วันที่ 4 ธันวาคม 2024

เปิดรายละเอียด! มติ ครม. อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – โคราช

การประชุมคณะรัฐมนตรี 11 กรกฎาคม 2560

People unity news online : อ่านรายละเอียด! มติ ครม. อนุมัติสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอเรื่องขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ดังนี้

1.อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ในวงเงิน 179,413 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ 2560 – 2563) โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) หรือการจัดจ้างลักษณะอื่นๆตามระเบียบ รฟท. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ระเบียบกรมบัญชีกลาง มติคณะรัฐมนตรี และระเบียบราชการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

2.ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น  โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปีและ /หรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม  เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการฯโดยใช้เงินกู้ เห็นควรอนุญาตให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 (4)

3.เสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 และมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดให้การกระทำสัญญาที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพันต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

คค. รายงานว่า รฟท. ได้เสนออนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา- หนองคาย ตามกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ  ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีมติ (21 มิถุนายน 2559  27 กันยายน 2559 และ 29 พฤษภาคม 2560) อนุมัติให้ รฟท. ดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว

ความสำคัญของโครงการฯ มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ นำไปสู่โอกาสทางการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ดังนี้

1.จะเป็นการเชื่อมโยงโอกาสการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไปสู่จังหวัดในโครงข่ายในการพัฒนา ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ในระยะแรก  และนำไปสู่เขตจังหวัดขอนแก่น  อุดรธานี  และหนองคาย  ในระยะต่อไป  อันเป็นการเปิดโอกาสด้านการพัฒนาเมือง การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว  นำไปสู่การกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน  รวมทั้งสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  อีกทั้งลดการย้ายถิ่นฐาน สร้างงานในพื้นที่และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานยังคงอยู่อาศัยกับครอบครัวในสังคมผู้สูงอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า

2.จะนำไปสู่การเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งจะสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางบกของประเทศไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนที่แท้จริง  ตลอดจนจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายคมนาคม One Belt One Road  เชื่อมไปสู่กลุ่มประเทศที่สำคัญผ่านโครงข่ายสาธารณรัฐประชาชนจีนในอนาคต เป็นลู่ทางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวให้แก่นักธุรกิจของไทย ผู้ประกอบการขนส่ง เกษตรกร  เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply  Chain)  ไปสู่การเปิดตลาดใหม่ๆได้อย่างยั่งยืน

ลักษณะโครงการ มีระยะทางรวม 253  กิโลเมตร  ประกอบด้วย 6 สถานี  โดยเริ่มต้นที่สถานีกลางบางซื่อ  สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา  สถานีสระบุรี  สถานีปากช่อง  และสิ้นสุดที่สถานีนครราชสีมา  ใช้ระยะเวลาการเดินทางจากสถานีกลางบางซื่อถึงสถานีนครราชสีมา  ประมาณ  1 ชั่วโมง 30 นาที และมีศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟเชียงรากน้อย  ทั้งนี้ ใช้รถโดยสารที่มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่ง / ขบวนความเร็วสูงสุด  250 กม./ชม. โดยมีอัตราค่าโดยสาร 80 บาท +1.8 บาท/คน/กิโลเมตร

ผลประโยชน์ทางตรง ได้แก่  มูลค่าของการประหยัดเวลาในการเดินทาง มูลค่าของการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ  มูลค่าการประหยัดจากการกำจัดมลพิษ  มูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุที่ลดลงของโครงการ

ผลประโยชน์ทางอ้อม จากการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้เกิดการกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ส่วนภูมิภาค  ซึ่งจะเป็นการพัฒนาเมืองอย่างก้าวกระโดด  โดยเฉพาะต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองในพื้นที่โครงการ  4 จังหวัด  และพื้นที่โดยรอบสถานี และเมื่อโครงข่ายมีความสมบูรณ์ทั้งระบบจะเกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  และส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการค้าชายแดนอีกทางหนึ่งด้วย โดยสามารถสร้างผลตอบแทนเชิงกว้างที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่โครงการ 4 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดปทุมธานี  พระนครศรีอยุธยา  สระบุรี  และนครราชสีมา ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ผลประโยชน์ของโครงการ ทั้งทางตรงและทางอ้อม  (Project Benefit) ถือว่าโครงการความร่วมมือฯมีความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ส่วนรวม

People unity news online : post 12 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.00 น.

“ลุงตู่” ห่วงผู้ค้าฟุตบาท สั่ง รมช.พาณิชย์ ลงมาช่วยเหลือ-บูรณาการร่วมกับ กทม.

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

People unity news online : “มือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รับบัญชาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ลงมาดูแลช่วยเหลือผู้ค้ารายเล็กรายน้อยบนทางเท้า (ฟุตบาท) ในพื้นที่ กทม. ให้สามารถทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ ภายหลังจากที่ กทม. จัดระเบียบทางเท้าใน กทม. และห้ามผู้ค้ารายเล็กรายน้อยใช้พื้นที่ทางเท้าขายของ

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้เดินทางมาประชุมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร กทม. เพื่อหาทางให้ความช่วยเหลือและพัฒนาผู้ค้าบนทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครภายหลังจากที่ กทม. จัดระเบียบทางเท้าใน กทม. และห้ามผู้ค้ารายเล็กรายน้อยใช้พื้นที่ทางเท้าขายของ ซึ่งสร้างความยากลำบากในการหาเลี้ยงชีพของผู้ค้ารายเล็กรายน้อย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ People unity news online ว่า กระทรวงพาณิชย์จะลงมาแก้ไขปัญหานี้ร่วมกับ กทม. โดยจะช่วยเหลือให้ผู้ค้ารายเล็กรายน้อยบนทางเท้าได้มีที่ขายเป็นหลักแหล่งและอยู่ในทำเลที่สามารถขายของได้ อีกทั้งจะช่วยพัฒนาผู้ค้ารายย่อยซึ่งถือเป็นเส้นเลือดฝอยทางเศรษฐกิจของ กทม. หลังจากที่ กทม.ได้ดำเนินการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าไปแล้ว ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่กระทรวงพาณิชย์จะเข้ามายกระดับการค้ารายย่อยบนทางเท้าให้เข้าสู่รูปแบบมาตรฐานสากล โดยกระทรวงพาณิชย์จะช่วยสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนให้กับผู้ค้า และการเข้าถึงแหล่งผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาผู้ค้ารายย่อยทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้มีมาตรฐาน เป็นการยกระดับผู้ค้ารายย่อยให้มีความเข้มแข็ง สามารถเติบโต และยืนได้ด้วยตนเอง

“ท่านนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้ค้ารายย่อยรายเล็กรายน้อยใน กทม. ซึ่งที่ผ่านมาต้องใช้ทางเท้าเป็นที่ขายของหาเลี้ยงชีพและครอบครัว จึงบัญชาให้กระทรวงพาณิชย์ลงมาบูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับทาง กทม.เป็นการด่วน เพื่อจัดหาพื้นที่ให้ขายเป็นหลักแหล่ง จะได้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปมา มีความยากลำบากในการทำมาหากิน ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าผู้ค้ารายย่อยหรือรายเล็กรายน้อยคือเส้นเลือดฝอยของเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง หากเกิดการค้าการขายและการบริโภคในระบบเศรษฐกิจฐานรากมากเท่าใด ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความคึกคักและเติบโตโดยอัตโนมัติ”

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า กทม. และกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกันหลายเรื่อง คือ แนวทางการเพิ่มคุณภาพผู้ค้าผู้ประกอบการ การยกระดับสินค้าที่จำหน่ายให้มีมาตรฐาน การหาสถานที่ให้ผู้ค้าที่ กทม.จัดระเบียบแล้ว และการช่วยเหลือด้านการเงิน ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง กทม. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่จัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าที่เหมาะสม กำหนดรูปแบบการตั้งวางสินค้า หลักเกณฑ์การจำหน่ายสินค้า โดยเน้นความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม สะอาด และได้มาตรฐาน การให้ความช่วยเหลือผู้ค้าในด้านเงินทุนและการเข้าถึงแหล่งผลิตเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรับทราบ

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานที่จำหน่ายสินค้าที่คณะทำงานจะจัดหาใหม่ จะไม่ใช่ทางเท้าที่ กทม.จัดระเบียบแล้วอย่างแน่นอน แต่อาจเป็นสถานที่ของหน่วยงานราชการหรือพื้นที่ของเอกชนก็ได้ ซึ่งสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตจะช่วยกันพิจารณาหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป

People unity news online : post 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 18.00 น.

การเคหะแห่งชาติเปิดบ้านให้ กอช.เข้าไปส่งเสริมการออมแก่ชาวชุมชน

People unity news online : กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ จัดโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะแห่งชาติ นำร่อง 4 พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่ม ชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหม ชุมชนบ้านเอื้ออาทรพหลโยธิน 44 และชุมชนบ้านเอื้ออาทรเมืองใหม่บางพลี เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนการเงิน และผลักดันให้เกิดพฤติกรรมการออมเพื่อสร้างหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิตยามชราภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยได้เปิดตัวโครงการที่ชุมชนบ้านเอื้ออาทรบึงกุ่มและชุมชนบ้านเอื้ออาทรสายไหมเป็นแห่งแรกเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวว่า การจัดโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะฯ เป็นการปูพรมลงพื้นที่เพื่อให้เกิดการสื่อสารแก่คนในชุมชนแบบเข้าถึง โดยอาศัยกลไกความร่วมมือระหว่างประชาชน ชุมชน และภาครัฐผ่านการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของ กอช. รวมถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นสมาชิก กอช. แก่ประชาชนในชุมชนการเคหะแห่งชาติ โดย กอช. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของข้อมูลข่าวสารในการเผยแพร่และชี้แจงแก่ประชาชน ผ่านช่องทางการสื่อสารภายในชุมชน อาทิ กิจกรรมพิเศษ เสียงตามสาย ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ค เป็นต้น นอกจากนี้ กอช. ยังมุ่งหวังในการสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนในชุมชนการเคหะแห่งชาติตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนทางการเงินรวมถึงมีการเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงแก่ตนเอง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ผู้มีรายได้น้อย ผู้มีรายได้ปานกลางและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งและยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของการเคหะแห่งชาติ

“กอช.ยังคงเร่งผลักดันระบบการออมเพื่อการชราภาพให้สะดวกในการเข้าถึงและครอบคลุมในทุกพื้นที่ยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคี เพื่อสร้างเครือข่ายการออมที่จะมาช่วยกันสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนต่อไป สำหรับโครงการประชาสัมพันธ์กองทุนการออมแห่งชาติในชุมชนการเคหะฯ นับเป็นโครงการที่มีกระแสตอบรับที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจมีการขยายผลไปยังพื้นที่ชุมชนอื่นๆต่อไป” นายสมพรกล่าว

People unity news online : post 20 มิถุนายน 2560 เวลา 20.16 น.

พาณิชย์จับมือการเคหะฯปักธงเปิดตลาดประชารัฐถาวรใจกลางกรุง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

People unity news online : “มือเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จับมือ การเคหะแห่งชาติ ปักธงเปิดตลาดประชารัฐใจกลางกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ชุมชนการเคหะขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ห้วยขวาง ดินแดง คลองจั่น และบ่อนไก่ เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง โดยก่อให้เกิดกำลังซื้อ-กำลังขายในชุมชนฐานรากในเมืองกรุง พร้อมเล็งเปิดตลาดขยายไปยังชุมชนการเคหะในต่างจังหวัดอีกด้วย

16 มิถุนายน 2560 ที่กระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือร่วมกับ ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และผู้บริหารการเคหะแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้พื้นที่ของชุมชนการเคหะแห่งชาติ เปิด “ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะ” ขึ้นในใจกลางกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ผลการหารือได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ชุมชนการเคหะในกรุงเทพฯ 4 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนเคหะห้วยขวาง ดินแดง บ่อนไก่ และคลองจั่น มีความเหมาะสม เนื่องจากเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยจะพิจารณานำร่องเปิดตลาดประชารัฐฯขึ้นเป็นแห่งแรกในชุมชนใดชุมชนหนึ่งภายใน 3 เดือนนี้ ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะเป็นผู้พิจารณาจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสม และจัดระเบียบพื้นที่ แล้วให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาจัดสร้างตลาดในลักษณะอาคารถาวร พร้อมกับนำสินค้ามาจำหน่ายให้แก่พี่น้องประชาชน ทั้งประชาชนในชุมชนการเคหะ และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะทำให้ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะเป็นตลาดที่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากตลาดทั่วไปที่มีอยู่ ทั้งในแง่รูปแบบตลาด และในแง่สินค้าที่จะนำเข้ามาจำหน่าย เพื่อก่อให้เกิดกำลังซื้อและกำลังขายมากที่สุด อันจะทำให้ตลาดประชารัฐฯเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมืองกรุง สร้างรายได้ สร้างการจับจ่ายใช้สอย และนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างกำลังการผลิตให้กับผลผลิตต่างๆ

สำหรับสินค้าที่อยู่ในข่ายจะนำเข้ามาจำหน่ายในตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะ ประกอบด้วย ผลผลิตทางการเกษตร พืชผัก ผลไม้ ข้าวสารจากชาวนา หรือผลผลิตอื่นๆ จากเกษตรกรหรือสหกรณ์ทั่วประเทศโดยตรง เพื่อให้ประชาชนในกรุงเทพฯได้มีตลาดประจำเป็นแหล่งซื้อผลผลิตการเกษตรจากเกษตรกร และเกษตรกรเองก็จะได้มีสถานที่ประจำเพื่อจำหน่ายผลผลิตของตนในพื้นที่ กทม.โดยตรง นอกจากนี้ จะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าโอทอป หรือสินค้า sme จากทั่วประเทศ เพื่อให้สินค้าเหล่านั้นได้มีตลาดประจำจำหน่ายให้แก่ประชาชนใน กทม.และนักท่องเที่ยวต่างชาติใน กทม.ได้หาซื้อ อีกทั้งจะเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจากโรงงานและผู้ประกอบการ รวมทั้งจำหน่ายสินค้าธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ ร้านอาหารหนูณิชย์ เพื่อช่วยเหลือด้านการลดค่าครองชีพแก่ประชาชนใน กทม. ขณะที่ชาวชุมชนการเคหะเองก็จะได้มีตลาดถาวรที่มีมาตรฐานเพื่อจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป หรือผลผลิตของชุมชนของตน อันเป็นการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวชุมชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลโดย ฯพณฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ มีนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องใช้กลไกตลาดสร้างกำลังการบริโภค และกำลังการผลิตให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำมาสร้างกลไกตลาดขึ้นทั่วประเทศ ทั้งการเปิดตลาดแห่งใหม่ และการเข้าไปพัฒนาตลาดเก่าที่มีอยู่แล้ว ให้มีมาตรฐาน เพื่อสร้างกำลังซื้อกำลังขายให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การที่การเคหะแห่งชาติมีแนวคิดที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก จึงถือเป็นการเข้ามาบูรณาการร่วมกันที่มีนัยะสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพราะการเคหะแห่งชาติมีชุมชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ

“ตามแนวคิดของผมเห็นว่า ตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะจะไม่ใช่ตลาดที่จำหน่ายสินค้าหรือผลผลิตราคาถูกอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นตลาดที่จำหน่ายสินค้าและผลผลิตคุณภาพสูงด้วย เพื่อดึงกำลังซื้อจาก 2 ส่วนเข้ามาพร้อมกัน คือกำลังซื้อสินค้าราคาถูก และกำลังซื้อสินค้าคุณภาพสูง ด้านหนึ่งเพื่อช่วยเหลือด้านลดค่าครองชีพประชาชน อีกด้านหนึ่งเพื่อให้ประชาชนได้บริโภคสินค้าคุณภาพสูง ทั้งนี้ผมมีแนวคิดว่าจะเปิดตลาดสดคุณภาพสูงขึ้นภายในตลาดประชารัฐชุมชนการเคหะด้วย โดยจะเป็นตลาดที่จำหน่ายผลผลิตอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ พืชผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ และเป็นตลาดที่มีการควบคุมคุณภาพผลผลิตอาหารตลอดเวลา ด้วยการตรวจสอบคุณภาพสินค้าประเภทอาหารสดทุกวัน” นายสนธิรัตน์ กล่าว

ด้าน ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนฐานราก โดยเป็นหน่วยงานหลักของรัฐในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย อย่างไรก็ดี นอกจากภารกิจหลักดังกล่าวแล้ว การเคหะแห่งชาติยังมีภารกิจรองในด้านการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนการเคหะในมิติต่างๆอีกด้วย เช่น มิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ

ดร.ธัชพล กาญจนกูล
นายพูลเดช กรรณิการ์

“ผมเห็นว่า มิติทางเศรษฐกิจเป็นอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับปากท้อง และเป็นการยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชน เพื่อให้ชุมชนการเคหะทั่วประเทศก้าวไปเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากจะช่วยเหลือในเรื่องปากท้องของชาวชุมชน และยกฐานะทางเศรษฐกิจของชาวชุมชน ควรใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือ จึงนำมาสู่การหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในวันนี้” ดร.ธัชพล กล่าว

ด้าน นายพูลเดช กรรณิการ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าการเคหะ และคณะทำงานขับเคลื่อนด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ชุมชนการเคหะในพื้นที่กรุงเทพมหานครทุกแห่ง และในต่างจังหวัดหลายพื้นที่ มีศักยภาพสูงที่จะสร้างแรงกระตุ้นการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจฐานรากหรือเศรษฐกิจชุมชน เพราะชุมชนแต่ละแห่งมีขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น อีกทั้งเป็นประชากรฐานรากตัวจริงที่มีการอยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่อย่างถาวร แตกต่างจากประชากรฐานรากในชุมชนแออัด หรือที่อื่นๆ ที่มักจะเป็นการอยู่อาศัยแบบไม่ถาวร มีการเคลื่อนย้ายไปมาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งชาวชุมชนการเคหะยังมีการประกอบอาชีพประจำ ทั้งการเป็นเจ้าหน้าที่-ลูกจ้างของรัฐ พนักงานเอกชน และประกอบอาชีพอิสระ จึงเป็นชุมชนที่มีการไหลเวียนของเงินเข้า-ออกภายในชุมชนจำนวนมาก มีกำลังซื้อ มีกำลังการบริโภคอยู่อย่างสูง และมีมากกว่าชุมชนตำบลหมู่บ้านในต่างจังหวัด ดังนั้น ชุมชนการเคหะทั่วประเทศจึงถือเป็นชุมชนเศรษฐกิจฐานรากที่มีความสำคัญ และจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก การเปิดตลาดประชารัฐในชุมชนการเคหะแห่งชาติจึงเป็นการตอบโจทย์ทางด้านการกระตุ้นและการสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากที่ตรงเป้ามากที่สุดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่เศรษฐกิจฐานรากในเมืองกรุง

People unity news online : post 16 มิถุนายน 2560 เวลา 23.20 น.

ทยอยติดตั้งแล้ว ไปใช้บริการได้เลย! เครื่องชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ของ ธอส.

People unity news online : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เดินหน้าตามแผน Transformation to Digital Services สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และช่องทางการให้บริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคไทยแลนด์ 4.0 เปิดตัวเครื่องชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM มาเริ่มให้บริการลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกนำร่องจำนวน 10 เครื่อง Application : GHB Smart Queue บริการจองคิว ใช้บริการที่สาขาของธนาคารได้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มให้ลูกค้าดาวน์โหลดมาใช้บริการจริงภายในไตรมาสที่ 3 และ Digital Corner อีกหนึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ ธอส. นำมาให้บริการประชาชน ณ สาขาสมาร์ท ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถเลือกรับชมข้อมูลต่างๆของธนาคาร ผ่านจอ Video Wall ขนาดใหญ่ ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายและมือไปยังหัวข้อที่ต้องการทราบข้อมูล โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสที่หน้าจอโดยตรง

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ในปี 2560 ธนาคารได้จัดทำแผน Transformation to Digital Services โดยการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และช่องทางการให้บริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิตอลที่เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในทุกที่ทุกเวลา ล่าสุด เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ามาทำธุรกรรมการชำระหนี้เงินกู้ที่สาขา ธนาคารจึงได้นำเครื่องชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM มาเริ่มให้บริการลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกนำร่องจำนวน 10 เครื่อง ณ ที่ทำการสาขาของธนาคาร 5 แห่งที่มีผู้ใช้บริการชำระหนี้เงินกู้เป็นจำนวนมากในช่วงปลายเดือน แบ่งเป็น สำนักงานใหญ่ พระราม 9 จำนวน 4 เครื่อง สาขาแฟชั่น ไอส์แลนด์ 2 เครื่อง สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 2 เครื่อง สาขาสุขสวัสดิ์ 1 เครื่อง และสาขาบิ๊กซี นวนคร 1 เครื่อง และหลังจากนี้จะทยอยนำตู้ LRM ไปติดตั้งเพิ่มเติมในบริเวณที่ลูกค้าเดินทางเข้าถึงง่ายและสะดวก อาทิ สถานีรถไฟฟ้า และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งลูกค้าที่ชำระหนี้ผ่านเครื่อง LRM จะสามารถเลือกชำระหนี้ได้ทุกบัญชีเงินกู้ที่ต้องการ เพียงกดเลขที่บัญชีเงินกู้บัญชีใดบัญชีหนึ่งเพียงครั้งเดียว หรือสแกนบาร์โค้ดจากบัตรชำระหนี้เงินกู้ และใบแจ้งหนี้ ต่างจากการชำระเงินกู้ผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ หรือ CDM ทั่วไปที่ชำระได้ครั้งละบัญชีเท่านั้น จึงสามารถลดระยะเวลาการใช้บริการในแต่ละครั้งลงได้ จากนั้นลูกค้ายังสามารถรับใบเสร็จรับเงินได้ทันที ซึ่งในใบเสร็จจะระบุรายละเอียดครบถ้วนเหมือนการชำระเงินกู้ที่เคาน์เตอร์ปกติ ทั้งจำนวนเงินที่ชำระ อัตราดอกเบี้ย จำนวนเงินต้นคงเหลือ และค่าธรรมเนียม เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในไตรมาส 3 ธอส.ยังเตรียมเปิดตัว Application : GHB Smart Queue บริการจองคิวใช้บริการที่สาขาของธนาคารที่ลูกค้าต้องการได้ล่วงหน้า ด้วยขั้นตอนดังนี้ 1.ดาวน์โหลด Application : GHB Smart Queue ที่ App Store (ระบบปฏิบัติการ iOS) และ Play Store (ระบบปฏิบัติการ Android) 2.เปิด Application เพื่อเข้าใช้งาน โดยสามารถ Login ด้วยการเชื่อมต่อกับบัญชี Facebook, Google หรือเข้าใช้งานโดยตรง 3.เปิด location ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของตนเอง เพื่อให้ระบบทราบตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบันของผู้ใช้บริการและระยะห่างจากสาขาแต่ละแห่ง 4.เลือกสาขาที่ต้องการเข้าใช้บริการ 5.เลือกประเภทบริการที่ต้องการทำธุรกรรม ประกอบด้วย ฝาก/ถอน เปิดบัญชี ชำระหนี้เงินกู้ สอบถามสินเชื่อ และยื่นกู้ 6.เลือกวันและเวลาที่ต้องการเข้าใช้บริการ 7.ระบบจะแจ้งรายละเอียดการนัดตามที่ลูกค้าระบุ พร้อมแจ้งเตือนก่อนถึงเวลานัดหมายประมาณ 5 นาที และจะให้กดยืนยันคิวการเข้าใช้บริการ ทั้งนี้ เฉพาะลูกค้าที่อยู่ในระยะ 500 เมตร จากสาขาที่นัดหมายเข้าใช้บริการเท่านั้น 8.เมื่อกดยืนยันจะได้รับหมายเลขคิว เพื่อเข้าใช้บริการตามเวลานัดหมายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ โดยมั่นใจว่า Application : GHB Smart Queue จะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการได้

ขณะเดียวกัน ธอส.ยังได้เปิดตัว Digital Corner อีกหนึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ ธอส. นำมาให้บริการประชาชน ณ สาขาสมาร์ท อาคาร 1 ชั้น 1 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่ ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถเลือกรับชมข้อมูลต่างๆของธนาคาร อาทิ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เงินฝาก ทรัพย์ NPA สิทธิประโยชน์พิเศษจากพันธมิตรที่มอบให้เฉพาะลูกค้า ธอส. และข้อมูลที่เกี่ยวกับสาขาของธนาคารทั่วประเทศ โดยการรับชมผ่านจอ Video Wall ขนาดใหญ่ ที่กว้างถึง 3.53 เมตร และสูง 1.82 เมตร ซึ่งผู้ใช้บริการจะต้องเคลื่อนไหวร่างกายและมือไปยังหัวข้อที่ต้องการทราบข้อมูลโดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสที่หน้าจอโดยตรง และยังสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ง่ายๆ เพียงสแกน QR Code ด้วยโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่หน้าจอ Video Wall ได้ทันทีอีกด้วย

People unity news online : post 5 มิถุนายน 2560 เวลา 10.56 น.

 

รอง ปธ.ธนาคารโลกเข้าพบ “สมคิด” อวยไทยมาถูกทาง

People unity news online :  วันนี้ (30 มีนาคม 2560) เวลา 15.00 น. นาง Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนไทย ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานธนาคารโลกได้หารือถึงเศรษฐกิจของประเทศไทยและโครงการที่รัฐบาลจะพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว โดยรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงภูมิหลังทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ซึ่งประเทศไทยต้องใช้เวลา 6-7 ปีในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้ทำให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ประเทศต้องการไม่ใช่แค่ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูป ซึ่งการปฏิรูปจะต้องมุ่งสร้างดุลยภาพการเติบโต โดยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก

รองนายกรัฐมนตรีระบุเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับ CLMVT ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังเจริญเติบโตและเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน ประเทศไทยจึงยินดีร่วมมือกับธนาคารโลกจัดทำแผนแม่บทสำหรับการพัฒนา CLMVT และนำเสนอแผนดังกล่าวให้กลุ่มประเทศ CLMVT เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจร่วมกัน ซึ่งทางรองประธานธนาคารโลกได้แสดงความเข้าใจและยินดีร่วมมือกับไทยในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ รองประธานธนาคารโลกยังกล่าวชื่นชมนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 รวมถึงการเตรียมความพร้อมทางด้านการศึกษาและแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

People unity news online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 20.58 น.

“ฉัตรชัย” ประชุมทูตเกษตรทั่วโลก วางแผนรุก-รับมือ ลุยสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก

People unity news online : วันนี้ (22 มีนาคม 2560) กระทรวงเกษตรฯเรียกประชุมทูตเกษตรจากทั่วโลก รับนโยบายลุยแผนเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรไทย ให้รับมือวิกฤตเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบการค้าโลก

พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0” พร้อมมอบนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศ และได้รับฟังสถานการณ์ด้านการเกษตรในต่างประเทศที่สำคัญและแนวทางดำเนินงานจากผู้แทนถาวรไทย (ฝ่ายการเกษตร) ประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) และกงสุลฝ่ายการเกษตร จากสำนักงานในต่างประเทศที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 แห่ง ใน 8 ประเทศ ประกอบด้วย สำนักที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร 7 แห่ง ได้แก่  กรุงโรม  สหภาพยุโรป  กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.  กรุงโตเกียว กรุงปักกิ่ง กรุงจาการ์ตา และกรุงแคนเบอร์รา กงสุลฝ่ายการเกษตร ประจำสำนักกงสุลใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ นครกว่างโจว  นครเซี่ยงไฮ้  และนครลอสแองเจลิส และฝ่ายการเกษตรประจำสำนักเอกอัครราชทูต 1 แห่ง ณ กรุงมอสโก ว่า กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ปัญหาข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีความรุนแรงและความเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯในระยะ  5 ปี

โดยสิ่งที่เน้นย้ำกับทูตเกษตรครั้งนี้มี  3 ส่วนหลัก คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะการเน้นย้ำถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย 2. การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ประเด็นปัญหา อุปสรรค แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรในแต่ละประเทศกลับมายังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อกำหนดแผนในการเจรจาหรือปรับกลยุทธ์ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น 3. การประชาสัมพันธ์ แนะนำสินค้าเกษตรตัวใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จัก เช่น มะยงชิด ที่ประเทศอินโดนีเซียให้ความสนใจ เป็นต้น

“เป้าหมายการเรียกประชุมทูตเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะได้ร่วมกำหนดแนวทางกรอบการดำเนินงาน และพร้อมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน  เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเศรษฐกิจฐานรากของไทย  เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯในต่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย รวมถึงความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศเป้าหมายต่างๆ ซึ่งทำให้ไทยสามารถเตรียมการรองรับ และบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเจรจา และติดตามการแก้ไขปัญหา และอำนวยความสะดวกทางการสินค้าเกษตรของไทยในประเทศที่ประจำการที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รวมทั้งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น และแสวงหาตลาดใหม่ โดยในรอบปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้ในหลายๆประเทศ เช่น การเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา IUU กับสหภาพยุโรป เป็นต้น” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว

People unity news online : post 22 มีนาคม 2560 เวลา 23.01 น.

Verified by ExactMetrics