วันที่ 24 พฤศจิกายน 2024

แอร์เอเชียยืนยันกับ ”สมคิด” เตรียมลงทุนในไทยสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน

People unity news online : เมื่อวานนี้ (16 พฤษภาคม 2561) เวลา 14.30 น. นายโทนี่ เฟอร์นานเดส (Mr. Tony Fernandes) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสายการบินแอร์เอเชีย เข้าเยี่ยมคารวะ รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างแอร์เอเชียกรุ๊ปกับรัฐบาลไทย ณ ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ยืนยันความร่วมมือระหว่างกันใน 3 ประเด็น หลัก ดังนี้

  1. แอร์เอเชียยืนยันแผนลงทุน 5 ปี ในการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง-พัทยา) โดยจะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นทั้งสิ้น 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะนี้แผนลงทุนนี้ได้รับการอนุมัติในหลักการแล้ว โดยจะเป็นการร่วมทุนระหว่างแอร์เอเชียกับหุ้นส่วน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการซ่อมบำรุง จะทำให้ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาค
  2. การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ปัจจุบันแอร์เอเชียมีเครื่องสองลำที่ใช้บริการที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาจำนวน 9 แสนคนต่อปี และแอร์เอเชียจะขยายการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เมื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเสร็จสิ้น แอร์เอเชียจะเพิ่มเที่ยวบินจากอู่ตะเภาไปยังยุโรป และออสเตรเลีย ซึ่งจะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารที่ท่าอากาศบายอู่ตะเภาเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทฯเชื่อว่าหากมีการเปิดอาคารผู้โดยสารของสายการบิน Low cost ซึ่งคิดราคาภาษีสนามบินถูกกว่าอาคารผู้โดยสารปกติ จะเป็นการขยายตลาด เพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่สนามบินอู่ตะเภา
  3. การร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะลงทุนที่สนามบินแห่งใหม่ที่อยู่ในแผนการสร้างของรัฐบาลไทย อาทิ เขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่/ลำพูน ชุมพร ระนอง เป็นต้น ทั้งนี้จะส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองของรัฐบาลไทยด้วย

ในตอนท้าย รองนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียที่ให้ความเชื่อมั่นตามแผนการพัฒนาของรัฐบาล และร่วมลงทุนในประเทศไทย

People unity news online : post 17 พฤษภาคม 2561 เวลา 19.10

“ชาติชาย” เผย ธ.ออมสินจะก้าวสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” ในปี 61 นี้

People unity news online : ธนาคารออมสิน เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1 เท่าตัว เพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยและสินเชื่อใหม่เกือบ 150,000 ล้านบาท เป้าหมายปี 2561 มุ่งสู่ “The Best & Biggest Local Bank in Thailand” เป็นธนาคารที่ดีที่สุดเพื่อสังคม – ธนาคารเพื่อรายย่อย – ธนาคารผู้นำด้านดิจิทัล – ธนาคารเพื่อผู้สูงวัย – ธนาคารเพื่อคนรุ่นใหม่ และ SMEs Start Up

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสิน ช่วง 3 เดือนแรก ของปี 2561 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2561) ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 13,479 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,178 ล้านบาท ที่สำคัญมาจากกำไรจากการขายหุ้นสามัญและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดย 3 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 149,303 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 2,059,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45,058 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2,014,123 ล้านบาท ทั้งนี้ เกิดจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ โดยมาตรการของรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยให้สินเชื่อขยายตัวได้ เป็นการให้สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภท ได้แก่ สินเชื่อภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงิน สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจ SMEs สินเชื่อธนาคารประชาชน และสินเชื่อธุรกิจห้องแถว เป็นต้น

ด้านเงินฝาก ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2,172,538 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่ธนาคารมียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 1 ในระบบสถาบันการเงิน จากเงินฝากครบกำหนด แต่ธนาคารมีแผนระดมเงินฝากทั้งเงินฝากสลากออมสินและเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ รวมถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากใหม่ๆที่ตอบสนองความต้องการของผู้ออมเงินออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2,620,862 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2560 จำนวน 42,966 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.61 ซึ่งเป็นไปตามกรอบทิศทางธนาคาร

ขณะเดียวกัน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ยังมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ โดยธนาคารได้ทยอยเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้ทั่วประเทศจำนวน 80 ศูนย์ ซึ่งจะช่วยให้การบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 45,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.19 ของสินเชื่อรวม ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์

“ความร่วมมือร่วมใจกันของผู้บริหารและพนักงาน ส่งผลให้ธนาคารมีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและพันธมิตร รวมถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งการันตีจากการยกย่องและได้รับมอบรางวัลต่างๆมากมาย อาทิ รางวัลสำหรับสถาบัน Best Retail Bank of the Year 2017, รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย, รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2560 รวมถึงรางวัลล่าสุดที่เพิ่งได้รับ คือ รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ Thailand Quality Class จากสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ  ซึ่งเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกในประเทศที่ได้รับรางวัลนี้ นับเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความเป็นเลิศในการบริหารจัดการขององค์กร ที่ทัดเทียมระดับมาตรฐานโลก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

นายชาติชาย กล่าวว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นี้ ได้มุ่งเป้าหมายสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand “ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมุ่งเน้นลูกค้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าฐานราก/นโยบายรัฐ มุ่งเน้น กลุ่มผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้มีหนี้นอกระบบ และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก หรือ พ่อค้า-แม่ค้า 2.กลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งเน้น กลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้สูงวัย และ 3.กลุ่มลูกค้า SMEs มุ่งเน้น กลุ่ม SMEs Start Up

สำหรับกลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารได้เข้าไปสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประชาชนฐานรากอื่นๆ โดยธนาคารจะยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนด้วยกลไก 3 สร้าง ได้แก่ 1.สร้างรายได้/อาชีพ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาอาชีพร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 84 ชุมชน, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์  2.สร้างตลาด ด้วยการจัดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์, ตลาดประชารัฐสีชมพู, ร้านค้าประชารัฐ, Thailand Street Food, e-Market Place ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3.สร้างประวัติทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมการรับชำระเงินผ่าน QR Payment (MyMo Pay และ GSB Pay) โดยได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่า 26,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้มีการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อ Street Food สินเชื่อผู้รับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนการให้ออมก่อนกู้

ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ธนาคารออมสินได้ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย ธนาคารได้ยกระดับธนาคารโรงเรียน สู่ Virtual School Bank ซึ่งจะจูงใจให้นักเรียน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้รับความรู้ความเข้าใจและออกแบบการออมด้วยตัวเองได้ในโลกเสมือนจริง ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค Digital Banking 4.0 ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.gsbschoolbank.com ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้กันมากขึ้น และยังมีโครงการต่างๆอีกมากมายครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล ทั้งด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงโครงการ GSB Generation ที่เน้นกิจกรรมตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่

ขณะที่ กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง ธนาคารจะนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ด้วยบริการ Digi-Thai Life Solution ผ่านบริการ Mobile Banking ในชื่อ MyMo ของธนาคารออมสิน บริการธุรกรรมออนไลน์ฟรีค่าธรรมเนียม, MyMo My Life ครบทุกความต้องการในแอพเดียว ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกันชีวิต, Market Place ธุรกิจใหม่บนมือถือรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่, QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในอนาคต

นายชาติชาย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย รองรับการก้าวเข้าสู่ Aging Society ของประเทศ ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัย เมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้บริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ที่ธนาคารเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ส่วน กลุ่ม SMEs Start Up จะมุ่งเน้นพัฒนา SMEs ให้มีนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มเป้าหมาย จัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน สำหรับในกลุ่ม SMEs นั้น ธนาคารได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มเติมจาก 18 ศูนย์ ในปี 2560 เป็น 37 ศูนย์ ในเดือนมีนาคม 2561 และจะครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารพาณิชย์มีทิศทางการปิดสาขามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนนั้น ปัจจุบันธนาคารออมสินมีสาขา 1,059 แห่ง จะไม่มีการปิดสาขา แต่จะปรับรูปแบบสาขา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและลดต้นทุนของสาขา ได้แก่ ปรับบทบาทพนักงานบริการให้เป็นพนักงานขายมากขึ้น, เพิ่มเครื่องให้บริการอัตโนมัติ (Self Service Zone), เพิ่มพื้นที่การขายภายในสาขาทั้งการขายโดยการปรับบทบาทของพนักงานและการร่วมกับพันธมิตร, เปิดสาขาที่เป็น Flagship และสาขา Digital เต็มรูปแบบ รวมถึงบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้เสมือนหนึ่งการให้บริการของสาขา

อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจดังกล่าว ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนภายในองค์กร (Internal Change) โดยเพิ่มหน่วยงานใหม่เพื่อพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ล้ำสมัย รองรับการเป็น Digital Banking และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจับมือคู่ค้าพันธมิตรเพื่อต่อยอดธุรกิจ อาทิ กลุ่มฟินเทค กลุ่มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้นรวมถึงการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆจากการร่วมลงทุน (Venture Capital) กับ Start Up ที่มีศักยภาพ อาทิ ธุรกิจบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Management), ธุรกิจติดตามและประมวลผลข้อมูลอัจฉริยะ (Monitoring & Analytics), ธุรกิจบริหารจัดการโปรแกรมสะสมแต้ม (Loyalty Program Card), หนังสือ/นิตยสารออนไลน์ (Online Book and Magazine), การตลาดดิจิทัล (Digital Marketing) เป็นต้น

“การมุ่งไปสู่ The Best & Biggest Local Bank in Thailand นั้น ธนาคารมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และช่องทางการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุม มุ่งมั่นให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนได้เข้าถึงทุกๆพื้นที่ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรที่สอดรับกับ Life Style ของลูกค้าในยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Digi-Thai Life Solution” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

People unity news online : post 7 พฤษภาคม 2561 เวลา 22.10 น.

“กอบชัย” แจง MOU กับ Alibaba ไทยไม่เสียประโยชน์ ข้อมูลผู้ประกอบการไทยไม่รั่วไหล

People unity news online : “กอบชัย” แจงเซ็น MOU กับ Alibaba ไทยไม่เสียประโยชน์ ปัดข่าวข้อมูลผู้ประกอบการไทยรั่วไหล ย้ำ MOU 4 ฉบับ เน้นพัฒนา SMEs ทุกระดับ

22 เมษายน 2561 อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยข่าวการเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยกับกลุ่มบริษัท อาลีบาบา (Alibaba) จะทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบทางการค้านั้น ยืนยันว่าไทยไม่เสียเปรียบแต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจออนไลน์ของไทยเข้าสู่ตลาดสากลได้มากขึ้น พร้อมระบุ MOU ดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิบริษัท อาลีบาบา ในการดึงข้อมูลของผู้ประกอบการไทยออกไปได้ แต่กลับช่วยให้ผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดการค้าเสรีได้ง่ายขึ้น และได้ประโยชน์จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์ของบริษัทอาลีบาบาอีกด้วย

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมีกระแสข่าวความไม่เข้าใจต่อการที่หน่วยงานภาครัฐ ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) 4 ฉบับกับทางบริษัท อาลีบาบา ประกอบด้วย 1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) และอาลีบาบา 2) ความร่วมมือด้านการลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับ (Smart Digital Hub) ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ระหว่างสานักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กรมศุลกากร และบริษัท Cainiao Smart Logistics Network Hong Kong Limited 3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาเอสเอ็มอี และบุคลากรด้านดิจิทัล ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และวิทยาลัยธุรกิจอาลีบาบา หรือ Alibaba Business School (ABS) และ 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านระบบดิจิทัลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอาลีบาบา เพื่อจัดทำไทยแลนด์ทัวริสต์ แพลตฟอร์ม สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ โดยระบุว่าการลงนามดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยทั้งในเรื่องโอกาสในการแข่งขันทางการค้า และการตลาด รวมถึงเรื่องของข้อมูลของบริษัทนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ขอชี้แจงว่า ความร่วมมือที่รัฐบาลไทยทำข้อตกลงกับอาลีบาบา มุ่งเน้นการพัฒนาให้เอสเอ็มอีทุกระดับ รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มธุรกิจเกษตรทั่วประเทศให้มีความรู้และทักษะทางด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ สามารถเข้าถึงตลาดออนไลน์สู่ประเทศจีนและตลาดสากล โดยอาลีบาบาจะมาช่วยอบรมให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ผู้บริการ(Service Provider)ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบด้านโลจิสติกส์โดยอาศัยเทคโนโลยีของอาลีบาบาเข้ามาช่วยให้สามารถส่งสินค้าของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไปยังตลาดจีนและตลาดสากลได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ จะใช้กรณีของอาลีบาบาเป็นภาคปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practice) ในการปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ไทยอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน

“ส่วนความกังวลที่ว่าอาลีบาบาจะได้ฐานข้อมูล (ดาต้าเบส) ของไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผมขอชี้แจงว่าไม่มีประเด็นใดที่จะนำออกซึ่งข้อมูลในระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะข้อมูลของผู้ประกอบการไทย โดยหน่วยงานต่างๆต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการปี พ.ศ.2540 อย่างเคร่งครัด ซึ่งหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใดเลือกที่จะทำตลาดออนไลน์กับอาลีบาบาก็จะได้ประโยชน์จากข้อมูลการวิเคราะห์ตลาดเป้าหมายผ่านการวิเคราะห์จากระบบฐานข้อมูลของอาลีบาบาด้วย และการเข้ามาของนายแจ็ค หม่า ประธานของอาลีบาบา ที่ทำให้นักธุรกิจไทยเกิดความวิตกกังวลนั้น ผมขอเรียนชี้แจงว่า ตลาดการค้าออนไลน์เป็นตลาดการค้าเสรี แม้ในปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยก็สามารถเลือกซื้อสินค้าจากประเทศจีนผ่านทางเว็บไซต์ออนไลน์ได้ในหลากหลายช่องทางอยู่แล้ว ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยสามารถขายสินค้าได้มากขึ้น ช่วยให้ตลาดจีนและผู้บริโภคชาวจีนที่อยู่ในระบบออนไลน์ ซึ่งมีจำนวนกว่า 500 ล้านคน และตลาดของจีนได้รับรู้ถึงศักยภาพของสินค้าและบริการของไทย ที่สำคัญยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นการส่งออกไปเป็นเน้นการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศมากขึ้น โดยความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับอาลีบาบาไม่ได้เน้นการนำเข้าสินค้าจากจีนมาบริโภคในประเทศไทย แต่เป็นการสร้างเครื่องมือเพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าที่มีคุณภาพของไทยสามารถเข้าไปขายในประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ได้มากขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าว

People unity news online : post 23 เมษายน 2561 เวลา 12.10 น.

“บิ๊กตู่” สั่งเร่งเครื่องโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมชายแดนใต้ แนะปลูกปาล์มให้สอดรับตลาด

People unity news online : เมื่อวานนี้ (4 เมษายน 2561) เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมพญาตานี ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดปัตตานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนภาคเอกชน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพต้องพัฒนาเชื่อมโยงไปสู่จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความปรองดองและความสงบในพื้นที่ต่อไป สำหรับการเสนอและดำเนินการเสนอขอโครงการต่างๆนั้น เพื่อให้เกิดผลโดยเร็วและสามารถดำเนินการได้ ให้เสนอแยกเป็นตอนๆ เป็นช่วงๆ แทนการเสนอในภาพใหญ่ และต้องรายงานการใช้งบประมาณอย่างละเอียด โปร่งใส สุจริต โดยให้คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้นำเสนอโครงการสำคัญ ดังนี้

1.ความก้าวหน้าการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการขยายกำลังการผลิตปาล์มน้ำมัน และขอให้คำนึงถึงปริมาณการปลูกปาล์มให้สอดคล้องกับความต้องการ และให้เตรียมมาตรการรองรับราคาปาล์มด้วย ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว ให้กำหนดพื้นที่ปลูกมะพร้าวพร้อมจัดสรรพื้นที่สาธารณะให้ปลูกมะพร้าวโดยให้บริหารจัดการร่วมกัน  พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการต้นแบบ รวมทั้งให้สถาบันการศึกษาในพื้นที่วิจัยพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการผลิต

2.การบริหารจัดการด้านพลังงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดภาคใต้ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยชุมชน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านระบบไฟฟ้าของพื้นที่และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ชายแดนเป็นแหล่งที่มีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจำนวนมาก

3.ผลการดำเนินงานด้านคมนาคม (ท่าเทียบเรือปัตตานี/ท่าอากาศยานเบตง) นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างความเจริญให้กับพื้นที่

4.การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว (การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน/แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่) นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ขยายผลการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้านรายได้โดยตรง รวมทั้งควรสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยง เชื่อมต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวควบคู่กับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่แบบแพ็คเกจ สร้างสตอรี่เรื่องราวต่างๆให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้คนเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยให้จัดทำแผน กำหนดกิจกรรมการท่องเที่ยว และกำหนดกลุ่มเป้าหมายอย่างเชื่อมโยงขยายไปสู่การท่องเที่ยวในกลุ่มพื้นที่ต่อไป

และ 5.ผลการดำเนินงานยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้พัฒนาปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เยาวชนเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และเป็นแรงงานที่มีศักยภาพสามารถสร้างโอกาสในการทำงานต่อไป พร้อมส่งเสริมให้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตร 2 ภาษา รวมทั้งส่งเสริมให้มีโรงเรียนประจำในพื้นที่และทำให้ได้โดยเร็ว

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำให้ส่วนราชการต่างๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ หากมีปัญหาอุปสรรคให้รีบแก้ไข และพยายามหาแนวทางใหม่ๆที่สร้างสรรค์เพื่อให้การพัฒนาชายแดนใต้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

People unity news online : post 5 เมษายน 2561 เวลา 10.00 น.

ธอส.ออกสินเชื่อบ้าน 5 แพ็คเกจ ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย

People unity news online : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เตรียมวงเงินรวม 28,500 ล้านบาท จัดทำแพ็คเกจสินเชื่อบ้านเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้าทุกระดับรายได้ ครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์การกู้ ตอบโจทย์ลูกค้าทุกระดับ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 2561 ได้ตามเป้าหมายจำนวน 189,000 ล้านบาท ธนาคารจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย ครอบคลุมทุกวัตถุประสงค์การกู้ และตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกระดับ เพื่อให้ ธอส. ก้าวสู่การเป็นที่ 1 ในใจของลูกค้า และเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน ธนาคารจึงได้จัดทำแพ็คเกจสินเชื่อบ้านเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าทุกระดับรายได้ภายใต้กรอบวงเงินกว่า 28,500 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.สินเชื่อบ้านสวัสดิการ / รายย่อย (Housing Solution) ปี 2561 (กรอบวงเงิน 11,500 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 เท่ากับ MRR-3.95% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.80% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.25% ต่อปี หรือเท่ากับ 3.50% ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.25% ต่อปี หรือเท่ากับ 4.50% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR  (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.75% ต่อปี) สำหรับพนักงานเอกชนที่มีสิทธิขอกู้เงินตามคำนิยามในข้อตกลงโครงการสวัสดิการเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยประเภทไม่มีเงินฝากที่หน่วยงานได้ลงนามกับธนาคาร ลูกค้ารายย่อยทั่วไป ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม ซื้อที่ดินเปล่าที่เป็นทรัพย์ NPA ของ ธอส. ไถ่ถอนจำนอง ชำระหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

2.สินเชื่อบ้านโครงการจัดสรร (Developer) ปี 2561 (กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 เท่ากับ MRR-4.00% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.75% ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.50% ต่อปี หรือเท่ากับ 3.25% ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.25% ต่อปี หรือเท่ากับ 4.50% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR สำหรับลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการจัดสรรที่ธนาคารรับเป็นโครงการ Fast Track / Smart Fast Track / Regional Fast Track / LTF ที่ดำเนินโครงการ โดยผู้ประกอบการจัดสรร (Developer) ที่มีข้อตกลงร่วมกับธนาคาร ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

3.สินเชื่อบ้านสุขสันต์ (Refinance In) ปี 2561 (กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR-3.85% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.90% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR สำหรับลูกค้าที่มีประวัติหนี้ที่ดีกับสถาบันการเงินเดิมย้อนหลัง 12 เดือน ให้กู้เพื่อไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมกับไถ่ถอนจำนอง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

4.โครงการสินเชื่อบ้านเพิ่มสุข ปี 2561 (กรอบวงเงิน 2,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR-2.85% ต่อปี หรือเท่ากับ 3.90% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR ต่อปี สำหรับลูกค้าปัจจุบันของธนาคารที่มีประวัติการผ่อนชำระหนี้ย้อนหลัง 24 เดือน สม่ำเสมอและปกติ และมียอดเงินต้นที่ชำระคืนให้ธนาคารแล้วทุกบัญชีรวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 บาท สามารถกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม

5.โครงการสินเชื่อบ้านมั่งมี ศรีสุข (กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ MRR-3.85% ต่อปี หรือเท่ากับ 2.90% ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้ กรณีสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อย เท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี และกรณีกู้ซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR สำหรับลูกค้าที่มีสวัสดิการและลูกค้ารายย่อยทั่วไป ให้กู้เพื่อซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ซ่อมแซม และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมกับเพื่อซื้อ ยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ฟรี ได้แก่ (1)ฟรีค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ 0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม (2)ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน (3)ฟรีค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และ (4)ฟรีค่าจดทะเบียนจำนอง

ลูกค้าที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

People unity news online : post 10 มีนาคม 2561 เวลา 11.00 น.

รัฐบาลแจงให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมส่งผลดีในอนาคต

People unity news online : รัฐบาลแจงเหตุผลกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม ย้ำเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาด้านราคาในอนาคต ชี้ปัจจุบันการซื้อขายยางยังปกติ วอนทุกฝ่ายเข้าใจให้ถูกต้อง

วันนี้ (17 มกราคม 2561) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายดังกล่าว ว่า โดยปกติแล้วหากสินค้าใดเป็นสินค้าควบคุม จะทำให้กระทรวงพาณิชย์มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบหรือติดตามดูข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับสินค้านั้นได้ เช่น ตรวจสอบราคาทุน ราคาซื้อ ราคาขาย ฯลฯ พร้อมทั้งกำหนดให้มีมาตรการที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ หรือบรรดาเกษตรกรทั้งหลาย

ดังนั้น การกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม จึงเป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลเตรียมการไว้สำหรับแก้ไขปัญหาราคายางพาราในอนาคต หากเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับผู้ผลิต เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้บริโภค หรือผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายยางพาราเท่านั้น

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมทั้งย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยางพาราในส่วนราชการต่างๆมากขึ้น และสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ได้แปรรูปยางพาราไปใช้ในกิจการอื่นๆ รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการไว้ป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในวันข้างหน้า เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทุกฝ่าย

“ปัจจุบันการซื้อขายยางพารายังคงเป็นไปตามปกติ โดยกระทรวงพาณิชย์ในฐานะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราแต่อย่างใด นอกจากนี้ คณะกรรมการกลางฯมีหน้าที่ต้องพิจารณาทบทวนรายการสินค้าควบคุมทุกๆ 1 ปี เพื่อดูว่าสินค้าแต่ละรายการยังสมควรเป็นสินค้าควบคุมอีกต่อไปหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่จำเป็น ก็จะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาถอดสินค้านั้นออกจากรายการสินค้าควบคุมได้”

People unity news online : post 17 มกราคม 2561 เวลา 09.30 น.

ธอส.จัดงานตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์รักประชาชน 18 -20 ธ.ค.นี้ ที่สำนักงานใหญ่

People unity news online : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์รักประชาชน ครั้งที่ 4” เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และส่งเสริมให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 9 แห่ง มีพื้นที่ในการประกอบอาชีพ และส่งเสริมการใช้สินค้าชุมชน ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และช่วยส่งเสริมให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยกำหนดจัดงานตั้งแต่วันที่ 18 -20 ธันวาคม 2560 เวลา 07.00-16.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคาร 1 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ พระราม 9

โดยจะมีพิธีเปิดงานตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์รักประชาชน ครั้งที่ 4 ในวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2560 เวลา 09.15 น. โดยมี นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงาน SFIs ร่วมพิธีเปิดงาน ณ บริเวณหน้าอาคาร 1 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ พระราม 9

ธนาคารฯจึงขอเชิญพี่น้องประชาชนในละแวกใกล้เคียง และลูกค้าธนาคารฯ ไปเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์คุณภาพดี ราคาถูกในงานนี้

People unity news online : post 16 ธันวาคม 2560 เวลา 22.20 น.

ธอส.เห็นใจประชาชน ออก 6 มาตรการการเงินช่วยเหลือผู้ประสบน้ำท่วม

People unity news online : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 6 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด จนส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน พร้อมที่จะเป็นกลไกหลักในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้าประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมถึงมาตรการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดระดับลง โดยเตรียมวงเงิน 500 ล้านบาท จัดทำ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี 2560” โดยธนาคารจะพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ได้รับผลกระทบ ธนาคารจะลดภาระดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 3 เดือนแรก เดือนที่ 4-12 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.75% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่อาคารหรือบ้านได้รับความเสียหาย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคารที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี  ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

สำหรับผู้ที่ต้องการกู้เพื่อปลูกสร้างซ่อมแซมอาคาร ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน โดยคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้าร่วม “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2560” จะต้องเป็นลูกหนี้เดิมของ ธอส. หรือลูกค้าใหม่ ซึ่งมีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองหรือคู่สมรส และได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถติดต่อได้ที่สาขาของธนาคารอาคารสงเคราะห์ตั้งแต่วันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

People unity news online : post 31 ตุลาคม 2560 เวลา 21.50 น.

ก.คลังชี้แจงไม่ได้ยึดเงินฝากบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกิน 10 ปี เพียงแต่นำมาเก็บไว้ที่คลัง

People unity news online : ตามที่กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน พ.ศ. …. ทางเว็บไซต์ www.fpo.go.th และอาจสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้กับประชาชน ดังนั้น สศค. จึงขอชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้

ปัจจุบัน ประชาชนส่วนหนึ่งมีการฝากเงินทิ้งไว้ที่สถาบันการเงินโดยที่บัญชีเงินฝากดังกล่าวไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน (Dormant Account) ซึ่งประชาชนอาจทราบหรือไม่ทราบก็ตาม ซึ่งในส่วนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเงินฝากดังกล่าวออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่

(1)  กรณีเงินฝากมียอดเงินฝากคงเหลือน้อยกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ธนาคารสามารถเรียกเก็บค่าบริการรักษาบัญชีเงินฝากได้ หากมียอดคงเหลือในบัญชีเงินฝากน้อยกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด (ส่วนใหญ่ ธนาคารจะกำหนดยอดขั้นต่ำไว้ที่ 2,000 บาท และเก็บค่าบริการรักษาบัญชีจนกระทั่งเงินในบัญชีหมดไป)

(2)  กรณีบัญชีเงินฝากที่ไม่เคลื่อนไหวมียอดเงินฝากคงเหลือสูงกว่าขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด ธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บบริการรักษาบัญชีเงินฝากสำหรับเงินในส่วนนี้ได้ ทั้งนี้ ธนาคารสามารถแยกเงินในบัญชีนี้ออกเป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว โดยต้องแจ้งยอดเงินฝากคงเหลือเป็นจดหมายลงทะเบียนหรือจดหมายรับรองให้ลูกค้าทราบ และหากลูกค้าหรือทายาทยังไม่ติดต่อกลับมายังธนาคารตามระยะเวลาที่กำหนด ธนาคารจะแยกเงินในบัญชีนี้ออกเป็นบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหว และที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์จากเงินในส่วนนี้ ผ่านการรับรู้เงินในบัญชีดังกล่าวเป็นรายได้

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระบบสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน กระทรวงการคลังจึงได้มีการยกร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้อำนาจกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกินกว่า 10 ปีขึ้นไปของประชาชนแทนสถาบันการเงิน และจัดทำระบบการค้นหาข้อมูลออนไลน์เพื่อสืบค้นเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหว เพื่อให้ประชาชนเจ้าของบัญชีหรือทายาทตามกฎหมายสามารถสืบค้นและขอเงินต้นคืนได้ตลอดเวลา ผ่านการดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนด ทั้งนี้ หากไม่มีการจัดทำระบบการค้นหาข้อมูลข้างต้น ประชาชนอาจจะลืมหรือไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีเงินจำนวนดังกล่าวอยู่ หรือหากประชาชนต้องการสืบค้นเงินดังกล่าวก็จำเป็นต้องติดต่อสอบถามสถาบันการเงินเป็นรายๆไป

ทั้งนี้ ในต่างประเทศได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกัน เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จะนำเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมาบริหารจัดการเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งไปเพื่อสาธารณประโยชน์ และกันเงินสำรองอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อคืนเงินแก่ประชาชนที่มาขอเรียกเงินคืน

ในการนี้ สศค. จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายดังกล่าวถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ผ่านทาง Fax: 0 2618 3366 Email:  fpo.hearing@gmail.com

ก.คลังชี้แจงไม่ได้ยึดเงินฝากบัญชีไม่เคลื่อนไหวเกิน 10 ปี เพียงแต่นำมาเก็บไว้ที่คลัง

People unity news online : post 30 ตุลาคม 2560 เวลา 00.20 น.

รัฐบาลยืนยันใช้บัตรคนจนซื้อสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ ไม่เอื้อผู้ผลิตรายใหญ่

People unity news online : เมื่อวานนี้ (8 ตุลาคม 2560)  พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวิจารณ์กรณีการซื้อสินค้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ร้านธงฟ้าประชารัฐเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ว่า ประชาชนผู้ถือบัตรสามารถเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพได้ทุกชนิดทุกยี่ห้อของผู้ผลิตทุกราย ครอบคลุมทั้งสินค้าอาหารสด ของใช้ในชีวิตประจำวัน อุปกรณ์การเรียน และวัตถุดิบทางการเกษตร

“ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เปิดรับสมัครผู้ผลิตสินค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ผลิตในชุมชน สหกรณ์วิสาหกิจชุมชน และบริษัทใหญ่ ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มใดเป็นพิเศษ และยังเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทางเลือกให้กับผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้เลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตสินค้าเข้าร่วมโครงการจำนวน 24 ราย 40 สินค้า 318 รายการ แยกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 31 สินค้า 160 รายการ อุปกรณ์การเรียน 8 สินค้า 72 รายการ และวัตถุดิบเพื่อการเกษตร 1 สินค้า 86 รายการ ซึ่งสินค้าเหล่านี้มีราคาถูกกว่าท้องตลาดร้อยละ 10 – 20”

ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการดำเนินงานเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเน้นให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้มีรายได้น้อย พร้อมทั้งได้กำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังเร่งติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC ตามร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าที่เข้าร่วมรายการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และแจ้งรายละเอียดวิธีการใช้งานและเงื่อนไขต่างๆ ให้เจ้าของร้านค้าและผู้ถือบัตรทราบอย่างทั่วถึง เพื่อป้องกันปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อน ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเป็นห่วงเรื่องวิธีปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจเข้าข่ายการทุจริตประพฤติมิชอบ เช่น ผู้ถือบัตรนำบัตรไปแลกเป็นเงินสดจากร้านธงฟ้าประชารัฐโดยไม่รับสินค้า หรือร้านค้าบางแห่งที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องรูดบัตร EDC แต่ให้ผู้ถือบัตรรับสินค้าออกไปก่อนและยึดบัตรไว้ เป็นต้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปแก้ปัญหาโดยเร็ว เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง โดยหากพบการกระทำผิดในส่วนของร้านค้าอาจถูกถอดออกจากทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์และยึดเครื่องรูดบัตรคืน ส่วนผู้ถือบัตรอาจถูกระงับวงเงินในบัตรทันที

สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบรายชื่อและพิกัดที่ตั้งของร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ http://www.shop.moc.go.th/

People unity news online : post 9 ตุลาคม 2560 เวลา 12.30 น.

Verified by ExactMetrics