของการผลักดันเครือข่าย IUU ของอาเซียน คือ การทำประมงอาเซียนที่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน
12 .เรื่องการส่งเสริมตลาดทุนของอาเซียนในประเทศต่างๆเพื่อเมื่อจะรับบริษัทเข้าไปจดทะเบียนโดยคำนึงถึงเป้าหมายของบริษัทนั้นนั้นที่มุ่งเน้นความยังยืนเช่น สิ่งแวดล้อมเป็นต้น
13 .ประเด็นสุดท้าย คือ การผลักดันให้มีการลงนาม ศูนย์พลังงานอาเซียนระหว่าง มหาวิทยาลัยต่างๆในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพ

ทั้ง 13 ประเด็นใน 13 หัวข้อใหญ่ที่ประเทศไทยได้กำหนดเป็นเป้าหมายร่วมกันในฐานะประธานอาเซียนนี้ขอเรียนว่าเรามั่นใจว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถผลักดันไปสู่ความสำเร็จครบทั้ง 13 หัวข้อ

ส่วนการลงนามวันนี้ (พิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน) เป็นการลงนามในพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งเป็นการปรับปรุงกลไกระงับข้อผิดพลาดที่เราใช้มา 10 กว่าปีมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทเที่ยวนี้ จะทำให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนกระบวนการต่างๆเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกอาเซียนเช่นการระบุชัดเจน ในเรื่องขั้นตอนระยะเวลาฟ้องร้องว่าใช้ระยะเวลากี่วันการพิจารณาคดีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในช่วงระยะเวลาเท่าไร อย่างไร และมีการเพิ่มกลไกทางเลือกให้คู่พิพาทเลือกได้ เช่น อาจไม่ต้องไปสู่คณะลูกขุนแต่ใช้อนุญาโตตุลาการได้เป็นต้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้สำนักเลขาธิการอาเซียนสามารถให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับผู้พิพาทรวมทั้งประเทศที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความสนับสนุนช่วยเหลือ เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา ก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษในเรื่องข้อกฎหมายแนวทางการปฏิบัติต่างๆนี่คือพิธีสารที่จะมีการลงนามในเรื่องของกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนหลักใหญ่จะล้อกับหลักการของ WTO ที่ใช้กัน

ดร.วันดีนำ”SPCG”ผงาดกรุงปารีส ยันรบ.หนุนพลังงานแสงอาทิตย์ มีแผนติดตั้งถึง 12,275 MW ปี 2037

People Unity News : ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG บรรยายงาน OECD Forum on Green Finance and Investment ครั้งที่ 6 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 โชว์พัฒนาการพลังงานแสงอาทิตย์ไทย ยันรัฐบาลมีแผนสนับสนุนติดตั้ง ถึง 12,275 MW ในปี 2037

ระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2562 ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้รับเกียรติจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ( Organization Economics Corporation Development ) ร่วมประชุมและร่วมเวทีเสวนา โดยเฉพาะหัวข้อเสวนาเรื่อง Clean Energy Finance and Investment Mobilization in Emerging Market โดยมี Ms.Cecilia Tam,Team Leader , Clean Energy Finance and investment Mobilaization of OECD เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ได้กล่าวว่า การให้การสนับสนุนทางแนวคิดการกำหนดนโยบายและการเงินแก่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสอาด นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย

ดร.วันดี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความงดงามทางธรรมชาติ มีวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี มีแหล่งทองเที่ยวมากมาย คนไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวถึงปีละ กว่า 40 ล้านคน จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาท่องเที่ยวเมืองไทยนอกจากนี้ยังเป็นประเทศผู้นำในเรื่องการพัฒนา เปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงาน จากปี 2009 มีพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งใช้เพียง 2 MW แต่ในปี 2019 มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 4,000 MW และรัฐบาลมีแผนสนับสนุนให้มีการติดตั้ง ถึง 12,275 MW ในปี 2037 ทั้งนี้ไม่นับสวมการลงทุนเองในภาคเอกชน นับได้ว่าเป็นแบบอย่างของประเทศในกลุ่ม Asean ที่รัฐบาลให้ความสำคัญสำคัญในการออกนโยบาย มีการจัดทำแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบในอีก 20 ปีในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนในอัตราส่วนกว่า 30% ของการใช้พลังงานรวม SPCG เป็นผู้บุกเบิกการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เมื่อปี 2010 และจากความสำเร็จของการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศไทย การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นที่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ

Mr.Tim Gould จาก IEA กล่าวว่า การมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่การรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญยิ่งเช่นเดียวกัน ดังนี้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนำพลังงานหมุนเวียน มาใช้เพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจึงมีประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ อินเดีย เวียดนาม หันมาผลักด้นกสรใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมอย่างมาก

Mr.Ole Thonke ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากประเทศเดนมาร์ก กล่าวว่า ประเทศเดนมาร์กในปัจจุบันมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพียง 0.6% และสนับสนุนให้ใช้พลังงานลมเพื่อลดการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

Mr.Voung Thanh Long Executive Vice President,Bank for Investment and Development of Vietnam (BIDV) กล่าวว่าเวียดนามเป็นประเทศสวยงามกล่าวว่าประเทศเวียดนามเริ่มสนับสนุน การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอาทิ พลังลม พลังงานแสงอาทิตย์ แต่มีนักลงทุนจำนวนมากให้ความสนใจในการลงทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

Mr.Reynold Hermansjah from PT Infrastructure Finance ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า สถาบันการเงินในประเทศ
ให้การสนับสนุนเงินลงทุนในด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และรัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญนำพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่เหมาะสม

16พันธมิตรโชวห่วยตบเท้าร่วมมือกระทรวงพาณิชย์ติดปีกร้านค้าโชวห่วยไทย

People Unity News : “วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือ 16 หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมการค้า ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ซัพพลายเออร์ สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา และผู้ให้บริการ Application ข่าวดี! ทุกฝ่ายพร้อมร่วมมือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงบพาณิชย์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยไทยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2562) ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชิญหน่วยงานพันธมิตร 16 หน่วยงาน เข้ามาประชุมหารือแนวทางการพัฒนาร้านค้าโชวห่วยร่วมกัน พร้อมทั้งกำหนดบทบาทและหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานพันธมิตรให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าใครจะต้องทำอะไรบ้าง เน้นให้เห็นเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้ และนำไปปฏิบัติได้จริง โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านประกอบด้วย 1) ด้านการปรับภาพลักษณ์ร้านค้า 2) ด้านส่งเสริมการตลาดและบริการเสริมเพิ่มรายได้ 3) ด้านส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้า

และ 4) ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยสมาคมการค้าและซัพพลายเออร์ จะมาช่วยปรับภาพลักษณ์ร้านค้า ส่งเสริมการตลาดและบริการเสริมเพิ่มรายได้ สถาบันการศึกษาจะช่วยสร้างองค์ความรู้และสร้างทีมพี่เลี้ยงพัฒนาร้านค้า สถาบันการเงินจะเข้ามาสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ส่วนสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและผู้ให้บริการ Application จะช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการร้านค้าให้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะทำการเชื่อมโยงสินค้า SME สินค้า OTOP และสินค้าชุมชนจากท้องถิ่นเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าโชวห่วยด้วย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางการขาย เพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิตสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่ง อันจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน บรรลุเป้าหมายตามแนวนโยบายของกระทรวงพาณิชย์และของรัฐบาลด้วย

“ร้านค้าโชวห่วย มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดของพวกเรา และอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นธุรกิจพื้นฐานที่คนเริ่มหัดทำมาค้าขายต้องเคยทำ ก่อนที่จะขยายและแตกสาขาพัฒนาไปเป็นธุรกิจอื่นๆ จากข้อมูลการสำรวจของ The Nielsen Company (Thailand) ว่าในปี 2562 มีร้านค้าปลีกโชวห่วยทั่วประเทศ จำนวน 443,123 ร้าน แบ่งสัดส่วนเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 34% ภาคกลาง 22% ภาคเหนือ 16% ภาคใต้ 15% และกรุงเทพและปริมณฑล 13% แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของธุรกิจในส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นของไทยให้เข้มแข็ง แต่ด้วยสภาวะการตลาดของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านรูปแบบการแข่งขัน การตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาสั่งซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ประกอบกับร้านค้าโชวห่วยเองยังขาดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่มีการจัดทำบัญชีและภาษี ไม่มีทายาทรับช่วงต่อ ราคาสินค้าแข่งขันไม่ได้ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน อีกทั้งไม่มีช่องทางรายได้อื่น ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น ร้านค้าโชวห่วยในท้องถิ่นจึงต้องปรับตัวด้วยการจัดร้านให้เป็นระบบ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับรูปแบบการทำธุรกิจ เช่น เครื่อง POS มีโปรโมชั่นสนับสนุนจากซัพพลายเออร์ มีสินค้าชุมชนที่เป็นอัตลักษณ์ มีบริการเสริมเพิ่มรายได้ และขยายสู่ออนไลน์ จึงจะสามารถบริหารธุรกิจให้ Smart และเติบโตอย่างยั่งยืน”

“CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ให้ไทยตามกำหนด

People Unity News : “CKPower”โตต่อเนื่อง! ไซยะบุรีพร้อมขายไฟ 1,220 เมกะวัตต์ตามกำหนด เสริมเสถียรภาพพลังงานสะอาดให้ไทยแล้ว 29 ต.ค.นี้ ผู้ถือหุ้นและสถาบันการเงินเตรียมยิ้มรับรายได้ก้อนโต หลังทุ่มเงินลงทุนกว่า 135,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 8 ปี ตอบโจทย์การใช้งานพลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของไทย

วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ คือ “CKP” ผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สปป. ลาว เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป บริษัทฯ จะเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าครบทั้ง 7 เครื่องจากโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ เพื่อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจาก กฟผ.ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมของโรงไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยกฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไซยะบุรีในราคาเฉลี่ยประมาณ 2 บาท ต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ทั้งหมด 1,220 เมกะวัตต์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175 เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยไฟฟ้าจะส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีก 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ เพื่อใช้ภายในสปป.ลาว

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นสัญญาสัมปทานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่รัฐบาลสปป. ลาว ให้แก่บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ CKPower มีระยะเวลาสัมปทาน 31 ปี โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River) แห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีมูลค่าโครงการทั้งสิ้นรวม 135,000 ล้านบาท เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 รวมระยะเวลา 8 ปี

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ทยอยทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มขายไฟฟ้าอย่างไม่เป็นทางการจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกให้ กฟผ.เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7 เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ. ด้วยมาตรฐานที่เข้มงวด ทั้งการทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นเครื่องๆ (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด (Joint Test) เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี สามารถทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่มีเสถียรภาพสูง รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงสามารถทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉิน กรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า CKPower ในฐานะผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนเพิ่มเติมกว่า 19,400 ล้านบาท เพื่อศึกษา พัฒนา และเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัย ด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำมีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย และที่สำคัญเป็นการศึกษาและพัฒนาให้เหมาะกับพันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาในลุ่มแม่น้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดในขณะนี้

“CKPower ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการและโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาล สปป.ลาว รวมทั้งรัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว องค์กร หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ ที่ให้ความเชื่อมั่นในการเป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ สามารถส่งไฟฟ้าสะอาดให้แก่ประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ตรงตามกำหนด บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจบนสมดุลระหว่างผลตอบแทนและการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายธนวัฒน์ กล่าว

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี : ทุนจดทะเบียน 790,000,000 เหรียญสหรัฐ ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CK Power Public Company Limited) 37.5% บริษัท นที ซินเนอร์ยี่ จำกัด (Natee Synergy Company Limited) 25% รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Electricite du Laos) 20% บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Electricity Generating Company Limited) 12.50% และ บริษัท พีที จำกัด (ผู้เดียว) (PT Sole Company Limited) 5%

ข้อมูลเกี่ยวกับ CKPower : บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 โครงการ รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 โครงการ ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

Verified by ExactMetrics