วันที่ 2 มกราคม 2025

ร้าน Inspire โดยกองทุนกำลังใจฯพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เปิดบริการแล้วที่อาคาร ก.ยุติธรรม

People Unity News : ร้าน Inspire โดยกองทุนกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เปิดให้บริการแล้ว ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา พลอากาศโท สมคิด สุขบาง รองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ และคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ รวมถึง เคานต์เจอรัล แวน เดอ สตราเทน พอนโธส ประธานมูลนิธิเจ้าพระยา อภัยราชาสยามานุกูลกิจ หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต รองประธานมูลนิธิเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ นางเตือนใจ สินธุวณิก และ ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร คณะกรรมการมูลนิธิฯ ได้เข้าเยี่ยมชมร้าน Inspire พร้อมอุดหนุนสินค้าโครงการกำลังใจฯ ซึ่งร้าน Inspire เปิดให้บริการแล้ว ณ อาคารกระทรวงยุติธรรม

โดยภายในร้านจัดจำหน่ายสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขังจากเรือนจำและทัณฑสถานในโครงการกำลังใจทั่วประเทศ อาทิเช่น สายคล้องแมส พวงมาลัยกระดาษทิชชู จากทัณฑสถานหญิงธนบุรี, กระเป๋าควิลท์ จากทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก, ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หน้ากากอนามัย จากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่, กระเป๋าสม็อค จากทัณฑสถานหญิงกลาง, ผ้าถุงเกาะยอ จากทัณฑสถานหญิงสงขลา, เครื่องประดับโครเชต์ จากเรือนจำกลางขอนแก่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีน้ำสมุนไพร และผักออร์แกนิก ซึ่งเป็นสินค้าจากคนต้นแบบโครงการกำลังใจฯ สำหรับผลิตภัณฑ์เหล่านี้นับเป็นการสร้างพลัง สร้างโอกาส และสร้างอาชีพให้แก่ผู้พ้นโทษ ไม่ให้หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยร้าน Inspire  เปิดให้บริการในวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 15.00 น. ทั้งนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มาจำหน่ายในร้าน Inspire ด้วย

Advertising

ประยุทธ์เดินหน้า “โครงการแก้มลิง” ตามพระราโชบาย ร.10 สืบสานโครงการพระราชดำริ ร.9

People Unity News : โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯเดินหน้า “โครงการแก้มลิง” ตามพระราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 สืบสาน รักษาและต่อยอด โครงการพระราชดำริในหลวงรัชกาล 9 ช่วยบรรเทาวิกฤตน้ำท่วม

9 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญในการดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ รัฐบาลได้เร่งดำเนินการโครงการแก้มลิงทั่วประเทศในพื้นที่ 65 จังหวัด รวม 914 รายการ ปริมาตรน้ำกักเก็บ 606.93  ล้าน ลบ.ม. วงเงิน 23,060.7182 ล้านบาท ด้วยการน้อมนำพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการทรงงานเพื่อจะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดย “โครงการแก้มลิง” หนึ่งในโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริไว้ในการแก้ปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำท่วมขังในประเทศไทย รัฐบาลนำมาเป็นนโยบายการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ได้แก่ พื้นที่ 12 ทุ่ง ในภาคกลางตอนล่าง และ ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อใช้เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม/ชะลอน้ำหลาก ได้ถึง 1.41 ล้านไร่ และสามารถรองรับน้ำได้ถึง 1,704 ล้าน ลบ.ม.

นายธนกร กล่าวว่า ล่าสุดการลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยของนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ยังได้ติดตามการเตรียมพื้นที่รับน้ำแก้มลิงบริเวณแม่น้ำยมฝั่งซ้าย เพื่อบรรเทาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยด้วย โครงการแก้มลิงไม่เพียงแต่แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง แต่ยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย อีกทั้งสามารถปล่อยน้ำในการผลักดันไม่ให้น้ำเค็มจากทะเลไหลเข้าสู่แม่น้ำลำคลองและพื้นที่การเกษตร และน้ำจืดที่เก็บกักไว้ในแก้มลิง ประชาชนสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ทำให้คนไทยมีน้ำกินน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

Advertising

“ประยุทธ์” ชูโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของพระเทพต่อที่ประชุมอาหารโลกสหประชาชาติ

People Unity News : “ประยุทธ์” กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (Food Systems Summit 2021) ย้ำเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร พลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืน เป็นธรรม

24 กันยายน 2564 เวลา 03.15 น. (ซึ่งตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 16.15 น. ณ นครนิวยอร์ก) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (Food Systems Summit 2021) ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

ไทยในฐานะประเทศที่มีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ตระหนักถึงความสำคัญของระบบอาหารต่อความอยู่รอดของทุกชีวิต โดยสถานการณ์โควิด-19 ช่วงที่ผ่านมาได้เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความเปราะบางของระบบอาหาร ไทยจึงขอผลักดันให้ประชาคมโลกร่วมมือกันพลิกโฉมระบบอาหารให้ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

หนึ่งในโครงการที่สำเร็จด้านการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและภาวะทุพโภชนาการในพื้นที่ทุรกันดาร คือ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ การพลิกโฉมระบบอาหารทั้ง 5 ด้าน ตามข้อเสนอของสหประชาชาติ สอดคล้องกับแนวทางของไทย นโยบายเกษตรและอาหาร “3S” ประกอบด้วย 1. ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) 2. ความมั่นคง (Security) และ 3. ความยั่งยืนของทรัพยากรและนิเวศการเกษตร (Sustainability)

ประเทศไทยอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อการพัฒนาอย่างสมดุล ยั่งยืนและครอบคลุม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ผ่านการร่วมมือกับสหประชาชาติจัดตั้ง “วันดินโลก” และร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มอบรางวัลให้แก่ ประเทศ องค์กร หรือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาหรือจัดการทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภาคีเครือข่ายภายในและระหว่างประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบอาหารโลก นำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ FoodSystems4SDGs ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อนึ่ง การเข้าร่วมการประชุมฯ ร่วมกับประมุขของรัฐ ผู้นำรัฐบาล และหัวหน้าคณะตัวแทนจากประเทศต่างๆ เป็นโอกาสให้ไทยที่ได้นำเสนอแนวคิดในการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้มีความยั่งยืน เป็นธรรม และดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น ตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค และแสดงความมุ่งมั่นในการเป็น “ครัวของโลก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ร่วมกับนานาประเทศขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ค.ศ.2030

Advertising

ในหลวงพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเพิ่มอีก 1 คัน เพื่อตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกในชุมชน

People Unity News : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเพิ่มเติมแก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด 19 เชิงรุก ในชุมชน และพื้นที่ระบาด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้

วันนี้ (20 สิงหาคม 2564) ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มอบหมายให้นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้แทนรับพระราชทาน รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานแก่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่มอีก 1 คัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อกระทรวงสาธารณสุขและประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงห่วงใยและติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด ซึ่งรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยที่ได้พระราชทานในวันนี้ มูลนิธิไทยพึ่งไทย (สมพล – เรณู เกยุราพันธุ์) และสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย – จีน น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564

นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า นับตั้งแต่เริ่มเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทาน รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยให้แก่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว จำนวน 36 คัน รถต่อพ่วงชีวนิรภัย จำนวน 6 คัน และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน สำหรับใช้เป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ในการให้บริการเก็บตัวอย่างโรคโควิด 19 แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวัง และค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก โดยผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล ทั้งนี้ ปัจจุบันรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย รถต่อพ่วงชีวนิรภัย และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ พระราชทาน ยังคงให้บริการประชาชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ เช่น โรงเรียน วัด และชุมชนแออัด

Advertising

“บิ๊กตู่” ประชุมมูลนิธิโครงการหลวงสนองพระราโชบาย ร.10 สืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการหลวง

People Unity News : รัฐบาลติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง สนองพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง

วันนี้ (7 ก.ค.64) เวลา 09.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง ครั้งที่ 1/2564 (ผ่านระบบ VDO Conference) โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรีและที่ปรึกษาพิเศษ สวพส. ร่วมประชุม

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานผลการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง และหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงที่ผ่านมา โดยรัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงมาโดยตลอดและต่อเนื่อง รวมทั้งจะติดตามการทำงานเพื่อเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานโครงการหลวง และพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการหลวง ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานให้สอดคล้องตามพระราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด และพัฒนาให้ดีขึ้น ตลอดจนมีการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า ประหยัด เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการนำแผนกลยุทธ์มูลนิธิโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อเป็นแนวทางในการประสานประโยชน์จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนงานโครงการหลวงต่อไป รวมทั้งที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการร่างแผนปฏิบัติการฯ 3 แผน ดังนี้

1.เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาพื้นที่โครงการหลวงระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และกรอบงบประมาณ โดยมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ไปพิจารณาให้มีความสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการฯ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งมอบให้หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการและจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และกรอบงบประมาณ โดยมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยืนยันความสอดคล้องของแผนปฏิบัติการฯ กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งสำนักงบประมาณ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการและนำแผนปฏิบัติการฯไปใช้ในการจัดทำคำของบประมาณประจำปี

3.เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2557) และกรอบงบประมาณ โดยมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.)  ยืนยันความสอดคล้องของแผนปฏิบัติการฯ กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งสำนักงบประมาณ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป รวมทั้งกำหนดให้แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนฯ เป็นแผนงานบูรณาการระดับประเทศต่อไป

นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงการเสนองบประมาณในการดำเนินแผนงานโครงการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน รวมทั้งใช้จ่ายงบประมาณให้และเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีความชัดเจน โปร่งใส มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการลดภาวะโลกร้อน นำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเพิ่มมูลค่าและใช้ประโยชน์ในครัวเรือนแทนการเผาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่สูง รวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินการต่างๆของรัฐบาล ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green Economy (BCG Model) เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ พร้อมขอให้ประชาชนนำไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดได้อย่างดีภายใต้สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

Advertising

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ 6,400 ราย

People Unity News : “ประยุทธ์” ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการวันแรกสำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานฯ แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และชุมชนโดยรอบ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (25 มิ.ย. 2564) เมื่อเวลา 09.30 น. ณ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการวันแรกสำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงพยาบาลเป็นกลุ่มแรก จำนวน 6,400 ราย (วัคซีนจำนวน 6,400 โดส) เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 และเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม และได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมชมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และให้กำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ในวันนี้มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามจัดหาวัคซีนให้ประชาชนทุกคนตามความเหมาะสม พร้อมย้ำบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลผู้ปฏิบัติงาน ระหว่างดูแลประชาชนขอให้ระมัดระวังดูแลสุขภาพตนเองไปพร้อมด้วย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณุข สวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือ เว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด

นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า วันนี้เป็นที่น่ายินดีที่ได้มาตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดให้บริการสำหรับการฉีดวัคซีนพระราชทานในศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ ครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 โดยวัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรก จำนวน 1 ล้านโดส ที่ได้จัดส่งถึงประเทศไทยแล้วนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ รวมทั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนแห่งละ  6,400 โดส รวมทั้งหมด 25,600 โดส ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐบาลที่ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยวันนี้การฉีดวัคซีนจะเน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง และจะเร่งดำเนินการกระจายวัคซีนไปในทุกจังหวัด โดยบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมถึงการจัดหาวัคซีนก็ยังเป็นไปตามแผนที่กำหนด และจะมีการเร่งเจรจาจัดหาและจัดซื้อเพิ่มเติมอีก เพื่อให้เพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่มและสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชนในประเทศ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นปัจจุบันนั้น นายกรัฐมนตรีได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมที่จะดูแลประชาชน รวมถึงมีการปรับเตียงรองรับผู้ป่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งจัดหาสถานที่ ห้องความดันลบ และจัดหาเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและทันท่วงที ซึ่งคาดว่าทุกอย่างจะเรียบร้อยในเร็วๆนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เร่งรัดดำเนินการสำหรับแรงงานที่ลักลอบเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย โดยให้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งได้กำชับและสั่งการให้กระทรวงแรงงานไปตรวจโรงงานที่รับแรงงานที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด เพราะตราบใดที่มี Demand ก็ยังมี Supply และมีคนแสวงหาประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมไม่ได้ หากพบว่าใครเกี่ยวข้องก็จะต้องถูกลงโทษ

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ควบคู่กับการดำเนินการในหลายเรื่อง ทั้งการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหายาเสพติด และอื่นๆ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมด้วย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโควิด-19 รัฐบาล ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญยึดหลักร่วมกัน คือ 1. การดูแลเรื่องการติดเชื้อ การแพร่ระบาด 2. การตรวจสอบคัดกรองเชิงรุก 3. การปิดกั้นพื้นที่ที่แพร่ระบาดด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน 4. การจัดหาวัคซีน ทั้งที่ได้มาแล้วสู่การฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม 5. การรักษาสมดุลกับการควบคุม เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหลายประเทศให้ความสนใจ ต้องการมาเที่ยวประเทศไทย แต่ต้องมีมาตรการที่รัดกุม เช่น ที่จังหวัดภูเก็ต ที่กำลังจะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้ก็ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปดูแลแล้ว ซึ่งหากดำเนินการในพื้นที่ภูเก็ตได้ ก็จะมีการพิจารณาขยาย Phuket Sandbox ไปดำเนินการในพื้นที่อื่นด้วย

Advertising

​นายกฯซาบซึ้งพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเคลื่อนที่

People Unity News : ​นายกฯ ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเคลื่อนที่ต้นแบบ และชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันชายแดน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลและประชาชนไทย ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้จากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยประชาชนไทยและได้พระราชทาน รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน และ รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน โดยได้พระราชทานมาแล้วรวมทั้งสิ้น 20 คัน เพื่อตรวจเชื้อโควิด-19 และวิเคราะห์ผลได้อย่างรวดเร็วขึ้น จะส่งผลให้ทำการตรวจเชิงรุกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียังชื่นชมการทำงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงที่มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ที่สนธิกำลังกวดขันและบูรณาการการทำงานของกองกำลังป้องกันชายแดนอย่างเข้มข้น ทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง เพิ่มความถี่การตั้งจุดตรวจ และลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดนทุกด้าน เพิ่มการวางเครื่องกีดขวางตามช่องทาง/ท่าข้ามที่ล่อแหลมและสำคัญในภูมิประเทศ และเครื่องมือพิเศษทุกระบบในการเฝ้าตรวจพื้นที่ เช่น CCTV และการใช้โดรน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการข้ามแดนผิดกฎหมาย ทั้งการลักลอบข้ามแดนของแรงงานผิดกฎหมาย การมั่วสุมผิดกฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค การลักลอบขนย้ายสินค้าผิดกฎหมาย และยาเสพติด

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตนตามกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเพื่อรับผิดชอบต่อตนเอง และรับผิดชอบต่อผู้อื่นในสังคม

Advertising

ในหลวง พระราชินี พระราชทานชุด PPE. 7 แสนชุดแก่บุคลากรการแพทย์ และสาธารณสุข

People Unity News : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานชุด PPE. 7 แสนชุดแก่บุคลากรการแพทย์ และสาธารณสุข ใช้ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 ขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชน

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร รับพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ณ อาคารกองกิจการในพระองค์ พระที่นั่งอัมพรสถาน และให้สัมภาษณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 7 แสนชุด ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งชุด PPE. มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ทำให้มีความปลอดภัยขณะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งขณะให้การดูแลรักษาผู้ป่วย/ ผู้ติดเชื้อ การเก็บตัวอย่างเพื่อเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ซึ่งทำให้การป้องกันควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล 7 แสนชุดที่ได้รับพระราชทาน ประกอบด้วย เสื้อคลุมแขนยาว (Isolation Gown) 4 แสนชุด ชุดสวมคลุมร่างกายชิ้นเดียว มีฮู้ดคลุมคอและศีรษะ (Coverall Gown) 1 แสนชุด และเสื้อคลุมแขนยาวชนิดใช้ซ้ำได้ (Reusable Isolation Gown) 2 แสนชุด โดยกระทรวงสาธารณสุข จะกระจายไปยังโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต รวม 4.9 แสนชุด กรุงเทพมหานคร 7 หมื่นชุด และเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) 1.4 แสนชุด

Advertising

นายกรัฐมนตรีเผยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

People Unity News : นายกรัฐมนตรีเผยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยืนยันรัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง เร่งผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วและได้มากที่สุด

เมื่อวานนี้ (7 พ.ย. 63) เวลา 10.00 น. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ประสบอุทกภัย ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมมอบสิ่งของผู้ประสบอุทกภัย ณ ศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่  จังหวัดนครศรีธรรมราช

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้นำความพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ทรงมีความห่วงใยมาถึงทุกคน รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบด้วย วันนี้ ได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มาด้วย ยืนยันรัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง ซึ่งจากสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 900 มิลลิเมตร เกิดปริมาณน้ำไหลหลากเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช  แม้จะไม่ได้เดินทางมาด้วยตนเองตั้งแต่ต้น แต่ก็ติดตามข้อมูลต่างๆด้วยความห่วงใย และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบกับอุทกภัยในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเร่งผลักดันน้ำออกให้มากที่สุด

ทั้งนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงห่วงใยประชาชน โดยพระราชทานถุงยังชีพพระราชทานผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 10,000 ชุด และจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน 1 แห่ง และพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย

นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวว่า ทุกวันนี้ โลกมีการเปลี่ยนแปลง คนต้องอยู่กับน้ำให้ได้ แต่ต้องไม่ขาดแคลนทั้งสิ่งของเครื่องใช้  ซึ่งรัฐบาลจึงได้เดินหน้าโครงการต่างๆ เช่น โครงการเที่ยวด้วยกัน  โครงการคนละครึ่ง ที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดี และกำลังจะมีโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ในเดือนมกราคม  นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า คาดว่าวัคซีนสำหรับโควิด-19 น่าจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณกลางปีหน้า ดังนั้น ทุกคนต้องไม่ประมาท ให้ระมัดระวังตนเอง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันยังไม่ใช่การระบาดขนาดใหญ่ หรือ ซุเปอร์สเปรดเดอร์  เพราะสามารถติดตามย้อนกลับไป ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในไทยอยู่อันดับท้ายๆของโลก ที่สำคัญ คือ คนไทยทุกคนต้องรักกัน รวมทั้งขอให้ยึดมั่นในชาติ ศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์  เพื่อรวมกันเดินประเทศไทย สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

Advertising

รัฐบาลเดินหน้า “โครงการหลวง” สนองพระราชปณิธาน ร.10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

People Unity News : รัฐบาลต่อยอด “โครงการหลวง” สนองพระราชปณิธานในหลวงรัชกาลที่ 10 “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

วันนี้ (15 ก.ค. 63) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนงานโครงการหลวง (กปส.) ครั้งที่ 1/2563 โดยมี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง  พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และกรรมการ ร่วมประชุม

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2562-2563 ของมูลนิธิโครงการหลวง และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. โดยโครงการหลวงได้รับการรับรองทะเบียนพันธุ์พืชใหม่กับกรมวิชาการเกษตรแล้ว 15 พันธุ์ และกำลังขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ไม้ดอกมาลีรัตน์ วงศ์ขิง รวมทั้ง ฟักทองญี่ปุ่น คะน้าฮ่องกง และมะเขือเทศผลเล็ก ผลงานวิจัยที่นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากสารสกัดถั่งเช่า โยเกิร์ตนมกระบือ และผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด คือ กาแฟอราบิกาเฉพาะถิ่น กาแฟแคบซูลซิงเกิลออริจิน น้ำมันลินินสกัดเย็น ผลิตภัณฑ์คีนัวกรอบ คีนัวบาร์ และขนมปังคีนัวผสมสตรอว์เบอร์รี  โดยเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง 13,645 ครัวเรือน ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกพืชเขตหนาวและกึ่งหนาว 381 ชนิด ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัย จำหน่ายภายใต้ตรา “โครงการหลวง” ในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มูลค่ารวม 1,328 ล้านบาท

ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ณ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์รวมการปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่สูง เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศ พร้อมรับทราบผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่สูงตามแนวทางของโครงการหลวง โดยขณะนี้กรมป่าไม้ได้รับการอนุมัติขอบเขตการใช้พื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่รวม 2,508,958 ไร่ 1 งาน 27 ตารางวา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆเข้าปฏิบัติงานในขอบเขตพื้นที่อย่างคล่องตัว และเตรียมดำเนินการขอใช้ประโยชน์พื้นที่ตั้งศูนย์/สถานีฯ และพื้นที่เกษตร รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสำหรับการแก้ปัญหาในพื้นที่นำร่อง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  ได้ฟื้นฟูพื้นที่กลับคืนสู่ธรรมชาติ ด้วยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ เป็นแบบอย่างของการดำเนินการต่อไปบนพื้นที่สูงอื่นในจังหวัดเชียงใหม่ และตาก รวมทั้งต่อยอดไปในพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้รับฟังผลการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการพัฒนาเกษตรที่สูงอย่างยั่งยืน ตามพระราชปณิธานสืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 17 ประเทศ 675 คน ความสำเร็จของโครงการหลวง ถือเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเลือกที่เป็นแนวปฏิบัติบนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยหลักการทำงาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เน้นการบูรณาการของทุกภาคส่วน และเตรียมต่อยอดสู่การจัดตั้งสถาบันเรียนรู้การพัฒนาที่สูงอย่างยั่งยืน เพื่อขยายแนวทางและองค์ความรู้ ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติกรอบงบประมาณของหน่วยงานบูรณาการและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์พัฒนาโครงการหลวง และแผนแม่บทโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ระยะ 6 ปี (พ.ศ. 2560-2565)  โดยให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยพื้นฐาน น้ำ พื้นที่ป่าต้นน้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

Advertising

Verified by ExactMetrics